บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนิตยสาร Wallpaper จัดการประกวดออกแบบกระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องบุผนัง ในโครงการ “DURAGRES Design Awards 2016 with Wallpaper” ภายใต้แนวคิด “Tiles That Reflect Your Style” ซึ่งประกาศผลและมอบรางวัลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 บนเวที Exhibitor Forum ภายในงานสถาปนิก’59 อาคารชาเลนเจอร์ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โครงการประกวดออกแบบนี้ นับว่าเป็นการเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบรุ่นเยาว์ จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 400 ผลงาน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับรางวัล ดังนี้
– เงินรางวัล มูลค่า 50,000 บาท
– เงินรางวัลสำหรับสถาบันของผู้ชนะ มูลค่า 20,000 บาท
– ทุนศึกษาดูงานต่างประเทศสำหรับผู้ชนะ ที่งาน Business of Design Week ประเทศฮ่องกง พร้อมตั๋วเครื่องบินไป-กลับ และที่พัก
– ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของผู้ชนะเลิศ และผลงานลงในนิตยสาร Wallpaper
– โล่รางวัล พร้อมประกาศนียบัตร
ซึ่งเกณฑ์การตัดสินผลงาน มีดังนี้ ความคิดสร้างสรรค์และความสวยงาม 40%, ความเหมาะสมและสามารถนำมาใช้ได้จริง 30%, และภาพรวมการนำเสนอ 30%
ผู้ทีได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวณัฐพร อนันตสวัสดิ์ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน Indigo ออกแบบกระเบื้องผนังที่สะท้อนความเป็นธรรมชาติของผ้า และสีคราม, ออกแบบกระเบื้องพื้นที่นำลูกเล่นของความเป็นสีครามและลักษณะธรรมชาติอย่างเช่น ไม้และหินมาประยุกต์ใช้ในงาน
แรงบันดาลใจในการออกแบบเกิดจากการเล็งเห็นว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ทำให้ขาดเวลาในการคิดและตัดสินใจแม้แต่ในเรื่องที่ตนเองสนใจ จึงเกิดความคิดที่ว่า “หากเรามีเวลามองความงามของธรรมชาติรอบตัวมากกว่านี้ แทนที่จะเอาเวลาไปสนใจในสิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม น่าจะดีกว่า”
จึงมองไปที่การย้อมผ้าคราม ซึ่งเป็นผลงานที่ได้จากกรรมวิธีธรรมชาติ สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น วิธีการผลิตจะเริ่มจากการนำเปลือกไม้ไปต้มจนได้สีคราม และนำไปย้อมผ้า สีของเนื้อผ้าที่ได้จะไม่เท่ากัน และจะมีความเป็นลายคราม สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของเนื้อผ้า
นอกจากนี้ การย้อมผ้าคราม ยังมีความน่าสนใจตรงที่รอยด่างจะออกมาไม่เหมือนกันในการย้อมแต่ละครั้ง เกิดเป็นความสวยงามจากธรรมชาติที่แตกต่างกันไป ซึ่งเหมือนกับที่คนเรามีความเป็นตัวของตัวเอง แตกต่างกันไป
ผู้ทีได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายพรชัย แป้นคุ้มญาติ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน Circuitiles ที่ควบรางวัล Popular Vote ไปด้วยเช่นกัน
แนวคิดการออกแบบเกิดจากคอนเซ็ปต์ของการประกวดที่ว่า “Tiles that reflect your style.” คือการออกแบบกระเบื้องที่สะท้อนความเป็นตัวเอง จึงออกแบบผลงานในคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงสะท้อนความเป็นตัวเขาเอง แต่ยังสะท้อนไปถึงคนในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีนั้นไม่มีวันตาย เขาจึงมีความคิดที่ว่า หากออกแบบกระเบื้องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ยุคปัจจุบัน ทุกคนก็จะเปิดใจยอมรับในผลงานของเขา เช่นเดียวกับที่ยอมรับในเทคโนโลยี
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายอนุสรณ์ แพงสาย นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงาน Kular Series
ที่มาของ Kular Series มาจากทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านเกิดของเขาที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ภายใต้ความแห้งแล้งที่มองเห็นภายนอกนี้มีความงดงามซ่อนอยู่ แม้ว่าพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นเพียงพื้นที่ทุรกันดารในสายตาของผู้อื่นก็ตาม
นำรอยแตกของดินมาใช้เป็นลวดลายของกระเบื้องปูพื้น ลายของผนังแทนร่องรอยของเปลือกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามทุ่งนา ใช้เรขาคณิตเป็นรูปทรงในการออกแบบ เพราะเป็นรูปทรงที่เรียบง่าย โดดเด่น สื่อถึงความทันสมัย เปรียบดั่งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ห่างไกล นำความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม สีที่ใช้เป็นสีเอิร์ธโทน ซึ่งให้ความรู้สึกอบอุ่นเช่นเดียวกับความรู้สึกเมื่ออยู่บ้าน หรืออยู่กับครอบครัว โดยดึงเอาสีสันที่โดดเด่นที่สุดในช่วงหน้าแล้ง คือสีของต้นไม้และพื้นดิน มาใส่ในชิ้นงาน
ผลงาน 5 ชิ้น ที่ผ่านเข้ารอบการคัดเลือกรอบสุดท้าย
ผลงาน 10 Finalists