Soul Concept เป็นผลผลิตที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นจาก “คุณเนี๊ยบ กฤษณะ สุมาตรา” ผู้ที่หลงใหลงาน Conceptual และการค้นหาความหมายของการออกแบบแต่ละชิ้น รวมถึงงานออกแบบของคุณเนี๊ยบที่แฝงความหมายไว้เสมอ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่า ทำไมต้องเป็น Soul Concept และความหมายของงานออกแบบคืออะไร

จากความสงสัยของการออกแบบ สู่ความเข้าใจในความหมายเหล่านั้น

ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เดิมทีเป็นคนสนใจในงานออกแบบที่สวยงามฟังก์ชันตามปกติที่ต้องมี เราถามกับตัวเองและเพื่อนว่า สิ่งที่ทำออกมาทำไมถึงเป็นแบบนี้จุดเริ่มต้นของความคิดมาจากไหน ก็ได้คำตอบว่า “ทำงานให้สวยเรียบร้อยก่อนค่อยหาความหมายมาใส่อีกที” ในความคิดตอนนั้น มันทำให้งานที่ออกมาไม่ได้ถูกคิดจากจุดเริ่มต้นจริง ๆ ก็เกิดคำถามที่ว่า “ทำไมการคิดงานจากคอนเซ็ปต์มันถึงไม่มีความหมาย” หลังจากได้หาคำตอบมาตลอดตอนเรียนมหาวิทยาลัย

ตัดภาพมาที่งานวิทยานิพนธ์ ผมได้ทดลองบางอย่างกับตัวเองว่า ถ้าหากความหมายที่เราคิดมันดีจริง ความสวยงามของงานที่ออกมาต้องไม่ทำให้คนที่เสพไขว้เขวว่านี้คืองานที่ดีจากภาพ 3D สวย ๆ จึงทำงานเพียงแค่ใช้เส้นสีขาวดำเท่านั้น เป็นงานออกแบบศูนย์ปฎิบัติธรรม จากนั้นเราก็เล่าเรื่องราวความหมายของมันออกมาผ่านเส้นสายให้ผู้เสพตัดสินว่า เออถ้ามันไม่ดีก็คือไม่ดี ถ้าดีอยากให้เห็นคุณค่าจริง ๆ จากเรื่องราว แล้วงานก็ถูกมหาวิทยาลัยเลือกให้ไปประกวด degree show แต่ไม่ได้ที่ 1 นะ ได้เข้าไปรอบสุดท้ายก็ดีใจแล้ว

พอจบมายอมรับว่าเป็นคนที่มีอีโก้สูงประมาณหนึ่ง เพราะเรามั่นใจว่าความหลงไหลในงาน conceptual ของเรา จะเป็นตัวขับเคลื่อนงานออกแบบเดิม ๆ ที่เราทำ ช่วงนั้นรู้สึกเหนื่อยมากเพราะต้องสู้กับอีโก้ของตัวเอง แต่เวลาผ่านไปเราก็เริ่มยอมรับว่าจริง ๆ แล้วงานออกแบบของทุกคน มีเหตุผลของมันที่ควรจะเป็น เลยเริ่มฟังมากขึ้นกลายเป็นความคิดเรา ความคิดลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และเหตุผลที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังยึดมั่นในการหาความหมายของงาน และความหมายของคนที่เราไปออกแบบให้อยู่ โดยวัดตวงสัดส่วนให้เหมาะสม

Soul Concept ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นสิ่งที่มอบคุณค่าให้กับงานออกแบบอย่างเข้มข้น

จากจุดเริ่มต้นและเวลาที่ผ่านมา ความชอบในงาน Conceptual และการหาความหมายของงานออกแบบก็ยังคงอยู่ในการทำงานเสมอ จึงเป็นที่มาของชื่อบริษัท Soul Concept “Soul คือจิตวิญญาณ และ Concept แนวความคิด” ไม่ใช่เกาหลีนะ Soul Concept เป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่เข้มข้นในเรื่องการหาคุณค่าให้กับงานออกแบบ เพราะเรารู้สึกว่าเวลาลูกค้าจ้างให้เราออกแบบให้ เขาต้องได้สิ่งที่เหมาะกับธุรกิจจริง ๆ ไม่ใช่เพียงเพราะว่า Designer อยากให้เป็นแบบนี้

ฉะนั้นช่วงเริ่มต้นการทำ Proposal เราจะมาคิดวิเคราะห์กันเยอะมาก บางครั้งการคิดงานอาจจะมาจาก หนัง การ์ตูน วิทยาศาสตร์ เพลง งานศิลปะและอื่น ๆ ที่อาจไม่ได้เกี่ยวกับ Interior โดยตรงและเราจะได้ความคิดแปลกใหม่เสมอ พอเราได้ Concept ของงานแล้ว งานออกแบบก็จะมีคุณค่าด้วยตัวของมันเอง มันสามารถเล่าเรื่องราว ต่อยอดไปยังงานอื่น ๆ ได้อีก เช่น งาน Graphic งาน Marketing ของลูกค้า

บริษัทเราทำงานออกแบบตกแต่งภายในเป็นหลัก และทีมงานของเราถนัดงาน conceptual งานหลักของเราจึงเป็นงานประเภท Commercial เช่น Restaurant, Retail Shop, Hotel เพราะเราสามารถออกแบบธุรกิจให้กับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงทำ Branding, Graphic งานเมนู และเป็นที่ปรึกษางานส่วนอื่น ๆ ของลูกค้า เช่น งาน Marketing เพื่อให้งานออกมาเป็น Concept เดียวกันทั้งหมด

งานออกแบบแรกกับคอนเซปต์ที่เต็มไปด้วยไอเดียสุดสร้างสรรค์

งานออกแบบงานแรกของบริษัทเป็นงานร้านกาแฟ อยู่ที่แยกพิบูลสงครามชื่อร้าน ตัวกลม Cafe ที่เริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า บริเวณนั้นไม่มีต้นไม้ มีแต่ถนนแห้ง ๆ  และแดดก็ร้อนเวลาเดิน ทำให้เราคิดว่า Oasis กลางทะเลทรายเป็นสิ่งที่จะดับร้อนให้คนในระแวกนี้ พอเป็น Oasis เลยทำให้ทั้งภายในและ ภายนอกของร้านถูกประดับไปด้วยต้นไม้ที่ถูกวางจังหวะให้เหมาะสม และงานไม้เป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้านรู้สึกได้พักผ่อนจริง ๆ

งาน Cascade Hotel ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ก่อนหน้านี้ช่วงที่ออกแบบเราสนุกกันมาก เราชอบโปรเจคนี้เพราะลูกค้ากับเรามีแนวความคิดที่ตรงกัน ทำให้เวลาเรานำเสนองานออกแบบเราจะสนุกไปด้วยกัน และปัญหาก็ไม่ใช่อุปสรรค แต่กลายเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่อยากจะทำให้ได้ และเราเชื่อว่างานนี้จะเป็นงานที่มีความหมายจริง ๆ

สำหรับงานที่อยากออกแบบมาที่สุดคือ ส่วนผสมงานออกแบบที่มีครบทั้ง Commercial, Residence คืองานโรงแรม เพราะเราได้ทั้งออกแบบ Concept และฟังก์ชัน Marketing ไปพร้อม ๆ กัน เราสนุกกับการคิดค้นวิธีการใช้งานใหม่ ๆ  ว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้ในพื้นที่ ที่เราออกแบบจะได้ประสบการณ์อะไรกลับไป

Previous articleเครือเจริญโภคภัณฑ์ เทคโอเวอร์ค่ายรถจีน ส่งรถโม่ปูน บุกตลาดงานก่อสร้าง ในเมืองไทย
Next articleสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับสิ่งปลูกสร้าง ด้วยเสาเข็มแห่งอนาคตจาก พีพี ไมโครไพล์
ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ