ท่ามกลางหลากหลายโครงการที่มีความน่าสนใจพร้อมรางวัลการันตีมาแล้วมากมายของ OFFICE AT ยังมีอีกโครงการที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในเรื่องของโครงสร้าง ซึ่งก็คือ โครงการกลาสเฮาส์แอ๊ดสินธร โดยโครงการนี้ได้รับรางวัล The Special Mention Project in Annual Architizer A+Awards : Mixed Use Categories 2016 และ รางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ประเภทอาคารพาณิชยกรรมและอาคารสำนักงาน ประจำปี พ.ศ. 2559 นี้อีกด้วย

“ตึกสินธรตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าทำเลทองของกรุงเทพฯเลยก็ว่าได้ พื้นที่รวมของอาคารประมาณ 30,000 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันรูปลักษณ์ภายนอกของตึกสินธรเริ่มล้าสมัยไปแล้ว หากเพียงแค่ปรับปรุงผนังอาคารก็อาจจะไม่เห็นผลที่ชัดเจนมากนัก ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของเจ้าของโครงการ จึงตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าถ้าหากสามารถสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแลนด์มาร์คได้ก็คงจะดีไม่น้อยและทำให้พื้นที่นี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงเป็นที่มาของไอเดียในการสร้างพื้นที่ส่วนหน้าโครงการให้เป็นร้านอาหาร fine dining เพิ่มกิจกรรมและการสัญจรขึ้นมา ซึ่งถ้ามองกันในเรื่องของจำนวนเม็ดเงินที่ลงทุนไปกับการทำพื้นที่เป็นร้านอาหารนั้นเรียกได้ว่าไม่มีทางคืนทุนในเร็ววันแน่นอน แต่หากมองในมุมที่ว่าพื้นที่บริเวณนี้จะสามารถเปลี่ยน identity ของตึกสินธรให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาค่าเช่าพื้นที่ของตึกสินธรให้สูงขึ้นได้นั้นก็นับว่าคุ้มค่ามากเลยทีเดียว

OfficeAT Glasshouse 28

จากมุมมองของระดับสายตาปกติ อาคารที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่นี้จะมีความสูงประมาณ 15 เมตร ซึ่งจะกลายเป็นหน้าตาของตึกไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นพื้นที่ส่วนนี้ก็จะมีความสำคัญมากเลยทีเดียว และมันจะเป็นเพียงแค่ร้านอาหารธรรมดาไม่ได้ ในตอนแรกโปรแกรมการออกแบบคือจัดพื้นที่โดยแบ่งเป็นร้านอาหารจำนวน 4 ร้าน ขนาดพื้นที่ร้านละ
200 ตารางเมตร ถ้าเราจัดให้ร้านติดกันหมดจะส่งผลให้แต่ละร้านมีความได้เปรียบเสียเปรียบไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงออกแบบให้ทั้ง 4 ร้านแยกออกจากกัน มีทางเข้าและมีผนังด้านข้างเป็นของตัวเอง โดยเพิ่มในส่วนของ CIGAR BAR ไว้ตรงกลาง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร และอีกจุดประสงค์หนึ่งที่แยกออกเป็น 4 ก้อนก็เพื่อให้มุมมองของคนจากหน้าโครงการนั้นสามารถมองทะลุไปยังตึกสินธรที่อยู่ด้านหลังได้

OfficeAT Glasshouse 04

diagram5 diagram8 diagram9 diagram10a res-ex2 sectionglass2880

เมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็นร้านอาหาร 4 ร้านแล้ว หากว่าเราจะทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยม 4 ก้อนวางเรียงกันมันคงไม่น่าสนใจเท่าไรนัก เราต้องการให้ก้อนทั้งหมดนี้สามารถเป็นไอคอนที่ดึงดูดสายตาได้ จึงทำให้เป็นลักษณะเหมือนก้อนคริสตัล มีรูปทรงที่น่าสนใจมีเหลี่ยมมุมเหมือนเพชร มีความแตกต่างและโดดเด่นในตัวเอง โดยผนังทั้งหมดเป็นกระจกใส และอีกสาเหตุหนึ่งที่เลือกใช้กระจกคือเพื่อให้ไม่บังอาคารเดิมด้วย แต่ในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยถ้าเราเอาก้อนกระจกเหล่านี้มาวางไว้เฉย ๆ มันคงจะไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง วิธีแก้ปัญหานี้คือ เราก็กลับมามองถึงอัตลักษณ์หรือความ
โดดเด่นของถนนวิทยุนั่นก็คือ ต้นไม้ ซึ่งแทบจะเป็นถนนสายเดียวในกรุงเทพฯ เลยที่มีต้นไม้ใหญ่และร่มรื่นมาก ดังนั้นถ้าเราทำให้เกิดบรรยากาศเหมือนนั่งทานข้าวใต้ต้นไม้ก็น่าจะดี จึงเป็นที่มาของตัวหลังคาด้านบนที่มีลักษณะหรือองค์ประกอบที่คล้ายต้นไม้ ให้ความรู้สึกร่มรื่นสร้างร่มเงาทำหน้าที่บังแดดโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นหลังคา โดยมีหลังคากระจกด้านล่างทำหน้าที่กันฝน

OfficeAT Glasshouse 15

และหากเราลองพิจารณาในเรื่องของสัดส่วนหรือสเกลที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ การจะออกแบบโดยให้มีเสาเยอะ ๆ มันจะไม่สามารถตอบโจทย์ในส่วนนั้นได้ เพราะโดยปกติแล้วต้นไม้ใหญ่ก็ต้องมีการแผ่กิ่งก้านสาขา ด้วยพื้นที่ทั้งหมดนั้นมีความยาว 90 เมตร จึงออกแบบให้มีเสาแค่เพียง 3 ต้น สแปน 25 เมตร หลังคาและโครงสร้างยื่นยาว (cantileve) ออกจากเสาอีกข้างละ 20 เมตร ซึ่งจะคลุมทั้ง 4 ก้อนนี้ได้พอดี เพราะถ้าหากมีเสาถี่กว่านี้ก็จะไม่ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ และมันอาจจะไปทำให้ความสวยงามของก้อนคริสตัลลดลงอีกด้วย

ทางเราก็มีการปรึกษากับวิศวกรโครงสร้างด้วยถึงความเป็นไปได้ตั้งแต่เริ่มออกแบบ ซึ่งเป็นวิศวกรที่มีประสบการณ์สูงและทำงานด้วยกันมานานได้ช่วยออกแบบโครงสร้างในส่วนนี้ด้วย การทำโครงสร้างยื่นออกมาจากเสายาวถึง 20 เมตรนี้เป็นเรื่องค่อนข้างท้าทายพอสมควรในเชิงวิศวกรรม

OfficeAT Glasshouse 26

นอกจากนี้ ข้อจำกัดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ บริเวณพื้นที่เดิมนั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่ซึ่งถ้าเราทำโครงสร้างธรรมดา คานจะพาดไปโดนต้นไม้พอดี ดังนั้นเพื่อเก็บรักษาไว้ทั้งต้นไม้และโครงสร้างที่เราต้องการ จึงมีการพลิกแพลงหาทางออก โดยเลือกใช้โครงสร้างเหล็กนำมาประกอบกันเป็นหน้าตัดต่าง ๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ โดยโครงสร้างหลักได้วางทแยงเป็นรูปกากบาท เพื่อช่วยรับแรงบิดของโครงสร้างและเพื่อหลบต้นไม้ใหญ่ที่เราตั้งใจเก็บรักษาเอาไว้ด้วย

และเพื่อให้รูปลักษณ์ดูเป็นกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ เราจึงทำระแนงเหล็กหรือเหล็กประดับที่มีรูปลักษณ์เหมือนกิ่งไม้ห้อยไว้กับตัวโครงสร้างหลังคาด้วย ซึ่งมันก็กลับไปตอบโจทย์ในด้านวิศวกรรมในแง่ของการถ่วงน้ำหนักด้วย โดยปกติการยื่นยาวลักษณะนี้ นอกจากเรื่องของการรับน้ำหนักแล้ว ยังมีเรื่องของแรงลมที่มากระทำจากด้านล่างของหลังคาอีกด้วย ในสภาพอากาศปกติอาจจะไม่เป็นปัญหา แต่หากมีพายุฝนมา มันจะทำให้ตัวหลังคากระพือหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ โดยเหล็กที่มาประดับในส่วนนี้จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับหลังคาเพื่อป้องกันการกระพือเมื่อเจอแรงลมได้

OfficeAT Glasshouse 29

ในส่วนของเหล็กประดับ เนื่องจากแต่ละชิ้นจะมีรูปฟอร์มเฉพาะตัว ดังนั้นการตัดเหล็กแบบแฮนด์เมดตามปกตินั้นจะเป็นไปได้ยากมาก จึงต้องใช้เครื่อง CNC เท่านั้น ซึ่งค่าตัดจะแพงมากโดยราคาค่าแรงจะคิดเป็นรายชั่วโมง วิธีประหยัดคือเราต้องจัดเรียงชิ้นงานด้วยโปรแกรม Auto Cad ไปให้ทางช่างตัดตามแบบ โดยเราก็จะคำนวณว่าทำอย่างไรให้ประหยัดที่สุด เพื่อให้สามารถประหยัดทั้งเหล็กและระยะเวลาในการตัดชิ้นงานไปพร้อมกัน ซึ่งผลสุดท้ายที่ออกมาก็น่าประทับใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ทางโครงการก็มีทีมวิศวกรมาร่วมออกความเห็นและช่วยเหลืองานในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ในขั้นตอนสุดท้ายแม้ว่าจะมีการปรับแบบให้หลังคาจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นไม้แล้ว แต่เราก็ยังคงคอนเซ็ปต์ในการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมไว้เช่นเดิมเพราะโครงสร้างลักษณะนี้จะช่วยเป็น bracing ไปในตัว ถ้าไม่มีเราก็ต้องไป
หาทางเพิ่มด้วยวิธีอื่นอีกอยู่ดี

OfficeAT Glasshouse 33

โครงสร้างของก้อนคริสตัลก็เป็นโครงสร้างเหล็กเช่นกันและก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากผนังมีความเอียง เสาก็จะเอียงไปตามองศาของกระจก เพื่อให้สเปซด้านในมีมิติและเพื่อการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับผู้รับเหมาของโครงการนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือ ไทย โอบายาชิ ที่ทำออกมาได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว ส่วน
เฟรมอะลูมิเนียมเองก็มีการเสริมเหล็กด้านในเพื่อเพิ่มความแข็งแรงอีกด้วย สำหรับขั้นตอนการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นโครงสร้างเหล็ก ทางโอบายาชิได้ทำมอคอัพเพื่อทดสอบการใช้งานจริงก่อน โดยมีการเทสต์และคำนวณค่าความแข็งแรงต่าง ๆ แล้วจึงถอดประกอบตัวโครงสร้างนี้ย้ายมาติดตั้งที่ไซต์งาน

ในส่วนของผนังนั้น เนื่องจากเราต้องการใช้กระจกที่ขนาดใหญ่ที่สุด คือ ขนาด 1.2 เมตร x 2.4 เมตร ซึ่งมักจะมีการ buckling เกิดขึ้น ทางวิศวกรเองก็ต้องคำนวณว่าตรงไหนต้องเสริมซับเฟรมเป็นอย่างดีด้วย และต้องมีการเทสต์ค่าการรับแรงต่าง ๆ เช่นกัน โดยผนังกระจกด้านข้างใช้เป็น Heat strenght ทั้งหมด ในส่วนของหลังคาจะใช้กระจก Ceramic frit เพื่อช่วยกันความร้อน และเนื่องจากมันเป็นลายจุดจึงช่วยพรางตาบังฝุ่นที่มาเกาะได้อีกด้วย ในการออกแบบขั้นต้น ความตั้งใจเดิมคืออยากให้เป็นก้อนกระจกใสทั้งหมด แต่มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีส่วนทึบที่เป็นงานระบบ ครัว ห้องน้ำ เพราะพื้นที่ขนาด 200 ตารางเมตรนั้นไม่ได้กว้างขวางมาก ถ้าจัดให้ส่วนเซอร์วิสอยู่ตรงกลางจะทำให้พื้นที่ที่เป็นส่วนรับประทานอาหารนั้นเหลือน้อยเกินไป เพราะต้องกลายเป็นทางเดินเสียส่วนใหญ่ พื้นที่ระหว่างร้านเราก็จัดให้เป็น terrace มีพื้นที่นั่งภายนอกได้เกิดเป็นกิจกรรม มีผู้คนมาใช้งาน นั่งทานอาหาร พักผ่อน เป็นจุดนัดพบ และเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของถนนสาธร ตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งไว้ในตอนแรกของเจ้าของโครงการครับ”

รายละเอียดโครงการ

ชื่อโครงการ: Glasshouse at Sindhorn
ที่ตั้งโครงการ: ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
เจ้าของโครงการ: บริษัท สยามสินธร
พื้นที่ใช้สอย: 1,650 ตารางเมตร
ปีที่เริ่มออกแบบ: 2014
ปีที่ก่อสร้างเสร็จ: 2015
ทีมงานผู้ออกแบบ: บริษัท ออฟฟิศ เอที จำกัด
คุณสุรชัย เอกภพโยธิน, คุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ,
คุณนัทธี อนุโยธา, คุณชลธี มะยุระรักษ์
วิศวกรโครงสร้าง: คุณสราวุธ ย่วนเต็ง
วิศวกรงานระบบ: บริษัท มิตรเทคนิคัลคอนซัลแท้นท์ จำกัด
ผู้รับเหมา: Thai Obayashi Corp.,Ltd.
ช่างภาพ: W workspace

โครงสร้างเหล็กในงาน GLASSHOUSE @ SINDHORN

Capture1

ดังที่เกริ่นไว้แล้วในตอนต้นคืออาคารหลังนี้มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในเรื่องของโครงสร้าง ซึ่งมีการผสมผสานที่ลงตัวทั้งในด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และการตกแต่งได้อย่างปราณีตและลงตัวเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ต้องการคงคอนเซ็ปต์เรื่องอัตลักษณ์ของถนนสีลมคือเป็นถนนที่ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่มากมาย โดยการดีไซน์พื้นที่บริเวณนี้ให้ผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนมีความรู้สึกเสมือนนั่งรับประทานอาหารอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ด้วยพื้นที่ที่มีความยาวถึง 90 เมตร กว้างเกือบ 20 เมตร แต่มีเสาเหล็กขนาด 400 x 1,000 มิลลิเมตร หนา 16 มิลลิเมตร (SB-11) แค่เพียง 3 ต้นเท่านั้น โดยมีช่วงเสา (span) กว้าง 25 เมตร 2 ช่วง และมีการยื่นยาวเป็นพิเศษ (Cantilever) ทั้ง 2 ข้าง อีกถึงข้างละ 20 เมตร

Capture3

ด้วยความยาวของหลังคาที่มากเป็นพิเศษนี้ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กวางทแยงเป็นรูปกากบาทหรือตัว X ซึ่งเป็นเหล็กขนาด 350 x 800 มิลลิเมตร หนา 16 มิลลิเมตร (SB-6) วางเป็นคานหลัก เพื่อช่วยรับน้ำหนักทั้งหมดของโครงหลังคา ในขณะเดียวกันก็สามารถรับแรงบิดของโครงสร้างได้ด้วยและอีกสาเหตุหนึ่งคือเพื่อให้คานหลักหลบต้นไม้ใหญ่เดิมในพื้นที่ได้ โดยจุดที่เชื่อมต่อกับเสานั้น ได้มีการออกแบบให้ใช้โครงเหล็กเชื่อมต่อจากเสาแล้วเอียงออกมารับน้ำหนักจากคานตัว X โดยมีรูปทรงที่เรียวเล็กลงในส่วนปลาย ทำให้มีลักษณะเหมือนต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกมาจากลำต้น โดยเหล็กชิ้นดังกล่าวมีขนาด 350-400 มิลลิเมตร x 400-800 มิลลิเมตร หนา 16 มิลลิเมตร (SB-10)

Capture4 Capture5

ในส่วนของด้านกว้างนั้นมีเหล็กคาดเสริมการรับแรงจำนวน 19 ชิ้น วางเฉลี่ยตลอดระยะความยาว 90 เมตร ซึ่งเหล็กในส่วนนี้ใช้คอนเซ็ปต์เดียวกับเหล็กในจุดเชื่อมต่อระหว่างเสากับคาน นั่นก็คือทำให้ส่วนปลายเรียวเล็กลงเปรียบเสมือนกิ่งของต้นไม้ โดยเหล็กมีขนาด 350 x 700 มิลลิเมตร หนา 16 มิลลิเมตร ในส่วนที่ติดกับคานหลัก และเรียวลงเหลือ 350 x 400 มิลลิเมตร หนา 16 มิลลิเมตร (SB-8) ในส่วนปลายด้านนอก ซึ่งด้านนอกของตัวเหล็กคาดเสริมแรงปิด
ด้วยเหล็กขนาด 200 x 500 มิลลิเมตร หนา 9 มิลลิเมตร (SB-4) นอกจากทำหน้าที่เก็บความเรียบร้อยแล้วยัง
ช่วยทำให้โครงทั้งหมดแข็งแรง (rigid) ขึ้นด้วย

นอกจากโครงสร้างที่ตอบโจทย์ทางวิศวกรรมแล้ว ในส่วนของระแนงหรือเหล็กประดับนั้นก็เป็นส่วนที่สร้างจุดเด่นให้กับโครงการอย่างมาก ด้วยการใช้ระแนงเหล็กขนาด 10 x 20 เซนติเมตร หนา 3.2 มิลลิเมตร พ่นสีอุตสาหกรรมสีขาว นำมาจัดวางให้มีระดับที่แตกต่างกันตลอดแนวอาคาร จำนวน 31 แถว เพื่อสร้างความรู้สึกเคลื่อนไหว (Movement) เชื่อมติดกับโครงสร้างเหล็กด้านบนด้วยเหล็กกลมสร้างสรรค์เป็นบรรยากาศประหนึ่งราวกับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ และระแนงเหล็กเหล่านี้ยังช่วยถ่วงน้ำหนักในการต้านแรงลมที่พัดจากด้านล่างป้องกันการกระพือให้กับโครงสร้างหลังคาอีกด้วย

หลังคาด้านบนเป็น Metal Sheet วางบนแปเหล็กรูปตัวซี โดยทำรางน้ำไว้ตรงกลาง และยกหลังคาเหล็กบริเวณด้านข้างให้สูงขึ้นเล็กน้อยให้มีลักษณะเหมือนหลังคาปีกผีเสื้อ ทั้งนี้เพื่อในเวลาที่ฝนตกหนัก น้ำฝนจะได้ไม่ไหลตกลงมามากเกินไปที่บริเวณชายคา ซึ่งอาจทำให้ไม่สวยงามและสร้างความไม่สะดวกให้กับผู้ที่มาใช้งานในอาคารได้

Capture6 Capture7

 

อ่าน: ‘OFFICE AT’ รางวัล จากความรักในการทำงาน (ตอนที่ 1)

นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous articleTetraPOT แบริเออร์นวัตกรรมล่าสุด สร้างพื้นที่ป่าโกงกางป้องกันคลื่นตามชายฝั่ง
Next articleเมืองใหม่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (New Town & Special Economic Zone)
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร