กระแสการเลี้ยงสัตว์กับต้นไม้ยังคงได้รับความนิยมจากผู้คนที่ต้องการหางานอดิเรกที่ดีต่อจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย สัตว์และต้นไม้ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ดี เมื่อเราพูดถึงการเลี้ยงสัตว์ “แมวและสุนัข” จะเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในการเลือกก่อนใครเพื่อน
แต่บทความนี้เราจะพูดถึงการออกแบบ “บ้านแมว” ของคุณณัฐวุฒิ มัชฌิมา ที่หลายคนคงคุ้นตาในโซเชียล มีเดียกับโปรเจกต์ บ้านแมว 2018 ที่ถูกแชร์กันมากกว่าหมื่นครั้ง วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณณัฐ ถึงจุดเริ่มต้นและแนวคิดการออกแบบของโปรเจกต์การอยู่ร่วมกันระหว่าง “คนและแมว”
ทางสายกลางของการออกแบบ คือสมดุลที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ
ตัวเราชื่อ “ณัฐวุฒิ มัชฌิมา” คำว่า “มัชฌิมา” แปลว่าทางสายกลาง เราทำได้หมดทุกแบบ ทุกแนว ทุกสไตล์ เราติดยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า คือเน้นความต้องการจริง ๆ เป็นหลัก เราไม่ได้มีสไตล์ที่เป็นตัวเราเองเท่าไหร่นัก เราเชื่อว่าการออกแบบมันต้องคิดใหม่ ให้สอดคล้องกับคาเรคเตอร์ลูกค้า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าได้ละ
อย่างแรกเราก็จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น เข้าไปซึมซับความรู้สึก ลม แสง บรรยากาศทั้งหมด พอดีเราทำงานเกี่ยวกับแมวด้วย คือทำ “บ้านแมว” ประเภทต่อเติมพื้นที่การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและแมว เราก็ต้องไปรีเสิร์จแมวแต่ละตัว งานประเภทนี้จะเพิ่มพูลความรู้ ความเข้าใจให้เราเสมอ ได้แนวคิดใหม่ ๆ เราคิดว่ามันเป็นเสน่ห์ของอาชีพนี้นะ มันมีอะไรให้เข้ามาเรียนรู้ตลอดเวลา
บ้านแมวคืออะไร?
บ้านแมวไม่ใช่แบบกรงแมว แต่มันคือบ้านคนที่มีพื้นที่ไว้สำหรับแมวโดยเฉพาะ มีชั้นให้แมวไต่ เดิน วิ่งเล่น ที่กว้างขว้าง รวมถึงของเล่นที่เหมาะกับแมว เราจะเรียกว่าเป็นบ้านคนและแมวก็ได้ น้อยคนนะที่เขาจะกล้าลงทุนกับไปกับสิ่งเหล่านี้ มันค่อนข้างเฉพาะนิดนึง คือเรามีคนติดต่อมาให้ทำงานก็เยอะนะ แต่พอมาถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็ไม่ได้ไปต่อ พับโปรเจกต์ไป
บ้านแม้นศรีสวาท โปรเจกต์แห่งความอิ่มใจ ที่ให้ความสุขทั้งคนและแมว
บ้านแม้นศรีสวาท แม้นศรีคือชื่อซอย บ้านลูกค้าอยู่ในซอยแม้นศรี สีสวาดเป็นชื่อของพันธุ์แมว เราก็เลยเอามารวมกันเป็นชื่อโปรเจกต์ เรารู้สึกว่าเป็นโปรเจกต์ที่อิ่มใจเวลางานมันเสร็จ แล้วลูกค้าขอบคุณเรา เรารู้สึกว่า นี้คือสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว ในมุมของเรานะ คือมันไม่ต้องยิ่งใหญ่ เราเห็นแบบนี้แล้วเราอิ่มใจ แล้วชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งคนและแมวก็ดีขึ้น จากแมวที่ป่วยอยู่ต้องไปหาหมอทุกวัน พอพื้นที่มันสร้างเสร็จ แมวก็มีสุขภาพดีขึ้นตาม เหมือนเรามีบ้านที่ดี คุณภาพชีวิต สุขภาพกายและสุขภาพจิตก็ดีขึ้นตามครับ
เราตีโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านตามพฤติกรรมของเขา ก็ได้รู้ว่า ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของเจ้าของบ้านอยู่ในย่านสำเพ็ง เลยใช้เหล็กดัดของบ้านในยุคเก่าที่เราจะพบได้เวลาไปย่านนั้น หยิบเอาองค์ประกอบเหล่านั้นมาใช้ตกแต่งภายนอกและภายใน เราเน้นความเรียบง่าย และการใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ ของเจ้าของบ้านและแมวตัวโปรด (หลายตัว)
จงอย่าท้อถอยต่ออุปสรรค และวันหนึ่งเราจะค้นพบคำตอบของความพยายาม
ให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เต็มที่ ใส่ให้สุดไปเลย เดี๋ยววันหนึ่งเราจะได้คำตอบของความพยายามเอง บางทีมันอาจจะช้าหน่อย บางทีมันอาจจะเร็วบ้าง แต่เราเชื่อว่า วันหนึ่งมันจะมีคำตอบของมันเอง และต้องหัดสังเกตสิ่งที่มันมีให้เราสังเกต เช่น พฤติกรรมของคนหรือสิ่งต่าง ๆ แล้วจุดนี้มันจะช่วยเราในอนาคตแน่นอน
ผมชอบคำของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี “ท้อได้ เหนื่อยได้ แต่อย่ายอมแพ้” วันหนึ่งมันจะมีคนเข้าใจในสิ่งที่เราทำ ถ้าคนในประเทศไม่เข้าใจ เราก็ต้องทำให้คนต่างประเทศเข้าใจ เราต้องไม่ดูถูกตัวเอง
แล้วมาพบกับโมเดลบ้านแมวจากคุณณัฐวุฒิ มัชฌิมา ได้ในพื้นที่ DesignerHub Pavilion ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี
ขอบคุณสถานที่ Rue De Mansri