โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อปีถึงสองปีที่ผ่านมา มันหมุนเร็วมากจนมวลมนุษยชาติต้องปรับตัวกันอย่างยิ่งใหญ่ วิถีชีวิตเดิม ประสบการณ์เก่า ๆ ที่เคยเผชิญกลับถูกหักล้างด้วยสิ่งใหม่ที่ยากจะรับมือ

สถาปัตยกรรม ศิลปะ หรือการแสดงออกต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งต้องอาศัยการตีความและประสบการณ์ส่วนบุคคลเพื่อจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อ และในวันนี้ BuilderNews ชวนคุณไปร่วมทำความรู้จัก “Burning Bridges” การจุดไฟเผาวัสดุเชิงสถาปัตยกรรมเพื่อเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและจุดเปลี่ยนถ่ายสู่กลียุคที่ไม่สามารถนำวิถีชีวิตเดิม ๆ กลับคืนมาได้…อีกต่อไป

บริษัทสถาปัตยกรรม KATARSIS ได้สร้างสะพานจากไม้ ฟาง และเศษวัชพืช เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองประเพณีประจำปีของรัสเซีย ซึ่งเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของโรค ใน Nikola-lenivets หมู่บ้านขนาดเล็กในภูมิภาค Kaluga ที่ซึ่งศิลปินนามว่า Nikolay Polissky ค้นพบลานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลขนาดใหญ่ เช่น “Archstoyanie” ที่เป็นเทศกาลศิลปะบนพื้นดินท่ามกลางธรรมชาติเพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์อะไรบางอย่างตามที่สถาปนิกต้องการจะสื่อ

หนึ่งในเทศกาลที่สำคัญของ Nikola-lenivets คือ “Maslenitsa” ช่วงวันหยุดยาวในฤดูใบไม้ผลิตามตำนานสลาฟ โดยที่ KATARSIS บริษัททางสถาปัตยกรรมจาก St. Petersburg ได้อธิบายไว้ว่า Maslenitsa คือ ช่วงเวลาแห่งความสนุกสนาน การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีในสังคม และการกินแพนเค้ก โดยไคลแมกซ์ของช่วงเทศกาลนี้คือ การเผาสิ่งปลูกสร้างหรือรูปปั้นเพื่อบอกลาความหนาวเหน็บและทักทายฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง โดยประเพณีใน Nikola-lenivets คือการจุดไฟเผาผลงานทางศิลปะขนาดใหญ่ และการกระทำเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกทางสังคมมากกว่าเป็นแค่เพียงการสร้างสถาปัตยกรรมหรือรูปปั้นเท่านั้น

ในปี 2020 ที่ผ่านมาผลงานจาก KATARSIS ได้ถูกรับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ประจำปีนี้ โดยที่ใช้ชื่อว่า “Burning Bridges” ให้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่ย้อนกลับมาไม่ได้ ทั้งโลก รวมไปถึงตัวตนของเรา “เราอยากสร้างวัตถุลักษณะยาวที่ไม่สามารถตีความใด ๆ ได้อย่างชัดเจนและไม่โยงกับสิ่งใดเลย” Peter Sovetnikov ผู้ร่วมก่อตั้งและพาร์ทเนอร์ของบริษัท KATARSIS กล่าว “มันต้องมีสิ่งที่แปลกใหม่ และสะท้อนถึงความรู้สึกของสิ่งโดยรอบโดยเฉพาะผืนหญ้าโล่งสุดลูกหูลูกตาของภูมิภาค Kaluga และสะพานนี้กำเนิดขึ้นกลางทุ่งหญ้าและทอดข้ามแม่น้ำล่องหน มันเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องเล่าที่ข้ามผ่านทั้งพื้นที่และเวลา”

สะพานมีความยาว 70 เมตร ประกอบไปด้วยหอคอย 2 หอที่มีความสูง 20 เมตร ซึ่งถูกเชื่อมกันด้วยแพลตฟอร์มทางเดิน สะพานนี้ถูกสร้างด้วยทีมของผู้คนท้องถิ่นนั่นเอง โดยวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กรอบไม้ต้องสร้างจากไม้ที่ถูกเจาะจากด้วงเปลือกไม้จนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ หรือไม้ท้องถิ่นที่ถูกทำลายโดยแมลง

ก่อนจะถึงช่วงจุดไฟเผา ผู้ชมจะถูกเชื้อเชิญให้เดินไปตามทางที่ทอดยาวของสะพานให้รู้สึกว่าพวกเขากำลังเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล “ก่อนจะเผา พวกเราจะจัดการแสดงร่วมกับ La Pushkin Theatre จาก St. Petersburg” Sovetnikov กล่าวต่อ

“จุดมุ่งหมายของเราก็เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในเทศกาล ในช่วงที่จุดไฟเผาสะพานนี้ พวกเขาจะเดินตามกันเป็นวงกลม แต่ละคนก็จะได้รับคบเพลิงคนละหนึ่งอันเพื่อจุดไฟสะพาน การเผาสะพานจะไม่ใช่แค่การแสดงโชว์อีกต่อไป แต่จะเป็นการร่วมมือกันและให้ประสบการณ์ส่วนตัวที่มีความลึกซึ้งแก่ผู้เข้าร่วมเทศกาล เนื่องจากพวกเขาจะร่วมรับรู้อะไรบางอย่างในสัญลักษณ์ของการกระทำเช่นนี้”

“ในช่วงที่ไฟลุกไหม้ มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะคุณจะยืนอยู่ห่าง 12 เมตรจากกองไฟที่ท่วมสูงถึง 80 เมตร และรู้สึกถึงความร้อนของเปลวไฟบนผิวของคุณจนแทบจะทนไม่ได้ คุณจะตระหนักได้ถึงความอันตรายถึงตายของกองเพลิงและมันสามารถสร้างปัญหาได้มากมาย” Peter Sovetnikov กล่าว

“โลกยังไม่ได้ตระหนักว่ากำลังสั่นคลอนจนถึงแกนกลาง” สถาปนิกสรุปในแง่ของโรคที่เรากำลังเผชิญ “ศิลปะชิ้นนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของกลียุคที่กำลังจะเกิดขึ้น ทุกวันนี้พวกเรารู้ว่ามวลมนุษยชาติได้ก้าวผ่านสะพานและพบตัวเองในยุคแห่งการถือกำเนิดใหม่ และไม่มีทางที่จะเดินกลับไปทางเดิมได้อีกแล้ว”

สะพานนี้เปรียบเสมือนทางเดินที่พามนุษย์ไปสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อเดินข้ามผ่านมันไปแล้ว และเมื่อจุดไฟเผาสะพาน ก็คือการที่เราไม่สามารถที่จะเดินย้อนกลับทางเดิมได้อีกต่อไป เรามีหน้าที่ที่ต้องเดินไปข้างหน้า ไม่ว่าโลกจะก้าวผ่านเข้าสู่ยุคใดก็ตาม ดังเช่นสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ชิ้นนี้ที่ได้แสดงออกให้เราเห็น

แล้วคุณล่ะ ตีความมันได้ว่าอย่างไรบ้าง?

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.designboom.com/architecture/katarsis-builds-burns-bridge-russia-nikola-lenivets-01-12-2021/

Previous articleยูนิเวนเจอร์ ผนึกกำลัง “บี.กริม” มุ่งลงทุนธุรกิจพลังงานหลากหลายรูปแบบ
สร้าง Portfolio การลงทุนให้สมดุล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
Next articleคอตโต้ร่วมเปิดงานนิทรรศการ ‘VENUS IN THE SHELL พร้อมชมงานศิลปะบนผืนผนังจากกระเบื้องโมเสกแก้วชิ้นจิ๋วของ ยูน- ปัณพัท จิตรกรภาพประกอบระดับสากล
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว