ความยั่งยืนคืออะไร? หลายคนคิดว่ามันต้องดูล้ำ ใช้เทคโนโลยีใหม่ ใช้นวัตกรรมที่สร้างมาเป็นพิเศษเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนวันนี้คำว่ายั่งยืนดูแล้วห่างไกลเสียจนเราไม่มีทางเข้าถึง

วันนี้ BuilderNews พาทุกคนมารู้จักความยั่งยืนที่เรียบง่ายไม่ยากเย็นจากสถาปัตยกรรมใกล้บ้านเราอย่างประเทศมาเลเซียที่เพิ่งได้รับรางวัล Trends Excellence Awards for Architecture & Design สาขา Sustainable Award จากนิตยสารมุมไบมาฝาก งานชิ้นนี้จะทำให้พวกเรารู้ว่า “ยั่งยืน” ไม่จำเป็นต้อง “ยากเย็น” เสมอไป แต่ต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัยให้ได้อย่างแท้จริงต่างหาก

Etania Green School คือชื่อของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ ตั้งอยู่ในซาบาห์ หนึ่งในหมู่เกาะบอร์เนียวประเทศมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบการเรียนการสอนให้เด็กวัย 5-13 ปีจากครอบครัวของทั้งผู้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนทำงานถูกกฎหมายและเหล่าโรบินฮู้ด หรือคนที่ย้ายเข้าไปหางานทำที่มาเลเซียแบบผิดกฎหมาย เพราะเด็ก ๆ ที่อยู่ในครอบครัวไม่เพียงขาดโอกาสเข้าถึงสิทธิ์การเป็นพลเมือง แต่ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ เพื่อใช้สมัครเข้าเรียนรับการศึกษาตามปกติด้วย

จากจุดประสงค์การสร้างที่ทำเพื่อเพื่อซัพพอร์ตการเรียนรู้ของลูกหลานผู้อพยพจนกว่าจะเข้าเรียนได้ตามปกติ ฟังแล้วอาจจะมองได้ 2 มุม ทั้งดีและไม่ดี เอาเป็นว่าเรื่องนี้เราจะไม่ขอถกเถียงเพราะมันก็เป็นเรื่องนานาจิตตัง แต่ฝั่ง Etania Green School นี้ได้ร่วมมือกับ Harvard Business School จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ และพวกเขาก็มองว่าที่นี่จะเป็นต้นแบบที่แรกให้กับอีก 30 โรงเรียนทั่วซาบาห์

ถ้าดูจากหน้าตาครึ่งไม้ครึ่งคอนเทนเนอร์แบบนี้ หลายคนคงรู้สึกแปลกตาเพราะในบ้านเราส่วนใหญ่จะเห็นภาพเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้มากกว่า แถมยิ่งสถาปนิกมาดูการตกแต่งแบบองค์รวมก็คงรู้สึกว่า ง่ายกว่าที่คิดเยอะเพราะไม่ได้ตกแต่งอะไรมาก แต่ที่มาของรางวัลมันอยู่ที่คอนเซ็ปต์และฟังก์ชันการใช้งาน ที่บอกเลยว่าแค่เริ่มต้นเขาก็มาถูกทางแล้ว ยิ่งมาลงลึกเรื่องวัสดุกับประโยชน์ยิ่งชัดว่างานสถาปัตย์ที่ยั่งยืนส่วนหนึ่งมาจากการเลือกวัสดุอย่างชาญฉลาดเหมาะสมด้วย

โรงเรียนหนีน้ำ ด้วยคอนเทนเนอร์

อย่างที่เราบอกว่าพื้นที่ที่ตั้งอยู่มันเป็นหมู่เกาะ เมื่อโรงเรียนต้องตั้งในพื้นที่ริมน้ำส่วนใหญ่มักจะเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากประวัติการสำรวจพื้นที่ในอดีต พื้นที่ที่ตั้งอยู่นี้ต้องประสบเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่อย่างน้อย ๆ หนึ่งครั้งในรอบ 10 ปี ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ Etania Green School เลยใช้วิธีปลูกโรงเรียนแบบยกพื้นด้วยการซ้อนคอนเทนเนอร์ไว้ด้านล่าง ทำให้อาคารทั้งหลังไม่เสียหายจากเหตุน้ำท่วม ซึ่งรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมยกพื้นแบบนี้พบเห็นได้ตามสถาปัตยกรรมท้องถิ่นทั่วไป ในบ้านเราเองก็ใช้ภูมิปัญญานี้เหมือนกัน ถ้ารื้อเอกสารดูรูปแบบสถาปัตยกรรมอดีตมาเทียบแล้วจะพบได้ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงบ้านเรามักสร้างบ้านมีใต้ถุนยกพื้นเช่นกัน

รีไซเคิลวัสดุคือหนึ่งหนทางแห่งความยั่งยืน

วัสดุที่นำมาใช้ทำโครงสร้างอาคารได้มาจากการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ 5 ตู้ที่ปลดประจำการแล้ว พื้นอาคารด้านบนใช้ไม้รีไซเคิลนำมาสร้าง ส่วนหลังคาด้านบนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาคาร รวมทั้งสร้างระบบรางบนหลังคาที่ใช้น้ำเก็บกักน้ำฝนตามต้องการ

ตัวคอนเทนเนอร์ที่เห็นเขาก็ไม่ได้ปล่อยทิ้งร้างไว้เหมือนของสิ้นสภาพ แต่นำมาใช้ต่อเต็มประสิทธิภาพด้วยการทำเป็นห้องเก็บของและห้องน้ำ ส่วนใต้ถุนอาคารด้านล่างชั้นเรียนที่เปิดโล่ง นำมาแปลงสภาพเป็นโรงอาหารสำหรับกินอาหารกลางวันและใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์

นอกจากนี้รอบอาคารด้านล่างยังมีเนินดินที่ขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อการเกษตรไว้อีกด้วย การใช้สอยของพื้นที่ทั้งในและนอกโรงเรียนจึงสามารถสร้างประโยชน์ได้แทบทุกส่วนเลยทีเดียว

เด็ก โรงเรียน ความสนุก ตัวแปรแห่งการเรียนรู้

ความโดดเด่นที่ลงตัวและอดพูดถึงไม่ได้คือการออกแบบโดยคำนึงถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ควบคู่กัน โครงสร้างถึงแม้ดูง่ายแต่โรงเรียนที่เปิดโล่ง เพิ่มช่องทางเดินขึ้นลงรอบอาคารจากบันไดที่อยู่ด้านข้างตึก หรือทางเข้า-ออกผ่านเนินที่เป็นทางลาดกระตุ้นความรู้สึกน่าค้นหาและท้าทาย สอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียน

นอกจากนี้ ระหว่างห้องเรียนใหญ่ทั้ง 2 ห้องที่เปิดโล่ง ยังมีห้องเล็กตรงกลางเป็นห้องเชื่อมสำหรับทำกิจกรรมกลุ่มย่อยอีกสองห้อง ซึ่งเป็นห้องที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้านการเรียนรู้ เพราะทุกวันนี้นักเรียนที่มีวัยแตกต่างกันเรียนรวมกัน ห้องนี้จึงแปรเป็นห้องสำหรับการจัดการด้านอื่น ทั้งการทำกิจกรรมกลุ่มและเป็นห้องพักอ่านหนังสือแบบสบาย ๆ

สถาปัตยกรรมไม่ซับซ้อนแต่มีคอนเซ็ปต์และการเลือกใช้วัสดุที่เจ๋งพอ ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป แต่ต้องตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัย ดังนั้นวัสดุ หากเรารู้คุณสมบัติของมันและนำไปใช้ให้ถูกที่ จะสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้เป็นโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก

https://www.archdaily.com/908710/etania-green-school-architecture-brio-plus-billionbricks

Previous articleโลโก้ใหม่ IKEA กับการออกแบบเพื่อรองรับอนาคตในโลกดิจิทัล
Next articleCLIP เทคโนโลยีเปลี่ยนจักรยานเป็น e-bike