เมื่อกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ ที่ถือได้ว่าเป็นของเหลวซึ่งไตขับออกมาจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวันอย่าง ‘ปัสสาวะ’ ถูกนำมาดัดแปลงสู่วัสดุก่อสร้างที่มีความโดดเด่นจนไม่อาจมองข้ามได้

วันนี้ BuilderNews จึงอยากแนะนำให้รู้จัก Bio-Bricks” อิฐชีวภาพที่ผลิตมาจากปัสสาวะมนุษย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัสดุชีวภาพทางเลือกที่น่าจับตามองในวงการสถาปัตยกรรม

อะไรคือ Bio-Bricks ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ทุกคน คงจะหนีไม่พ้นกิจวัตรประจำวันอย่างการ ‘ปัสสาวะ’ หรือที่หลายคน ๆ เรียกง่าย ๆ ว่าการเยี่ยวหรือการฉี่ตามความถนัดกัน เนื่องจากเป็นธรรมดาของร่างกายเราที่ปัสสาวะคือของเสียในรูปของเหลวที่ร่างกายขับถ่ายออกมาโดยไต ด้วยกระบวนการกรองจากเลือดและขับออกทางท่อปัสสาวะ แต่ทว่าความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันให้กลายเป็นวัสดุชีวภาพที่สามารถนำมาใช้ในวงการสถาปัตยกรรมได้

Bio-Bricks จึงถูกคิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์อย่างซูซาน แลมเบิร์ตได้วิจัยและสร้างวัสดุก่อสร้างโดยใช้ปัสสาวะมนุษย์ จากแนวคิดการลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดให้เหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์หรือ Zero Waste สำหรับใช้เป็นวัสดุทางเลือก เพื่อทดแทนอิฐจากเตาเผาที่ก่อให้เกิดผลเสียมากมายต่อสิ่งแวดล้อม

จากกิจวัตรประวันที่แสนจะจำเจสู่วัสดุก่อสร้าง Bio-Bricks

ปัสสาวะของมนุษย์ถูกนำมาพัฒนาเป็น Bio-Bricks วัสดุก่อสร้างที่เกิดจากของเสียของมนุษย์และแบคทีเรียที่ยังมีชีวิต ซึ่งสามารถผลิตออกมาได้ตามขนาด รูปร่าง หรือความแข็งแรงที่ต้องการและพอที่จะเป็นทางเลือกทดแทนอิฐแบบดั้งเดิมได้จริง ซึ่งอิฐดั้งเดิมต้องผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,400 องศาเซลเซียส และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลออกสู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านการวิจัยโดยทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคปทาวน์

กระบวนการวิจัยของ Bio-Bricks ผ่านกระบวนการการตกตะกอนคาร์บอเนตด้วยจุลินทรีย์ หรือ Microbial Carbonate Precipitation ที่เปรียบเทียบวิธีการนี้เหมือนกับกระบวนการเกิดขึ้นของเปลือกหอย โดยการผสมปัสสาวะ ทรายและแบคทีเรียเข้าด้วยกัน เพื่อทำอิฐชีวภาพโดยการใส่แบคทีเรียลงไปในเม็ดทรายที่เกาะตัวอย่างหลวม ๆ จะทำให้เกิดเอนไซม์ที่เรียกว่ายูรีเอส ที่จะทำปฏิกิริยากับปัสสาวะและทำให้เกิดส่วนผสมที่คล้ายกับซีเมนต์ที่เชื่อมด้วยทราย โดยไม่ผ่านกระบวนการเข้าเตาอบที่มีความร้อนสูง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

แต่อิฐชีวภาพชนิดนี้ผ่านกระบวนการทำให้ขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่าง ๆ ทำให้แห้งด้วยอุณหภูมิห้องและใช้เวลาในการก่อตัวประมาณ 6-8 วัน เมื่อครบกำหนด ตัวอิฐจะมีความแข็งแรงเหมือนกับอิฐทั่วไปที่หาซื้อได้ตามตลาด และอิฐ 1 ก้อน จะต้องใช้ปัสสาวะมากที่สุดถึง 30 ลิตร เนื่องจากร้อยละ 90 ของปัสสาวะคนนั้นประกอบไปด้วยน้ำ นอกจากนี้ทางนักวิจัยยังบอกว่าหมดกังวลเรื่องกลิ่นของปัสสาวะเมื่อนำไปสร้างบ้าน เนื่องจากกลิ่นแอมโมเนียที่รุนแรงจากปัสสาวะจะหายไปในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังอิฐแห้งตัวลง

Bio-Bricks กับทางเลือกทดแทนอิฐทั่วไป

เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันนั้นกระแสการสร้างวัสดุก่อสร้างทดแทนจากธรรมชาติ ทำให้นักออกแบบหรือสถาปนิก หลาย ๆ คน หันมาให้ความสำคัญกับวัสดุทางเลือกกันมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทำให้เกิดผลกระทบกับโลกของเราอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งล้วนแล้วมาจากกระบวนการผลิตวัสดุก่อสร้าง ที่มีส่วนในการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 80% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ส่งผลให้หลาย ๆ หน่วยงานหันมาทบทวนและหาทางแก้ไข เพื่อเป้าหมายของการลดโลกร้อนกันมากขึ้น รวมถึงพยายามที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

สาเหตุหลัก ๆ เหล่านั้นทำให้วัสดุประเภทอิฐ จึงถูกเลือกนำไปพัฒนาวิจัยเพื่อหาวัสดุจากธรรมชาติหรือขยะ    รีไซเคิลต่าง ๆ มากมายมาวิจัย ซึ่งทำให้อิฐเป็นวัสดุที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากวิศวกรทั่วโลกแทนอิฐที่ผลิตขึ้นในโรงงาน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาอิฐขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกแบบที่ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องของการออกแบบพื้นที่ให้มีความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่การเลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้งานให้เหมาะสมเองก็นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เช่นกันกับภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

Source

https://www.dezeen.com/2018/11/06/bio-bricks-human-urine-environmentally-friendly-university-cape-town/

Previous articleกรุนด์ฟอส เตรียมโชว์นวัตกรรมปั้มน้ำนำเข้า
จากเดนมาร์ก ในงานสถาปนิก’65
Next articleร่วมประกวดแบบ Civic Center กรุงเทพมหานคร
จิตรกมล ขวัญแก้ว
สาวขี้อาย จบการศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ชอบแสงแดดยามบ่าย ไอซ์ลาเต้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม