ความรู้สึกโค้งนูน ไม่ว่าจะไปอยู่ในอะไรก็ตาม ตามจิตวิทยากล่าวว่า เส้นโค้งน้อย ๆ หรือเส้นที่เป็นคลื่นน้อย ๆ เหล่านี้จะสร้างความรู้สึกสบาย เปลี่ยนแปลงได้ เลื่อนไหล ต่อเนื่อง และมีความกลมกลืนในการเปลี่ยนทิศทาง ดังนั้น ถ้าสังเกต เราจะพบว่าไม่ว่างานไหนก็ตามหากมีจุดประสงค์การออกแบบที่ต้องการความนุ่มนวล อบอุ่นมักจะมีเส้นโค้งอยู่ในนั้น
แน่นอนว่าสำหรับฟากสถาปัตย์เองก็เช่นกัน เพราะเส้นโค้งไม่เพียงสร้างความหมายด้านความรู้สึกให้แก่ผู้พบเห็นหรือผู้อยู่อาศัยเท่านั้น แต่เส้นโค้งยังเป็นความท้าทายสำหรับคนสร้างสรรค์ผลงานด้วย เพราะมันยากกว่าการออกแบบที่ตัดตรงเป็นไหน ๆ
BuilderNews นำ 5 โปรเจกต์ “Bubbletecture” หรือสถาปัตย์พองลมแนวลูกโป่งมาแบ่งปันให้ได้ชมกัน ทุกชิ้นที่นำมาฝากนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Phaidon หนังสือเกี่ยวกับศิลปะหลากแขนงที่เชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ที่นักออกแบบต้องมีไว้ติดบ้านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แต่ทั้ง 5 ชิ้นนี้จะมีอะไรบ้างและจะเจ๋งแค่ไหนลองไปดูพร้อม ๆ กัน
Media-ICT Building, Spain, by Enric Ruiz Geli, 2011
สีเขียวสลับขาว ดูพองนุ่มสบายตาควบคู่ไปกับความล้ำสมัยนี้ เบื้องหลังความสวยงามอยู่ที่การออกแบบและการใช้วัสดุ โครงการอาคาร Media-ICT แห่งนี้ใช้ผนังที่ทำจากวัสดุ ETFE (ethylene tetrafluoroethylene) ซึ่งมีความเหนียวและยืดหยุ่น รองรับน้ำหนักได้มากโดยไม่ฉีกขาด แถมยังมีความเป็นฉนวนหน่วยการติดไฟ และยังทนทานต่อสารเคมี รังสียูวีและความร้อนได้ดี
แต่ภายนอกที่ออกแบบไว้ดึงดูดสายตาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโปรเจกต์เท่านั้น เพราะอาคารแห่งนี้ยังสร้างระบบหมุนเวียนพลังงานสำหรับนำมาใช้ในใหม่ โดยนำพลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์รอบอาคารมาใช้งาน ทำให้ช่วยลดการสร้างคาร์บอนฯ ได้สูงถึง 95% และติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิเพื่อเก็บข้อมูลจากภายนอกไว้ใช้สำหรับปรับสภาพภายในอีกด้วย
ด้วยการผสมผสานระหว่างเรื่องการเลือกใช้วัสดุที่คนไม่ค่อยรู้อย่างการใช้แผง ETFE เป็นวัสดุเพื่อโชว์ภาพลักษณ์ที่ดูเข้าถึงง่ายกับการจัดการระบบอาคารที่ยั่งยืน จึงเป็นเหตุผลหลักให้ผลงานทางสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เข้าไปอยู่ใน Phaidon ได้อย่างไร้ข้อกังขา
Skum, Denmark, by BIG, 2016
ถัดมาที่ผลงานชิ้นนี้ แม้จะไม่ใช่การสร้างอาคารถาวรแต่ก็เป็นการสร้าง Pavilion ชั่วคราวที่น่าสนใจทีเดียว มองที่โครงสร้างคล้ายกับฟองสบู่ที่เราเป่าตอนเด็ก มีช่วงเว้าต่อ ๆ กันเมื่อนำมาใช้จึงชวนให้เราคิดถึงบรรยากาศวัยเยาว์ ครั้งเล่นอยู่ในปราสาทเป่าลม
ขนาดที่ใหญ่พอสมควรเมื่อนำมาเป่าลมเข้าไป สามารถกันน้ำและให้ร่มเงาแก่ผู้ที่เดินเข้าไปได้ แม้จะไม่ได้ออกแบบมาแบบ Pavilion ปิด มีประตูเปิดเข้าออก แต่ก็ถือเป็นความสนุกและการขยายขอบเขตจินตนาการด้านดีไซน์ให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นสิ่งที่ดูร่วมสมัยและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ผลงานชิ้นนี้ผู้สร้างกล่าวว่ามันใช้ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ แค่ 7 นาทีเท่านั้นในการพองลมขึ้นมาจนใหญ่ขนาดนี้ และยังเพิ่มมิติให้น่าหลงใหลกว่าเดิมด้วยการจัดแสง LEDs หมุนเวียนแตกต่างกันสร้างสเปกตรัมที่สวยงามได้ด้วย
Homogenising and Transforming World by TeamLab, 2014
ใครที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ชื่อของ TeamLab หรือนักสร้างสรรค์ประสบการณ์จากผลงาน Installation คงเคยผ่านตาคุณ หรือภาพผลงานนี้น่าจะทำให้คุณร้องอ๋อกันบ้าง เพราะเขานำไปเข้าร่วมกับผลงานการจัดแสดงล่าสุดด้วยเช่นกัน
ต้องบอกก่อนว่าแม้ผลงาน Homogenising and Transforming World จะหน้าตาดูคล้ายจาก Skum แต่ตัวนี้เขาเพิ่มความต่างด้านการใช้ data มาสร้างผลงานเพื่อให้คนสามารถเข้าไปร่วมสนุกได้ทันทีที่สัมผัส เจ้าลูกโป่งกลม ๆ หยุ่นนุ่มเหล่านี้มีเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลแบบไร้สายเพื่อกระจายข้อมูลระหว่างแต่ละลูก สร้างสภาพแวดล้อมแบบ Interactive ตอบสนองการสัมผัสและปรับเปลี่ยนสีเป็นระลอกคลื่น เราจึงรู้สึกว่าการสร้าง Installation ชิ้นนี้ตอบสนองกับความรู้สึกของเราโดยตรงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น แสง LEDs ต่าง ๆ จึงไม่ได้นำเข้ามาใช้เพื่อการตกแต่งเพียงอย่างเดียว แต่มันใช้ไว้สำหรับตอบสนองเราผ่านเซ็นเซอร์ด้วย
ความฉลาดของเทคโนโลยีที่นำมาเชื่อมกับความรู้สึกของมนุษย์ในโลกดิจิทัล และนำมาขยายผลสู่งานด้านสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้เป็นแนวทางที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ถ้าเอาไปประยุกต์กับการสร้าง Smart Home ด้วยเชื่อว่าที่อยู่อาศัยจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
Anda by Tehila Guy, 2014
เก้าอี้เป่าลมอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับชิ้นนี้ถ้าพิจารณารายละเอียดให้ดีมันสามารถยกระดับให้วางร่วมกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหรูได้อย่างลงตัว จึงกลายเป็นเก้าอี้ลมเพียงที่เข้าตาพอให้ลงใน Phaidon
ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่นั่งเป่าลมยุค 1960 เก้าอี้ที่มีน้ำหนักเบาและมีสไตล์ ขณะเดียวกันก็ให้ลุคที่ดูร่วมสมัยสามารถวางได้อย่างลงตัวทั้งกลางแจ้งและในร่ม ด้วยโครงสร้างสมดุลด้านบนทำจากที่นั่งลมโปร่งใส ส่วนด้านล่างทำจากฐานไม้ที่สามารถรองรับแรงกดและดูมั่นคง การประยุกต์ระหว่างวัสดุทั้ง 2 ชิ้นนี้จึงโดดเด่น แม้แตกต่างแต่ก็ลงตัวและดูน่าค้นหา
Nawa pavilion, Poland, by Zieta Prozessdesign Studio, 2018
ปิดท้ายกันด้วยชิ้นนี้ ซุ้ม Pavilion สีเงินจากโปแลนด์ ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคโนโลยี FIDU เทคโนโลยีแปรรูปเหล็กให้สามารถขยายปริมาตรได้ อัดลมเข้าไปได้ แต่ยังคงความเสถียรภายใน ใครที่ยังไม่เข้าใจกระบวนการผลิตสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในนี้ https://interne.st/closertopeople/project/fidu-technology/
กระบวนการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์จากการใช้แนวทางการผลิตที่น่าสนใจนี้ แม้หลายคนจะมองว่าไม่ต่างจากการอัดลมลงในลูกโป่งเมทัลลิกธรรมดา แต่เราบอกได้เลยว่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิงเรื่องความแข็งแรง และเชื่อว่าด้วยรูปแบบที่นำมาใช้ในผลงานชิ้นนี้ น่าจะเป็นจุดสนใจที่ทำให้แวดวงสถาปัตย์สมัยใหม่ได้นำมันไปใช้งานในอนาคตอย่างแน่นอน
ผลงานทั้ง 5 ชิ้นแม้ว่าแทบจะไม่ใช่งานในปี 2019 นี้เลย อาจจะมีเพียงบางงานที่แสดงอยู่ในปี 2019 บ้าง แต่เราเชื่อว่าแนวคิดและหลักการออกแบบของมันค่อนข้างใหม่ น่าจะใช้ต่อยอดไอเดียเพื่อสร้างสรรค์ผลงานได้อีกหลายงาน หวังว่าทุกคนจะชื่นชอบ
ภาพประกอบทั้งหมดนำมาจาก www.dezeen.com
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.dezeen.com/2019/02/11/inflatable-architecture-design-bubbletecture/
- ประชิด ทิณบุต. การออกแบบกราฟิก. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, 2530
- https://www2.mtec.or.th/th/e-magazine/admin/upload/239_47-50.pdf