กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมากว่า 30 ปีแล้ว สำหรับ ‘งานสถาปนิก’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้คนในแวดวงการออกแบบและก่อสร้าง โดยในแต่ละปืที่ผ่านมา ผู้คนทั้งจากแวดวงเดียวกันและแวดวงอื่น ๆ ต่างก็ได้สัมผัสศักยภาพของสถาปนิกไทยที่ก้าวหน้ามากขึ้นในแต่ละปื และในปืนี้ งานสถาปนิก’59 ที่มาพร้อมกับแนวคิดภายใต้ธีมงาน ‘Back to Basic’ จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคตของสถาปนิกไทย

แม้โลกในยุคแห่งการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารจะทำให้องค์ความรู้ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งต่อถึงกันได้ง่ายดายขึ้น แต่การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คุณพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สำหรับงานด้านสถาปัตยกรรมนั้น หากสถาปนิกสามารถผสานรากเหง้าแห่งความเป็นไทยเข้ากับความเป็นสากลและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ ก็จะทำให้สถาปนิกไทยโดดเด่นในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การได้มองย้อนกลับมายังสิ่งที่ ‘เรามี’ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก และนั่นเป็นเหตุผลที่งานสถาปนิก’59 ในปีนี้ให้ความสำคัญกับ ‘Back to Basic’

2

“งานสถาปนิก’59 ปีนี้ เราจัดขึ้นเป็นปีที่ 30 แล้ว โดยปีที่ผ่าน ๆ มาเรามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3 แสน 5 หมื่นราย งานในแต่ละปีก็มีความใหญ่โตมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ซึ่งอันที่จริงแล้ววัตถุประสงค์หลักในการจัดงานของทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็เพื่อจะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพสถาปัตยกรรมว่า สถาปนิกเป็นใคร เราทำงานอะไรให้ประชาชนหรือสังคมในวงกว้างบ้าง ในขณะเดียวกันการแสดงสินค้าภายในงานซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสถาปนิกด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพการทำงานที่ครบวงจรว่าในการทำงานออกแบบสร้างบ้านหรืออาคารนั้น องค์ประกอบต่าง ๆ มีอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นภายในงานจึงมีการแบ่งส่วนในการนำเสนอออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ส่วนนิทรรศการของงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นโซนของสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยจะเน้นเรื่องงานนิทรรศการของสถาปนิก เรื่องงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมาคมได้ทำให้กับทั้งสมาชิกและสังคมในวงกว้างที่เป็นสาธารณะ ซึ่งมีงานอยู่หลากหลายด้าน ทั้งงานที่เกี่ยวเนื่องกับงานด้านการออกแบบและงานด้านการศึกษา รวมทั้งยังมีงานแสดงนิทรรศการของพันธมิตรของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ด้วย ซึ่งเป็นสถาปนิกจากนานาประเทศ เนื่องจากเราเป็นสมาชิกอยู่ใน ARCASIA (สภาสถาปนิก แห่งเอเชีย หรือ Architects Regional Council of Asia) ที่มีสมาชิกทั้งหมด 19 ประเทศในเอเชีย โดยที่เราเป็นหนึ่งในสมาชิก ARCASIA ก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้ว โดยในปีนี้ประธานของสภาสถาปนิกแห่งเอเชียก็เป็นคนไทย คือ คุณสถิรัตน์ ตัณฑนันทน์ ดังนั้นในปีนี้จึงมีงานนิทรรศการจาก 19 ประเทศมาแสดง รวมถึงพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสมาคมของเรามาก ก็จะมีนิทรรศการมาแสดง รวมถึงการจัดสัมมนาร่วมกันด้วย

คอนเซ็ปต์ของงานในปีนี้ จะพูดถึง Back to Basic โดยมีแนวคิดเริ่มต้นมาจากการที่ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ อยากให้ผู้ออกแบบตระหนักถึงอัตลักษณ์ที่เรามี ก่อนจะก้าวไปข้างหน้าเราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราเป็นใคร มีพื้นฐานที่ดีในตัวเองอย่างไร เพราะหากเรารู้จักรากฐานของตัวเองดีพอแล้ว การพัฒนาต่อไปข้างหน้าก็จะมั่นคง เพราะฉะนั้นงานนิทรรศการในปีนี้จึงมองว่า การมองกลับสู่สามัญ (Back to Basic) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นโอกาสให้เรามองเห็นตัวเราเอง รวมถึงได้ทำความเข้าใจว่าตัวเองนั้นมีดีอะไร ด้วยความที่เรามีมรดกทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน นั่นคือสิ่งที่มีค่าในตัวเรา แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถเริ่มต้นจากสิ่งที่มีค่านี้นำไปพัฒนาต่อไปได้ และเมื่อผนวกกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมถึงแนวคิดสมัยใหม่ทั้งเรื่องรักษ์โลก การประหยัดพลังงาน และการใช้วัสดุรีไซเคิลต่าง ๆ เพื่อทำให้งานเราก้าวหน้าไปอย่างมีเอกลักษณ์และมีคุณภาพสูง ดังนั้นจึงเป็นเหตุว่าทำไมปีนี้เราจึงมีโจทย์ว่า ‘อาษาสู่สามัญ’ ทั้งนี้ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็หวังอยากให้บรรดาเพื่อนสถาปนิกทีเป็นสถาปนิกช่วยกันมองย้อนกลับมาว่า ‘การกลับสู่สามัญ’ นั้นแปลว่าอะไร ซึ่งแต่ละท่านก็มีวิธีมองที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป โดยภายในงานสถาปนิก’59 ก็จะมีการจัดแสดงผลงานจากสถาปนิก 100 ผลงาน (100 Selected) และแน่นอนว่าประชาชนทั่วไปก็จะได้เห็นในผลงานเหล่านี้

P4290671

งานสถาปนิกในทุก ๆ ปีจะเป็นช่วงเวลาที่สถาปนิกมารวมตัวกันเพื่อดูผลงานใหม่ ๆ หรือมาดูผลงานของสถาปนิกท่านอื่น ๆ รวมถึงดูนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นงานนี้จึงเป็นจุดรวมของสถาปนิกในวิชาชีพนี้ โดยในส่วนสมาคมสถาปนิกสยามฯ เองนั้นก็จัดงานสัมมนางานนิทรรศการ รวมถึงจัดคอร์สเพื่อให้สถาปนิกได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้ รวมถึงพบปะแลกเปลี่ยน และงานประชุมใหญ่สามัญ ซึ่งปีนี้จะทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 เมษายน และวันเดียวกันนั้นในช่วงบ่ายก็จะมีประชุมใหญ่ของทางสมาคม โดยการประชุมใหญ่ในครั้งนี้จะมีการส่งมอบตำแหน่งนายกสมาคม เนื่องจากตัวผมเป็นนายกสมาคมจนใกล้จะครบวาระ 2 ปี แล้วก็จะมีการเปลี่ยนนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ท่านใหม่ ซึ่งได้จากการเลือกตั้ง นั่นคือ อาจารย์อัชชพล ดุสิตนานนท์ ซึ่งท่านจะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในการประชุมสามัญใหญ่ครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ภายในพื้นที่ของทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็มีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งกิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของบ้านเมือง รวมถึงเรื่อง Universal Design การออกแบบเพื่อทุกคน ที่เราให้ความสำคัญกับคนทุก เพศทุกวัย ทุกปีเราจึงมีการแสดงงานในส่วนนี้ รวมถึงงานทางด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของเราด้วย เพราะสมาคมได้เล็งเห็นความสำคัญของอาคารที่มีคุณภาพเชิงประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปะ จึงจัดให้มีการมอบรางวัลการอนุรักษ์ผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นซึ่งเราจัดขึ้นทุกปี ไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งในงานสถาปนิก’59 ซึ่งเราร่วมมือกับ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดงาน ให้มีโซนใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ Zone Green หรือ โซนของวัสดุที่เกี่ยวข้องกับอาคารเขียว (Green Building) เพื่อความยั่งยืน โดยจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากบรรดาผู้ผลิตรายต่าง ๆ ที่ได้คิดค้นและนำเสนอ เพื่อว่าเมื่อสถาปนิกมาดูงานแล้วก็จะพบนวัตกรรมวัสดุใหม่ ๆ ที่ผลิตขึ้นมา โดยให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้เรายังมีอีกหนึ่งนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจ โดยที่ผ่านมาเรามีการจัดทีมเข้าไปยังชุมชนริมแม่น้ำเพื่อเข้าไปศึกษาและพูดคุยกับชาวบ้านถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าอาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้นำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาเหล่านั้นมาสะท้อนให้เห็นความเป็นจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปและภาครัฐเพื่อการรับข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องนี้”

4

ในฐานะสถาปนิกที่คร่ำหวอดในวงการ รวมถึงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คุณพิชัยเองก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในวงการสถาปนิก รวมถึงมองเห็นแนวทางที่จะทำให้สถาปนิกไทยแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งขยายผลผ่านการดำเนินงานของสมาคมเช่นเดียวกัน

“วงการสถาปนิกเราในปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายตามลำดับ ในส่วนของสมาคมสถาปนิกสยามฯ นั้น เมื่อปีพ.ศ. 2543 ได้ผลักดันให้เกิดการตั้งสภาสถาปนิกขึ้นมา ซึ่งหน้าทื่ขอวสภาสถาปนิก คือ คอยกำกับดูแลการประกอบ วิชาชีพของสถาปนิก และเป็นผู้ควบคุมการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมถึงจัดการสอบให้แก่สถาปนิกใหม่เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ อีกทั้งเป็นผู้พิจารณาเรื่องจรรยาบรรณการปฏิบัติวิชาชีพ โดยหลักการคือทางสภาสถาปนิกจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการปฏิบัติวิชาชีพให้เป็นไปตามมาตรฐานจรรยาบรรณที่เหมาะสมของสถาปนิก ในขณะเดียวกันกับที่สมาคมเองก็มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้แก่สถาปนิก โดยผ่านการอบรม สัมมนา ผลิตคู่มือรวมถึงให้ความรู้และความช่วย เหลือแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจให้ทางสมาคมของเราเข้าไปช่วย เรามองถึงคุณภาพมาตรฐานของการพัฒนาทางด้านวิชาชีพ การออกแบบต่าง ๆ หรือกระทั่งมาตรฐานด้านความปลอดภัย การออกแบบอาคาร การป้องกัน อัคคีภัยระบบป้องกันภัยต่าง ๆ จนกระทั่งการเข้าถึงของคนทุกคน เพราะฉะนั้นหน้าที่สองส่วนของสภาสถาปนิกกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง แต่ในแง่ของการทำงานจะร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้มาตรฐานในวิชาชีพของสถาปนิกสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบรับกับสาธารณะ เนื่องจากเราเองเป็นคนออกแบบพื้นที่อาคาร รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง

ในวิชาชีพของสถาปนิกตามพระราชบัญญัติสถาปนิก ปีพ.ศ. 2543 นั้น เราแบ่งสาขาออกเป็น 4 สาขา นั่นคือ สาขาสถาปัตยกรรมหลัก ซึ่งสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะเป็นองค์กรหลักในสาขานี้ นอกจากนี้ก็มีสาขา
สถาปัตยกรรมผังเมือง สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ และภูมิสถาปัตยกรรม โดยทั้ง 4 สาขานี้รวมกันเรียกว่า วิชาชีพสถาปนิก ภาพนี้จะทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าวงการสถาปนิกมีความหลากหลายพอสมควร บุคลากรในวิชาชีพปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 คน ซึ่งเรามีบัณฑิตจบใหม่ทุก ๆ ปี เป็นจำนวนหลักพันคน เพราะฉะนั้นสมาคมสถาปนิกสยามฯ ยิ่งต้องเน้นในเรื่องคุณภาพมาตรฐานเพื่อรักษามาตรฐาน รวมถึงยกระดับมาตรฐานของวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดประเทศสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และเป็นครั้งแรกที่สถาปนิกจากต่างชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ในทางกลับกันสถาปนิกบ้านเราเองก็สามารถออกไปทำงานที่ต่างประเทศได้ ดังนั้นยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากว่าคุณภาพมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นสถาปนิกต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในบ้านเรา เราก็ต้องมั่นใจว่าเขามีคุณภาพและมาตรฐานที่มั่นใจได้และทัดเทียมกับเรา เนื่องจากผล จากการออกแบบผลงานของเขาย่อมกระทบต่อพื้นที่สาธารณะในบ้านเรา ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ต้องช่วยกันกับสภาสถาปนิกในการรักษาระดับคุณภาพและมาตรฐานในการทำงาน

สิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันนี้คือโลกของเราเล็กลง มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่อวิธีการปฏิบัติวิชาชีพของเราด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเราเองจึงต้องปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่เปลี่ยน แปลงไปในโลก นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วก็เป็นเรื่องสำคัญมาก สมัยก่อนเราเขียนแบบด้วยมือ จนมาถึงยุค 80 ที่เริ่มเปลี่ยนเป็นระบบคอมพิวเตอร์ เริ่มมีการใช้โปรแกรม CAD และสถาปนิกก็เริ่มทำงานบนคอมพิวเตอร์เป็นสองมิติ ต่อมาตั้งแต่ปลายยุค 90 เราเริ่มพัฒนาเป็นระบบสามมิติ จนปัจจุบันที่เราใช้โปรแกรมที่เรียกว่าระบบ BIM หรือ Building Information Modeling เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในการทำงานมีการขยับตัวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เราเองจึงต้องพัฒนาตัวเองให้ทัน และเข้าใจให้ได้ว่าโลกมีการเปลี่ยนไปทั้งเทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่พัฒนาไปมาก รวมถึงงานระบบต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้น ดังนั้นสถาปนิกเองก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทันการพัฒนาของเทคโนโลยี เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกไทยต้องไม่ลืมคือเรามีรากเหง้าของวัฒนธรรมความเป็นไทยที่สำคัญ อัตลักษณ์ของเราเป็นสิ่งที่มีค่าและมีคุณค่าที่ทำให้เราแตกต่างจากชาวโลก เราก็พึงต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ หรือ รักษาและพัฒนาต่อไป ใช่ว่าเมื่อความเป็นสากลเข้ามาแล้วก็จะต้องปรับทุกอย่างให้เป็นสากลไปทั้งหมด ซึ่งสถาปนิกในยุคใหม่ ๆ เองก็เริ่มเข้าใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า และรู้แล้วว่าเรามีเอกลักษณ์สูงมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถสานต่อของเก่าที่ดี ๆ ที่เรามีเหล่านี้มาสู่งานสมัยใหม่ได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ เองก็ให้ความสำคัญและผลักดัน ทั้งในแนวคิดการศึกษา และการค้นคว้าเช่นเดียวกัน

โดยส่วนตัวผมมองว่าวันนี้สถาปนิกไทยค่อนข้างอยู่ในระดับแถวหน้ามากขึ้น อย่างในกลุ่มประเทศสมาชิก ARCASIA เราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่น ในกลุ่มนี้มีประเทศที่มีความโดดเด่นในวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ดังนั้นการที่ไทยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานในกลุ่ม ARCASIA ก็แปลว่าเป็นที่ยอมรับของเพื่อนสมาชิกทั้ง 19 ประเทศว่าเราสามารถเป็นผู้นำของกลุ่มได้ ในแง่ของคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นก็ต้องเรียนว่าสถาปนิกไทยอยู่ในระดับแถวหน้าจริง ๆ ดังนั้นในสมาคมสถาปนิกสยามฯ เองก็มีระบบในการทำงานที่มีการถ่ายทอด การส่งต่อการทำงานจากนายกสมาคมท่านเก่าสู่นายกสมาคมท่านใหม่ ซึ่งเป็นการคุยกันหรือถกกันแบบพี่น้อง มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดกันอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นก็จะมีการพูดคุยกันว่าโครงการไหนที่เป็นโครงการที่ดีที่นายกสมาคมท่านเก่าทำไว้ ท่านใหม่เห็นว่าดีแล้วก็พยายามทำต่อเนื่องไป ขณะเดียวกันนายกสมาคมท่านใหม่ก็มีสิทธิที่จะมีแนวคิด หรือมีโครงการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในกิจกรรมของสมาคมได้เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นสมาคมสถาปนิกสยามฯ เองก็โฟกัสกลับมาที่สมาชิกและการพัฒนาวิชาชีพเพื่อการทำงานที่ดีขึ้น พร้อมมาตรฐานที่ดีเพื่อตอบโจทย์ของสังคมในบริบทที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย”

 

นิตยสาร Builder Vol.31 MAY 2016

 

Previous articleอนันดาฯ ปลื้มยอดขายจากแคมเปญ “Ananda Big Deals” สูงเกินเป้าตอบรับมาตรการรัฐ
พร้อมโชว์ความสำเร็จปิดการขาย “เอลลิโอ เดล เรย์”
Next article7 นวัตกรรมแห่งอนาคตที่พลิกโฉมวงการสถาปัตยกรรม
นะโม นนทการ
หรือ ธนสัติ นนทการ นักเขียนนิตยสาร Builder อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนอิสระ ปัจจุบันร่วมงานกับนิตยสารหลากหลายฉบับ