วันนี้เมืองออกแบบที่อยู่อาศัยแนวตั้ง ผู้คนอยู่ตามคอนโดเพราะผู้คนหนาแน่น สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปคือการส่งสัญญาณเตือนว่าเรากำลังใกล้ถึงจุดขาดแคลนสีเขียวและ “อาหาร” เข้าไปทุกที

เมืองกลายเป็นพื้นที่วิกฤตที่ผลิตอาหารเองไม่ได้ แต่ต้องรับมาจากพื้นที่รอบนอกเพราะไม่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จากปัญหานี้เองจึงทำให้ Framlab นำเสนอนวัตกรรมแก้ปัญหาการทำเกษตรในเมืองที่เรียกว่า ‘Glasir’ ขึ้นในเมือง Brooklyn โดยสร้างมันออกมาให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนต้นไม้

Glasir คือสถาปัตย์ที่ออกแบบมาเพื่อทำเกษตรบนต้นไม้ด้วยระบบ Aeroponic โดยออกแบบให้เราสามารถทำเกษตรกรรมในมหานครทุกแห่งได้จากความยืดหยุ่นด้านการออกแบบ เพราะบริเวณที่ใช้สำหรับปลูกคือพื้นที่แคบตามแนวทางเท้า ใช้ขนาดเท่ากับการปลูกต้นไม้หนึ่งต้น นำมาสร้างฟาร์มกระจกในแนวตั้งเพื่ออาศัยความชื้นของน้ำจากต้นไม้ยามคายน้ำหลังจากสังเคราะห์แสงมาหล่อเลี้ยงพืชด้านในให้เติบโต

ระบบ Aeroponic (แอโรโพนิก) หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นชื่อมานักเพราะเราชินกับการทำการเกษตรแบบ Hydro Ponic มากกว่า Aeroponic ก็เป็นหนึ่งในวิธีการปลูกพืชในอากาศและไม่ใช้ดินเช่นกันเพราะกระบวนการของการปลูกพืชนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศหรือหมอก ปล่อยรากพืชเปลือยโดยไม่ได้แช่อยู่ในน้ำจากนั้นจะมีการฉีดพ่นสารละลายธาตุอาหารในรูปของละอองน้ำไปที่รากพืชโดยตรงและใช้กระบวนการสังเคราะห์แสงจากดวงอาทิตย์ตามปกติ แต่จุดอ่อนของพืชที่นำมาปลูกเหล่านี้คือห้ามให้รากรับแสงโดยตรง จึงต้องสร้างเกราะไว้กำบังแสงบริเวณรากไว้

ปริมาณการใช้น้ำสำหรับการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ

ข้อดีของสวนแนวตั้งอย่าง Glasir และระบบ Aeroponic อีกด้านที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ดึงน้ำจืดสำหรับบริโภคไปใช้เป็นจำนวนมากและคนมักจะคิดว่าการทำเกษตรกรรมเป็นเรื่องเปลืองน้ำ เพราะไม่ว่าจะเป็นการปลูกลงดินธรรมดา (Geoponic) หรือการใช้ระบบ HydroPonic ที่ใช้น้ำเป็นเส้นเลือดใหญ่สำหรับหล่อเลี้ยง ต่างต้องใช้น้ำเยอะทั้งคู่ แต่การเกษตรหรือการทำฟาร์มแนวตั้งสไตล์ Aeroponic นั้นจะช่วยทำให้น้ำถูกหมุนเวียนใช้อย่างคุ้มค่า และใช้ในปริมาณเพียงนิดเดียวเท่านั้น

ถัดจากเรื่องระบบเกษตรมาเรื่องการออกแบบ ถ้าลองกางแปลนออกมาเราจะเห็นว่าเจ้า Glasir นี้เขาวางแนวทางการออกแบบให้ต่อเติมขึ้นไปในแนวตั้งและแผ่ขยายด้านบน ดังนั้นพื้นที่ด้านล่างที่เปรียบเสมือนลำต้นของต้นไม้จึงใช้เพียงพื้นที่แคบ ๆ ไม่บดบังเส้นทางสำหรับการสัญจรของผู้คนจึงค่อนข้างเหมาะกับคนเมือง

ส่วนวัสดุหลักอย่างกระจกใสหลากสีที่เปลือยให้เห็นพืชพรรณด้านใน วางแล้วดูกลมกลืนลงตัวเพราะทันสมัยก็ไม่ได้คิดมาเพื่อสร้างความสวยงามอย่างเดียว แต่เป็นตัวกรองแสงไม่ให้ส่องโดนรากไม้โดนตรงอีกด้วย

เหตุผลที่เรายกโมดูลนี้มาเป็นหนึ่งในตัวอย่าง เพราะการออกแบบที่ดีต้องเป็นการแก้ปัญหาการใช้ชีวิตของผู้คน หลังจากปรับพฤติกรรมการอยู่อาศัย ลด ละ เลิกการกระทำที่ทำร้ายธรรมชาติแล้ว แนวทางที่สำคัญอื่นอย่างการเพิ่มแหล่งอาหารในพื้นที่จำกัดโดยใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน

โมดูลการออกแบบรูปแบบการเกษตรแบบ Aeroponic เพื่อเมืองหลวงแบบนี้ เชื่อว่าจะต้องเป็นรูปแบบสำคัญในการออกแบบที่สถาปนิกต้องเรียนรู้และปรับตามทั่วโลกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมืองไทยถ้าฟุตบาตเปลี่ยนจากการทยอยตัดต้นไม้เวลากิ่งก้านเกี่ยวสายไฟมาทำการเกษตรแนวนี้ซึ่งสามารถ shape กิ่งก้านและการขยายตัวได้ เราว่าน่าจะรุ่ง!

 

 

all images courtesy of framlab

อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล:

  1. https://www.designboom.com/design/glasir-framlab-tree-assembles-brooklyn-vertical-farming-modular-agriculture-system-02-09-2020/
  2. https://hyodroponicchk.wordpress.com/2014/09/04/3-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8aeroponics/
Previous article“Bauhaus” สถาบันการศึกษาด้านศิลปะระดับนานาชาติ
ที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะในยุคปัจจุบัน
Next articleสร้างงาน สร้างรายได้ ขยายธุรกิจให้กับนักออกแบบ
ผ่านอินสตอลเลชันรูปแบบร้าน “สะดวกซื้อ”