ในช่วงเวลาที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ มีเรื่องราวของการทำลายธรรมชาติการตัดต้นไม้ในเมือง การพยายามเข้าไปใช้พื้นที่อนุรักษ์เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะถ่ายทอดความคิดรักษาสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร เพราะประเทศเรามีหน่วยงานองค์กรมากมายที่เหมือนจะทำหน้าที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สถาบันอาคารเขียวที่สร้างเกณฑ์อาคารเขียว กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ อีกที่ผมยังนึกไม่ออก แต่เมื่อถึงเรื่องของการปฏิบัติ มันกลับสวนทางกันไปเลยทีเดียว

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการออกแบบก่อสร้างทำได้ยากนั้น โดยส่วนตัวผมเองมองว่าไม่ใช่เรื่องต้นทุนหรือเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องแนวคิดและทัศนคติของคน ทั้งคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการตั้งแต่ต้น ผู้เข้ามาใช้อาคารหรือผู้อยู่อาศัยต่อไป รวมถึงสังคมโดยรวม ถ้าคนมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเสียอย่างไรแล้วก็ย่อมจะหาทางรักษาสภาพธรรมชาติที่ดีเอาไว้ควบคู่ไปกับโครงการก่อสร้างตั้งแต่ริเริ่ม

แล้วเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นมันเกี่ยวข้องกับ Biophilic Design อย่างไร? จากครั้งก่อนที่ได้อธิบายความหมายของ Biophilic ที่ว่า เป็นความชอบความรักต่อธรรมชีวิต หากว่าเรานำเอาแนวคิดนี้มาเป็นตัวสร้างให้คนในอาคารในสังคมมีความรักต่อธรรมชาติต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเห็นคุณค่าและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะรักษามันด้วยความพยายามต่อไปได้

แล้วอะไรจะเป็นจุดที่ทำให้เฟืองตัวแรกคือการทำให้โครงการจริงเริ่มหมุนได้ สำหรับนักออกแบบแล้วขั้นตอนนี้ก็ไม่ง่ายเพราะต้องโน้มน้าวให้ผู้ลงทุนโครงการก่อสร้างเห็นว่าแนวทางการใช้ธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ให้ผลประโยชน์ที่ดีแก่โครงการ ฯลฯ แล้วจึงนำมาสู่การนำเสนอทางเลือกโดยใช้รายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งจากประสบการณ์ของผมเองพอจะสรุปคร่าวๆได้ดังนี้

1. การโน้มน้าว

การจะทำให้งานออกแบบมีธรรมชาติเป็นส่วนประกอบสำคัญ ต้องคุยกันตั้งแต่ก่อนออกแบบ โน้มน้าวให้เจ้าของโครงการก่อสร้างเห็นว่าการออกแบบที่มีธรรมชาติเป็นส่วนร่วมนั้นดี การจะมาใส่เรื่องนี้ทีหลังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะตัวผู้ลงทุนเองย่อมต้องชั่งใจกับต้นทุนที่จะเกิดขึ้นรวมถึงมีทีมงานและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะต้องมาพูดคุยโน้มน้าวกันภายหลัง ซึ่งเรื่องของการโน้มน้าวก็ต้องคุยภาษาของผู้ลงทุน ตัวอย่างเช่น หากต้องการเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ในพื้นที่โครงการ แทนที่จะใช้เหตุผลเรื่องการอนุรักษ์หรือธรรมชาติ เขาอาจจะไม่ฟัง แต่ถ้าให้ไอเดียว่าทำแล้วสังคมชอบ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจแนวคิดของเราได้

2. ทำการบ้านด้านธุรกิจ

ต่อเนื่องกับข้อแรกผู้ออกแบบต้องทำการบ้านว่าการใส่ธรรมชาติจะช่วยให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจได้อย่างไรบ้าง เช่นหากเป็นห้างหรือมอลล์แล้วมีต้นไม้เยอะ ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะมีคนเดินเข้ามามากเพราะอากาศดี เย็นสบาย ในขณะเดียวกันก็ประหยัดค่าก่อสร้างจากการลดพื้นที่ปรับอากาศ และเป็นมุมมองที่น่าสนใจเป็นต้น หรือหากเป็นอาคารสำนักงาน ผลประโยชน์จาก Biophilic Design อาจจะเป็นภาพลักษณ์ให้แก่บริษัทที่มาเช่าพื้นที่ในอาคารและการส่งผลต่อค่าเช่าพื้นที่ในอาคารสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ผู้ออกแบบก็ต้องหาข้อมูลมาเพื่อคุยกับคนทั้งหลายในบริษัทของลูกค้าของคุณ

3. ศึกษารายละเอียดทางเทคนิค

พร้อมๆ กันกับข้อสอง เพื่อที่จะบอกได้ว่าอาคารควรมีธรรมชาติเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร ผู้ออกแบบต้องศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาประเด็นทางเทคนิคของการก่อสร้างหรือเทคโนโลยีของวัสดุและระบบก่อสร้างที่จะทำให้เกิดผลตามที่ได้คุยกับเจ้าของโครงการเอาไว้ รวมถึงต้นทุนที่จะเกิดทั้งต้นทุนจากการก่อสร้างและการบำรุงรักษาต่อไปในอนาคตเมื่อเปิดใช้อาคาร รายละเอียดทางเทคนิคจะเป็นคำตอบที่สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฟังว่า สิ่งที่ไปโน้มน้าวให้เขาสนใจนั้นเป็นไปได้อย่างไรก็ตามควรเสนอทางเลือกไว้ด้วย เช่น สวนดาดฟ้านั้นก็อาจจะเสนอ 2-3 ระบบ เพื่อให้โครงการได้พิจารณาตามความเหมาะสม

4. ใส่ใจตลอดการทำงาน

หากว่าแนวคิดการออกแบบได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ นักออกแบบจำเป็นจะต้องใส่ใจในรายละเอียดตลอดทุกขั้นตอนตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง จนถึงการเริ่มต้นบำรุงรักษาเมื่อเปิดใช้งานอาคาร ทั้งนี้ความสำเร็จของแนวคิดการเอาธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องของแบบ แต่เป็นการให้ธรรมชาติอยู่กับงานออกแบบไปตลอด นอกจากการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว ก็ต้องใส่ใจดูแลการก่อสร้างและติดตั้ง ให้ความรู้กับผู้ที่ดูแลส่วนที่ออกแบบเพื่อให้เขาดูแลระบบเหล่านั้นให้อยู่ได้อย่างดี และจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแนวคิดของ Biophilic นั้น เหมาะสมจริงหรือไม่ ไม่ใช่มองว่าล้มเหลวเพราะงานออกแบบติดตั้งทำได้ไม่ดี

ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นนี้น่าจะเป็นกระบวนการทำงานที่ครบถ้วนระดับหนึ่ง เพื่อให้เกิดการรักษาธรรมชาติควบคู่ไปกับการออกแบบ ในความเป็นจริงเราจะเห็นได้ว่ามีหลายอาคารที่เคยมีสวนแนวตั้งที่ใช้ต้นไม้จริงถูกเปลี่ยนเป็นต้นไม้ปลอมหรือหญ้าจริงกลายเป็นหญ้าเทียม ซึ่งแม้ว่าจะโน้มน้าวให้โครงการออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นส่วนร่วม แต่อาจจะเกิดปัญหาเรื่องต้นทุนหรือเรื่องการดูแลรักษา เป็นต้น และผลสุดท้ายก็อาจถูก มองได้ว่าธรรมชาตมิปัญหากับการก่อสร้างเสมอ เพราะฉะนั้นนักออกแบบจึงต้องวางแผนกับสักนิดนะครับ เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับงานออกแบบของคุณ

นิตยสาร Builder Vol.32 JUNE 2016

อ่าน:
Biophilic Design (ตอนที่ 1)
Biophilic Design (ตอนที่ 2)

 

Previous articleรีโนเวทท่าเรือ Alexandra ฉลองครบรอบ 375 ปี เมืองมอลทรีออล
Next articleรีแลกซ์กับ 10 พื้นที่เอาท์ดอร์สุดชิลล์ ที่จะทำให้คุณเคลิ้มไปกับบรรยากาศแสนสบาย
ดร.อรช กระแสอินทร์
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์