เส้นทางของ “เล็ก ธีรชัย มโนมัยพิบูลย์” สู่การเป็นนักออกแบบที่มากประสบการณ์นั้น ดูจะเป็นอะไรที่เหมือนการผจญภัยเสียเหลือเกิน เริ่มต้นโดยไม่มีคำว่าสถาปัตยกรรมอยู่ในหัวเลยด้วยซ้ำ จนปัจจุบันคุณเล็กมีบริษัทรับออกแบบเป็นของตัวเองชื่อว่า “Map Architect” ผลลัพธ์จากการบ่มเพาะประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530

ในวัยเด็กคุณเล็กไม่ได้เรียนวาดรูปมาตั้งแต่แรก เป็นเด็กห้องสายวิทย์ – คณิต หากมองเผิน ๆ อาจจะเป็นเด็กคนหนึ่งที่พร้อมจะเรียนต่อคณะอื่นใดก็ได้ที่ไม่ใช่สถาปัตยกรรม แต่วิชาที่พี่เล็กกลับชอบและทำออกมาได้ดีที่สุดนั่นคือ วิชาวาดรูป

จุดนั้นกลายมาเป็นแรงผลักดันให้พี่เล็กก้าวเข้าสู่การเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนจะเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

เคยตั้งใจจะเรียนคณะเกษตรฯ ด้วยความที่เราชอบต้นไม้ แต่พี่ชายก็แนะนำว่า เรียนคณะสถาปัตย์ดีกว่าเพราะเหมาะกับคนที่ชอบวาดรูป แล้วพี่ก็ชอบวาดรูปอยู่แล้ว จึงเบนเข็มจะไปเรียนสถาปัตย์แทน เพราะน่าจะหางานง่ายกว่าด้วย พอพี่รู้ว่าจะต่อเรียนสถาปัตย์ ก็หาคนที่จะติวให้ ตอนนั้นครูที่ติวเป็นรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ที่ลาดกระบัง วันแรกที่ไปติวพี่เขาก็เอาอะไรสักอย่างหนึ่งมาให้เราสเก็ต พี่ก็จำไม่ได้แล้วนะว่าเป็นอะไร พอเสร็จปุ๊บ เขาก็บอกว่า ไม่ต้องมาเรียนแล้ว ไปนั่งอ่านวิชาเฉพาะดีกว่า แกวาดรูปเป็นอยู่แล้วไม่ต้องมาเรียนหรอก สุดท้ายพี่ก็สอบเข้าที่สถาปัตยกรรม จุฬาฯ ได้ในที่สุด

เริ่มต้นงานที่แรกในปี 30 เริ่มต้นด้วยเงินเดือนหลักพัน

จบจากสถาปัตยฯ จุฬา ก็เริ่มงานที่แรกที่บริษัท โอบายาชิ เป็นรับเหมาบริษัทก่อสร้างจากญี่ปุ่นที่ใหญ่มาก ๆ ในสมัยนั้น งานหลักของพี่ก็คือ เขียนแบบ เขียนแปลนอาคาร แต่ที่นี่คืองานจะละเอียดมาก ๆ งานประณีตสุด ๆ คือเวลาเขียนแบบ มันจะมีจุดทศนิยมที่เป็น 1.00 หรือ 1.50 อะไรแบบนี้ แต่พอทำที่โอบายาชิ คือมันกลายเป็น 1.500 คือละเอียดมาก เวลาออกแบบพวกกระเบื้องมา แล้วไปตัดเขาเยอะ ๆ โดนเขาด่านะ เพราะว่าเขาต้องการงานเนี๊ยบ และไม่อยากให้มีขยะก่อสร้างจำนวนมาก ซึ่งมันเป็นผลดีในตอนที่พี่ได้ทำงานในที่อื่น ๆ

หลังจากทำที่โอบายาชิได้ 4-5 เดือน ก็ได้ย้ายไปอยู่บริษัท ไทยกรุ๊ป งานแรกที่พี่ได้ทำก็คือ ออกแบบสนามกอล์ฟ พี่ก็แบบตกใจ กอล์ฟเราก็ไม่เคยตี พี่ก็ไปนั่งหาหนังสือพวกดีไซน์สนามกอล์ฟ ศึกษากติกามัน สนามต้องมีกี่หลุม เข้าใจ Concept ของสนามว่ามันต้องออกแบบมาในลักษณะไหน เชื่อไหมจากที่พี่ไม่เคยรู้เรื่องกอล์ฟมาก่อนนะ หลังจากนั้นพี่รู้หมดเลย แต่พี่ก็เล่นไม่เป็นอยู่ดี พอหาข้อมูลและได้แบบเสร็จเราก็สเก็ตเสนอให้ลูกค้า ที่โหดกว่าคือในสมัยนั้น มันยังไม่มีเครื่องถ่ายเอกสารสี ลูกค้าก็บอกว่าอยากได้ก็อบปีสี แต่โชคดีที่มันยังมีเครื่องถ่ายเอกสารแบบขาวดำ พี่ก็ต้องมานั่งระบายสีให้มันเหมือนกันทุกแผ่นเลย ก็สนุกสนานกันไป งานนี้เป็นงานที่เราทำเองตั้งแต่ต้นจนจบส่งงานลูกค้า ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นสนามกอล์ฟที่สนามจันทร์ จ.นครปฐม ส่วนชื่อพี่จำไม่ได้นะ มันนานมากละ(หัวเราะ)

พอทำงานที่ไทยกรุ๊ปจบพี่ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทคณะสถาปัตยกรรมที่ Ball State University รัฐ Indiana อเมริกา พอเรียนจบก็กลับมาเริ่มทำงานต่อที่ไทยเลย ทำที่บริษัท ธนายง

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 จุดหักเหสำคัญของชีวิตการทำงาน

หลังจากทำที่ธนายงได้ประมาณ 7 ปี ก็เข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้งเลย พี่โดนเชิญออกจากบริษัทเป็นคนแรกเลยนะ ความรู้สึกมันเหมือนกับระเบิดลงตู้มใหญ่ เรากำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ มองภาพสวยหรู การขยับเงินเดือนของพี่มันขึ้นทุกปี แล้วก็ขึ้นแบบกระโดดด้วยนะ พี่ก็คิดว่าเดี๋ยวอีก 2-3 ปี เงินเดือนก็ขึ้นอีก แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิดไว้เลย แถมตอนนั้นลูกเพิ่งจะ 1 ขวบเอง แต่ก็คือโชคดีที่พี่ยังพอมี Connection อยู่บ้าง ก่อนจะเกิดวิกฤตพี่ก็รับงานนอกกับรุ่นพี่ เสาร์อาทิตย์เราไม่มีอะไรทำเราก็ไปหาแก ไปช่วยเหลือเขา พี่มีอะไรให้ผมช่วยไหม เขาให้อะไรทำเราก็ทำหมดแหละ ไม่ปฏิเสธ พอพี่ตกงานพี่ก็กลับไปหาแกนะ แต่กว่าจะได้เข้าไปทำงานก็เป็นเดือนเหมือนกัน

เรียกว่าเป็นความโชคดีปนความโชคร้ายนะ พี่ทำงานแบบได้เงินบ้างไม่ได้เงินบ้าง แต่ก็เข้าใจได้เพราะว่าสถานการณ์ช่วงนั้นมันแย่มาก ๆ การที่เราได้งานทำก็ถือว่าโชคเข้าข้างสุด ๆ จนผ่านวิกฤติตรงนั้นมาได้ก็ประจวบเหมาะกับจังหวะนั้น รุ่นน้องที่รู้จักกันชวนไปทำที่ King Power ให้ไปอยู่ฝ่ายออกแบบหน้าร้านค้า ตอนนั้นก็ทำได้ 2 ปี คือเราก็ต้องไป Set แผนกให้เขาใหม่หมดเลย

จะบอกว่าโชคดีอีกแล้วนะ (หัวเราะ) มีรุ่นน้องอีกคนชวนไปทำตึกสูงที่ HASSELL น้องเขาทำไม่เป็นก็เลยชวนเราไปทำ ตอนที่พี่เข้าไปคือ โอโห้ พี่เหมือนกลับไปเรียนอีกครั้งเลยอ่ะ คืองานที่เขาทำกันแต่ละอย่างคือสุดยอดมาก ๆ เป็นอาจารย์ของพี่เลย พี่ซึมซับงานตรงนี้ ฝึกวิทยายุทธอยู่ได้ 7 ปี พี่ถึงออกมาทำ Map Architect

ขอบคุณภาพจาก HASSELL
ขอบคุณภาพจาก HASSELL

ถ้ามีโอกาสได้สร้างอะไรสักหนึ่งอย่างที่อยากสร้าง …

รีสอร์ท พี่อยากสร้างรีสอร์ทที่หลวงพระบาง ด้วยความที่มันเป็น World Heritage มันจะมีกฏเยอะมาก แล้วพี่ชอบเล่นอะไรกับกฏระเบียบเยอะ ๆ สิ่งนี้ทำให้พี่คิดว่าจะเล่นกับมันอย่างไร การตีโจทย์ก็จะท้าทายมากขึ้น พี่อยากทำอะไรที่มันยาก ๆ แปลกใหม่ อะไรที่ไม่เคยทำพี่ก็อยากทำ แล้วที่หลวงพระบางข้อจำกัดในการก่อสร้างมันก็มีนะ เช่น ห้ามทำอาคารสูงเกิน 3-4 ชั้น ต้องทำอาคารที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและบริบทของพื้นที่นั้น ๆ มันท้าทายนะ

รีสอร์ทมันเป็นสิ่งที่เราไปถึงแล้วมีความสุข เวลาเราไปเที่ยวเราก็ต้องการมีความสุขถูกต้องไหม ไปแล้วต้องผ่อนคลาย โจทย์คือต้องทำอย่างไรให้ลูกค้า Enjoy กับสิ่งที่เราทำ พี่ว่ามันแฮปปี้กับทุกฝ่าย เราตีโจทย์ลูกค้าแฮปปี้ เราทำให้คนใช้แฮปปี้ WIN WIN ทุกฝ่าย

กาลเวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีการทำงานเปลี่ยน สิ่งที่ได้คือความชำนาญ

การทำงานสมัยก่อนทำให้เราอึด อดทน ความแม่นยำในสเกลต่าง ๆ อย่างที่พี่บอก ต้องมานั่งสเก็ตภาพแล้วก็ต้องมาระบายสีทีละแผ่น สมัยนี้จะวาดแบบก็เข้าโปรแกรมเลย นั่งวาดนั่งออกแบบกันในคอม ซึ่งมันง่ายกว่าแต่ก่อนมาก ๆ อย่างถ้าเราอยากรู้ว่าตึกหรือบ้านที่เราออกแบบมา การไหลเวียนของอากาศมันเป็นยังไง ถ้าสมัยก่อนที่ยังไม่มีโปรแกรมคือเราต้องมานั่งทำโมเดล แล้วก็มานั่งดูว่าลมผ่านพอไหม บ้านจะร้อนหรือเปล่า ถ้าร้อนต้องเพิ่มหน้าต่าง ขยับหน้าต่างตรงไหนบ้าง ปรับกันแก้ไปมาก็สนุกดี แต่เดี๋ยวนี้คือวาดแบบเสร็จส่งเข้าโปรแกรมก็รู้ได้เลยว่าลมมันไหลเวียนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันทำให้เราทำงานกันได้ง่ายขึ้น แล้วก็ช่วยเราในการพรีเซ็นลูกค้าได้สะดวกกว่าเดิม

อย่างตอนที่พี่ไปสอนที่จุฬา ก็จะเอาโจทย์ไปให้เด็ก ๆ ได้คิด ว่ามีโจทย์ที่พี่เคยได้ทำเนี่ย พวกคุณจะทำอย่างไร เป็นกรุ๊ปดีไซน์ แล้วก็ออกมาพรีเซ็นให้เราฟัง แล้วเราก็แชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่าเราทำยังไง คิดอย่างไร จะเป็นการ Sharing กันมากกว่ามาบอกว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด

มุมมองเรื่อง Waste ในงานสถาปัตยกรรม

อาจจะต้องให้คอนเซปต์เขาไป คือนักออกแบบรุ่นใหม่ก็เป็นวัยรุ่น บางทีอาจจะยังไม่สนใจเรื่องนี้มากเท่าไหร่นัก ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เรียน พี่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เหมือนกัน จะมีคนมารับผิดชอบแทนเราอยู่แล้ว เดี๋ยวผู้รับเหมาก็คงเคลียร์ให้เรา แต่พอพี่ทำงานมาเยอะ ๆ เลยรู้ว่ามันไม่ใช่ มันเริ่มต้นจากนักออกแบบนี่แหละ จะต้องเป็นคนช่วยลดเรื่องพวกนี้ อย่าง การปูกระเบื้อง ถ้านักออกแบบวางแผนดี ๆ นะ ขยะจะน้อยมาก กระเบื้อง ถ้ามุมไม่ได้มันก็ต้องตัด พอตัดส่วนที่เหลือคือใช้ไม่ได้เลยนะ มันก็กลายเป็นขยะ หากเราวางแผนอย่างแม่นยำ ขยะจะน้อยมาก การตัดแต่ละครั้งคือจะเกิดขยะแน่นอน

ในวัยใกล้เกษียณกับข้อคิดที่อยากฝากนักออกแบบรุ่นใหม่

ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เราก็ทำอย่างมีความสุข ถ้าคุณมีความสุข คุณก็จะทำงานโดยไม่รู้สึกว่าทำงาน เพราะคุณกำลังสนุกอยู่กับมัน ถ้าคุณรักในสิ่งที่คุณทำ ยังไงก็มีความสุข สำคัญคือห้ามละเลยสิ่งที่เป็นกฏระเบียบและข้อจำกัด เพราะมันจะส่งผลร้ายแรงอย่างมากในอนาคต

 

Previous articleเฟอร์นิเจอร์หวายเทียมจาก “Nature Corners”
สวยและโดดเด่นไปกับดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร
Next articleEnmax ชูนวัตกรรม พลังงานที่ไม่มีวันหมด ด้วยโซลาร์เซลล์
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ