จากบทสัมภาษณ์ก่อนหน้า ที่ได้เผยถึงตัวตน ประวัติความเป็นมา และความเป็น ‘อยุทธ์ มหาโสม’ รวมทั้ง AAD design Co.,Ltd. (Ayutt and Associate Design) กันไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้ เรามาดูผลงานของ AAD กันบ้างว่าจะสอดคล้องกับสไตล์การออกแบบที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า หรือไม่ อย่างไร

 

PK79 House

บ้าน PK79 เป็นอีกหนึ่งผลงานการออกแบบที่วัสดุอย่างอะลูมิเนียมเข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้เกิดจากการที่เจ้าของบ้านต้องการได้บ้านที่มีรูปทรงแบบกล่องแต่เย็นสบาย และเนื่องด้วยเจ้าของบ้านมักจะเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย ๆ ในการออกแบบจึงต้องการให้คำนึงถึงเรื่องการป้องกันการโจรกรรมอีกด้วย บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการตีโจทย์ที่ยากขึ้นกว่าเดิม นั่นคือการจะออกแบบอย่างไรให้ป้องกันการโจรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากความคุ้นชินในอดีต เมื่อกล่าวถึงเรื่องป้องกันการโจรกรรม ‘เหล็กดัด’ ถือเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถป้องกันการโจรกรรมหรือชะลอการเกิดเหตุได้ตั้งแต่ต้นเหตุ แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการกักขังผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านไปด้วย ดังนั้นในการออกแบบคุณอยุทธ์จึงเสนอแนวคิดในการสร้างภาพลักษณ์ของเหล็กดัดในมุมที่ต่างออกไปได้อย่างน่าสนใจ ผนวกกับการประยุกต์องค์ความรู้เรื่องพื้นที่ใช้สอยของบ้านเรือนไทยสมัยก่อนและเรื่องของทิศทางของแดด ลม ฝน (Orientation) รวมทั้งเมื่อผสานกับความเชี่ยวชาญในการนำวัสดุอะลูมิเนียมมาใช้ในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของเจ้าของบ้านด้วยแล้ว บ้านหลังนี้จึงมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและทางจิตใจเป็นอย่างยิ่ง

ตีโจทย์ด้วยแนวคิดแบบ Multi-function

ด้วยแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก จึงนำมาสู่แนวคิดเรื่องกล่องนิรภัย (Safe Box) ซึ่งเป็นการออกแบบบ้านให้มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมปิดทึบ และหุ้มตัวบ้านด้วยอะลูมิเนียม เปรียบเสมือนกับการสร้างเหล็กดัดคลุมด้านนอกเอาไว้เพื่อป้องกันการโจรกรรม และอีกหนึ่งแนวคิดที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้การออกแบบบ้านหลังนี้แตกต่างออกไป นั่นคือการสร้างสรรค์องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมขึ้นมาอย่างหนึ่งให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้หลายฟังก์ชั่น เพราะฉะนั้นเหล็กดัดอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงเครื่องมือป้องกันการโจรกรรมเท่านั้น แต่อาจทำหน้าที่ใช้งานในแบบอื่นได้เช่นกัน

AAD design

ดังนั้นในการออกแบบผนังภายนอกอาคาร นอกจากจะทำหน้าที่ป้องกันโจรกรรมแล้ว ยังถูกออกแบบเสมือนเป็นฉนวนกันความร้อนไปด้วย โดยผนังด้านหน้าบ้านซึ่งเป็นทิศใต้ จะได้รับความร้อนจากแสงแดดมากจึงถูกออกแบบให้ปิดทึบ ส่วนผนังด้านอื่นจะถูกออกแบบเป็นกระจกบานกว้างที่เปิดโล่งได้ โดยซ้อนทับด้านนอกด้วยระแนงอะลูมิเนียม ซึ่งจะทำหน้าที่บังแดดและป้องกันความร้อนที่เข้าสู่บ้านโดยตรง และยังมีที่ว่าง (Buffer Zone) ระหว่างผนังกระจกกับระแนงอะลูมิเนียม สำหรับการถ่ายเทระบายอากาศและช่วยนำพาความร้อนออกจากตัวบ้าน

จากการออกแบบชายคาให้ยื่นถึง 3.50 เมตร และแผงอะลูมิเนียมผืนใหญ่ จึงเป็นเสมือนเกราะป้องกันที่ช่วยกันแดดและฝนได้เป็นอย่างดี เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมายังตัวบ้านในด้านใดด้านหนึ่งก็สามารถปิดแผงอะลูมิเนียมในด้านใน แล้วเลือกเปิดโล่งอีกด้านแทนได้ หรือเมื่อฝนตกก็สามารถปิดแผงอะลูมิเนียมและเปิดกระจกบานเลื่อนออกเพื่อรับลมเย็นได้เช่นกัน เพราะฝนจะไม่สาดเข้ามาภายใน

และระแนงอะลูมิเนียมยังทำหน้าที่เสมือนเป็นแผงบังตาที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้านในยามที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย โดยบริเวณด้านหน้าตัวบ้านที่มีลักษณะเป็นกล่องสีขาว ระแนงอะลูมิเนียมจะถูกออกแบบให้มีลักษณะที่เรียบง่าย เป็นเส้นตรงแนวตั้งสีขาวที่มีขนาดเส้นไม่เท่ากัน ทำหน้าที่ประหนึ่งผนังด้านนอกของอาคารที่สามารถพับเก็บได้ นอกจากจะช่วยบังสายตาจากคนภายนอกแล้วยังเพิ่มความปลอดภัยเมื่อยามที่เจ้าของบ้านอยู่ภายในบ้านอีกด้วย ส่วนบริเวณด้านหลังบ้านซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องสีดำ ระแนงอะลูมิเนียมจะถูกออกแบบให้เจาะเป็นรูพรุนและมีขนาดที่ไม่เท่ากัน เพื่อช่วยในการบังสายตาและสร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่เจ้าของบ้าน ทั้งนี้ขนาดการเจาะรูจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้สอยของเจ้าของบ้าน

สถาปัตยกรรมสร้างคุณค่าทางจิตใจ

เนื่องด้วยความชอบส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ซึ่งยังคุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบไทย ๆ การได้พักผ่อนท่ามกลางความสงบและเป็นธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ใฝ่หา แต่ด้วยบริบทของชุมชนเมืองอย่างในปัจจุบัน การจะใช้ชีวิตแบบในวันวานคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการออกแบบบ้านหลังนี้จึงสร้างสถาปัตยกรรมที่เน้นคุณค่าทางจิตใจอีกทางหนึ่งด้วย

เริ่มตั้งแต่การออกแบบบริเวณชั้นล่างของบ้านให้มีลักษณะคล้ายกับบ้านเรือนไทยที่จะมีใต้ถุนสูงเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของคนในบ้าน โดยชั้นล่างจะเป็นส่วนของห้องนั่งเล่น ห้องครัว และพื้นที่รับประทานอาหาร ด้วยการออกแบบเป็นพื้นที่เปิดโล่งที่เชื่อมต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะห้องนั่งเล่นที่ออกแแบบให้ผนังทั้งสองด้านสามารถเปิดเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ภายนอกได้ เสมือนเป็นใต้ถุนโล่ง ยามที่มีคนอยู่บ้านก็สามารถเปิดรับลมได้อย่างเต็มที่ และสามารถปิดทุบเมื่อไม่มึคนอยู่บ้าน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์เรื่องการป้องกันการโจรกรรมไปในตัวAAD design

และด้วยความชอบที่ได้นอนเปิดหน้าต่างยามฝนตก การได้กลิ่นดินยามถูกฝนชะล้าง ทำให้เจ้าของบ้านหวนคิดถึงชีวิต
ในวัยเด็ก ดังนั้นการออกแบบพื้นที่ชั้นบน ซึ่งเป็นห้องนอนและพื้นที่ทำงานจึงมีลักษณะที่เปิดโล่ง ผนังเป็นกระจกบานกว้างที่สามารถเปิดรับลมและแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ และหุ้มผนังด้านนอกอีกชั้นด้วยแผงอะลูมิเนียมเจาะรูที่สามารถเลือกปิดเปิดได้ตามต้องการ โดยในเวลากลางวันยามที่ต้องการแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในก็สามารถเปิดกว้างได้ หรือสามารถเลือกปิดลงเพื่อความเป็นส่วนตัวในยามกลางคืน หรือในยามที่มีฝนตกลงมาก็สามารถเลือกปิดแผงอะลูมิเนียมแล้วเปิดผนังกระจกบานเลื่อนออก เพื่อรับลมเย็นและกลิ่นไอดินได้ตามอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ โดยไม่ต้องกลัวฝนสาด ทั้งยังมีความปลอดภัยอีกด้วย

โดยการเจาะรูบนของแผ่นอะลูมิเนียมนั้นขนาดของแต่ละรูจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการใช้สอยพื้นที่ภายในบ้าน อาทิ แผงอะลูมิเนียมที่บริเวณห้องนอนของเจ้าของบ้านจะถูกเจาะรูขนาดใหญ่ไว้ส่วนด้านบนและเจาะรูขนาดเล็กไว้ด้านล่างของแผง เพื่อความเป็นส่วนตัวในเวลาที่ล้มตัวลงนอน คนภายนอกก็จะไม่สามารถมองเข้ามาเห็นภายในบ้านได้ แต่ในบางพื้นที่ ก็เจาะให้มีขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อให้เกิดเป็นช่องที่สามารถมองเห็นวิวสวนได้พอดี ซึ่งเป็นการดึงศักยภาพของสภาพแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ ขนาดรูที่มีไม่เท่ากันเหล่านี้ยังให้ผลลัพธ์ในการสร้างมิติของแสงและเงาให้กับบ้านด้วย ในเวลากลางวันเมื่อแสงลอดผ่านรูขนาดที่ต่างกัน เข้ามาตกกระทบลงบนพื้นจะสร้างแสงเงาลงบนพื้นห้อง และในเวลากลางคืนแสงสว่างจะทำให้บ้านเรืองแสงคล้ายกับโคมไฟที่สวยงาม

นอกเหนือจากการเลือกนำวัสดุที่แตกต่างมาใช้งานแล้ว การออกแบบบ้านหลังนี้ยังคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยในรูปแบบใหม่ ๆ และการสร้างบรรยากาศที่เชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในได้อย่างลงตัว ทั้งการเปิดช่องว่างเพื่อนำแสงธรรมชาติและสวนสีเขียวเข้าสู่ตัวบ้าน หรือการสร้างพื้นที่ภายในบ้านที่แตกต่างจากรูปลักษณ์ภายนอกซึ่งเห็นเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียบนิ่ง จะสร้างความตื่นใจอย่างยิ่ง อาทิ การสร้างพื้นที่สวนสีเขียวตรงกลางบ้าน และเพิ่มเติมลูกเล่นด้วยการติดกระจก
ที่บานตู้เก็บของ เพื่อเพิ่มมิติของสวนให้สะท้อนภาพต้นไม้เป็นหลาย ๆ ต้น ราวกับทำครัวอยู่ท่ามกลางสวนขนาดใหญ่ หรือการออกแบบฝ้าในห้องทำงานบริเวณชั้นสองให้มีลักษณะเป็นทรงจั่วตามแบบความลาดเอียงของหลังคาบ้าน ซึ่งขัดแย้งกับรูปลักษณ์ภายนอกซึ่งเป็นกล่องสี่เหลี่ยมอย่างมาก แต่ก็ยังกลมกลืนกับตัวอาคารได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

บ้านหลังนี้ถูกออกแบบให้เกิดความกลมกลืนและผสานกันอย่างลงตัวและสมบูณณ์แบบ ผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในและงานภูมิทัศน์โดยรอบ นั่นเพราะการออกแบบได้คำนึงถึงวิถีชีวิตและตอบโจทย์การอยู่อาศัยของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริงนั่นเอง

ชื่อโครงการ: PK79 House
ที่ตั้งโครงการ: ถนนเพชรเกษม 79 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพฯ
เจ้าของโครงการ: คุณวาณี ชาติเศรษฐกานต์ และ คุณพิษณุ กุศลวงศ์
พื้นที่ใช้สอย: 450 ตารางเมตร
ปีที่เริ่มออกแบบ: 2556
ปีที่ก่อสร้างเสร็จ: 2558
ทีมงานผู้ออกแบบ: บริษัท เอ เอ ดี ดีไซน์ จำกัด
ผู้รับเหมา: บริษัท เอส เอ็น ที คอนสตรัคชั่น จำกัด
ช่างภาพ: คุณศุภกร ศรีสกุล

AAD design AAD design AAD design


อ่าน:
‘Ayutt & Associate Design’ ความสำเร็จของนักออกแบบกับการเลือกใช้วัสดุ (ตอนที่ 1)

นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous articleBiodome โดมสำเร็จรูปสุดแกร่งจากโรมาเนีย มอบมิติใหม่ให้กับผู้อยู่อาศัยทุกฤดูกาล
Next articleAyutt & Associate Design’ ความสำเร็จของนักออกแบบกับการเลือกใช้วัสดุ (ตอนที่ 1)
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร