ตามปกติ “อิฐ” ที่เราเห็นมักทำขึ้นจากการผสมระหว่างดินเหนียว แกลบ ทราย และน้ำ นวดให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว กดใส่ลงในแบบพิมพ์ แล้วนำเข้าเตาเผา ก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมอยู่อาศัยปกป้องเราจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่อาจมารบกวนวัสดุแยกระหว่างเรากับธรรมชาติออกจากกัน นี่คือพื้นที่ของมนุษย์ นี่คือพื้นที่ของสิ่งแวดล้อม แต่จะดีแค่ไหนถ้าวัสดุทางสถาปัตยกรรมไม่จำกัดพื้นที่การอยู่อาศัยเฉพาะมนุษย์เพียงอย่างเดียว

 “Green Charcoal” คือ ชื่อเรียกอิฐเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ Bio Brick จากผลงานของนักวิจัยที่โรงเรียนการออกแบบและนวัตกรรมของอินเดียในเมืองมุมไบ ที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้พืชและแมลงต่าง ๆ สามารถเติบโตและใช้ชีวิตบริเวณผิวของมันได้

Shreyas More เผยแนวการออกแบบว่าเป็นการนำหลัก biophilic design ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการเชื่อมต่อที่แข็งแรงระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับคนเมืองได้เป็นอย่างดี โดยกล่าวอธิบายว่า “ในพื้นที่ชีววัตถุ ผู้คนมีความสุขมากขึ้น ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า ขณะที่ยอดค้าปลีกสูงขึ้น ความกระตือรือร้นในการทำงานก็เพิ่มเพราะคนลางานน้อยลง ถ้าด้านหน้าของอาคารแต่ละหลังใช้กำแพง Green Charcoal ต่อเนื่องยาวไปถึงถนนทุกสาย พวกเขาไม่ต้องกำจัดมลพิษทางอากาศและควบคุมอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ด้วย แถมยังสร้างแรงบันดาลใจเชิงบวกให้สังคม”

ทีมมองว่าก้อนอิฐเป็นการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ดิน ซีเมนต์ ถ่าน และใยบวบอินทรีย์ หรือใยบวบที่เรานิยมนำมาขัดตัวเวลาอาบน้ำคือส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตนวัตกรรมชนิดนี้ โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญอย่างใยบวบที่นำมาใช้เพราะมันคือวิธีสร้างช่องเก็บกักอากาศไว้ในอิฐทุกก้อน ทำให้อิฐเหล่านี้สามารถกักเก็บลมได้มากกว่าบล๊อกมาตรฐาน เนื่องจากมีรูพรุนมากกว่าถึง 20 เท่า จากฟองอากาศที่อยู่ในช่องว่างธรรมชาติภายในใยบวบ และสิ่งนี้ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ทั้งสัตว์และพืชสามารถใช้พื้นที่พักอาศัยได้

Shreyas More และ Meenal Sutaria ที่เป็นผู้นำโปรเจกต์เผยว่า ไม่เพียงแค่เป็นที่พักให้กับพืชและแมลง อีกสิ่งที่สำคัญและยังคงทำให้อิฐธรรมชาติเจ๋งกว่าอิฐทั่วไปคือ อิฐสีเขียวที่ใยบวบทำหน้าที่เหมือนแทงก์เก็บน้ำขนาดนับพันที่ช่วยลดอุณหภูมิและทำให้ภายในอาคารเย็นสบายด้วย ขณะเดียวกันใยบวบที่มีความยืดหยุ่นยังทำให้ไม่ต้องเสริมโลหะผสม

อิฐไม่จำเป็นต้องเสริมแรงเนื่องจากใยบวบให้การสนับสนุนโครงสร้าง

นอกจากนี้พวกเขายังคำนึงถึงด้านสุขภาพและความแข็งแรงของการประดิษฐ์นวัตกรรมชิ้นนี้มาเพื่อใช้สำหรับโครงสร้างด้วยจึงนำถ่านในปริมาณไม่มากมักมาใช้บนผิวหน้าของอิฐ เพื่อให้มันทำหน้าที่ชำระอากาศให้บริสุทธิ์โดยดูดซับไนเตรตซึ่งเป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมสำหรับพืชที่กำลังเติบโต

ด้านน้ำหนักถ้ามองจากส่วนประกอบที่นำมาใช้บอกได้เลยว่าเบาอย่างแน่นอน แถมยังย่อยสลายได้ด้วย ที่สำคัญคีย์อีกอย่างคือการใช้คอนกรีตในปริมาณน้อยกว่าปกติ น้อยกว่าปกติแล้วดียังไง? ใครที่อยู่ในวงการวัสดุคงตอบได้ทันทีเพราะ “คอนกรีต” และกระบวนการผลิตจัดว่าเป็นแหล่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นแม้จะยังจำเป็นต้องใช้เพื่อการประสานทุกอย่างให้ลงตัวแต่พอเป็นปริมาณที่ลดลงก็ถือว่าช่วยได้บ้างแล้ว

Green Charcoal ใช้ส่วนผสมของคอนกรีตน้อยกว่าอิฐทั่วไป

สำหรับคนที่คิดว่า อ้าว? มันก็ยังไม่ zero carbon เลยนี่นา มีแบบ Zero Carbon จริง ๆ บ้างไหม อันที่จริงก็มีเหมือนกัน แต่ว่าเราไม่ได้นำมาเจาะรายละเอียดเหมือนชิ้นนี้ บอกคร่าว ๆ ว่ามันเป็นนวัตกรรมอิฐโฉมใหม่ไร้ความร้อนที่ทำขึ้นจากปัสสาวะ ส่วนตัวคอนกรีตเขาทำขึ้นจากอนุภาคนาโนแครอทแทนและตัวโครงสร้างโครงสร้างที่ปลูกจากเห็ดไมซีเลียม (ฟังแล้วพิลึกกึกกือน่าดู แต่ดูจากหน้าตาเรียกได้ว่าไม่ต่างจากอิฐมวลเบาทั่ว ๆ ไปเลย) เอาเป็นว่าอันนี้เราเก็บเป็นความลับไว้ก่อน แต่ถ้าใครอยากรู้เราจะไปหามาแบ่งปันกัน

รูปภาพจาก courtesy of University of Cape Town.

การแข่งขันวัสดุเพื่อความยั่งยืนกำลังขับเคี่ยวกันมากขึ้น กว่าจะมาถึงบ้านเราหลายอย่างน่าจะได้รับการพัฒนาได้ดีกว่านี้และดีขึ้นเรื่อย ๆ สถาปนิกคนไหนที่เห็นไอเดียก่อนใครจะได้วางแผนให้ดีว่าควรเลือกชิ้นไหนให้เหมาะกับการนำมาสร้างสรรค์งาน ส่วนผู้อยู่อาศัยอย่างเรา ๆ ก็จะได้ทำความเข้าใจประโยชน์ของการเลือกวัสดุชิ้นนั้นมาใช้มากขึ้นด้วย

วันนี้ BuidlerNews ขอลาไปก่อน แต่ถ้าเจอชิ้นไหนเจ๋ง ๆ อีกรับรองว่าไม่พลาดนำมาฝากอย่างแน่นอน

 

 

อ้างอิงที่มาข้อมูลจาก

  1. https://www.dezeen.com/2019/07/14/green-charcoal-bricks-loofah-technology-materials/
  2. https://www.dezeen.com/2018/11/06/bio-bricks-human-urine-environmentally-friendly-university-cape-town/

 

Previous article9 ประติมากรรมที่สร้างจากเครื่องพิมพ์คอนกรีต 3 มิติ !
Next article“Biopack” แผงไข่รักษ์โลก ทำจากดินและเมล็ดพืช