หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของจังหวัดเชียงใหม่ คงหนีไม่พ้น “ดอยม่อนแจ่ม” ที่ฤดูหนาวจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ มีจุดหมายเดียวกันคือพักผ่อนและซึมซับธรรมชาติ

ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วย โรงแรม บ้านพัก รีสอร์ต โฮมสเตย์ มากมายหลายแห่ง ทั้งจากคนในพื้นที่และนายทุนต่างถิ่น ที่เข้ามาเพื่อผลประโยชน์ มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

จนเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบจากกรมป่าไม้ พบว่าหลายแห่งนั้น “บุกรุกป่าสงวนและก่อสร้างผิดวัตถุประสงค์” ซึ่งบทสรุปนั้นคือการใช้ไม้แข็ง “รื้อถอน” อย่างเดียว จนล่าสุดก็เกิดการขัดขวางจากชาวบ้านไม่ให้เข้ามารื้อถอน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ถอยร่นกลับไปตั้งหลัก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรื้อถอน เหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เหมือนภาพ Flashback กำลังเกิดขึ้น หนังม้วนเดิมกำลังฉายซ้ำ BuilderNews จึงรวมไทม์ไลน์ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาสรุปไว้ในโพสต์เดียว

 

กำเนิดม่อนแจ่ม
:
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแจ้งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ดอกไม้หลากสีเรียงกันเป็นขั้นบันได สิ่งเหล่านี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ เกิดเป็นกระแสม่อนแจ่มฟีเวอร์ขึ้นมา “ม่อนแจ่ม” โดยมียอดสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 1,350 เมตร

หลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน ชาวบ้านแถวนั้นก็เริ่มทำธุรกิจ ทั้งร้านอาหาร ที่พัก สร้างรายได้ให้กับชุมชนละแวกนั้น รายได้หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนกระเป๋าหนักเริ่มสนใจทำธุรกิจที่พัก “บ้านม่อนม่วน” เป็นหนึ่งชื่อที่เข้ามาทำธุรกิจแรก ๆ

 

กำเนิดบ้านพักตระกูล “ม่อน”
:
เมื่อชื่อของ “ม่อน” โด่งดังในเวลาอันสั้น ที่พักหลายแห่งจึงนำเอาชื่อของม่อนมาใช้นำหน้าชื่อเพื่อให้ล่อไปกับ “ม่อนแจ่ม” ในยุคบุกเบิกของที่พัก ก็จะมีชื่อของ “บ้านม่อนม่วน” หมายถึงดอยแห่งความสนุก หลังจากนั้นก็มีบ้านพักหลากหลายชื่อมาก ทั้ง ม่อนเมฆ ม่อนวิวงาม ม่อนม้ง ม่อนสายลม ม่อนตะวัน ม่อนแดนอิงดอย และม่อนไอดิน เป็นต้น

เค้กม่อนแจ่มเริ่มแบ่งกันหลายมือมากขึ้น นักลงทุนทั้งหลายต่างหาจุดเด่นเสริมให้ที่พักหรือธุรกิจของตัวเอง ไม่ว่าจะราคา ความสะดวกสบาย ความสะอาด ทัศนียภาพที่สวยงาม จนกลายเป็นการสร้างที่ให้พื้นที่ที่ไม่ควรสร้างหรือปัญหาที่ไร้คนรับผิดชอบ

เมื่อนักลงทุนหรือผู้ประกอบการต่างเข้ามากอบโกยกำไรที่ขาดซึ่งความรอบคอบหรือการวางแผนรับรอง วิถีชีวิตชาวบ้านก็เปลี่ยนไป บางคนก็หยุดปลูกพืชผักที่เป็นอาชีพเก่าแก่ หันมาเปิดโฮมสเตย์ ร้านอาหาร หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวแทน “ม่อนแจ่ม” จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา ทั้งขยะเกลื่อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม หนักสุดคือการบุกรุกทำลายป่า

“กรมป่าไม้” จึงเข้ามามีบทบาทครั้งสำคัญ เพื่อทวงคืนความสวยงามและความสมบูรณ์ของป่าไม้บริเวณนั้น จนเกิดการ “จัดระเบียบ” ครั้งใหญ่ขึ้นช่วงต้นปี 63

 

จัดระเบียบ “ม่อนแจ่ม”
:
ธันวาคม ปี 62
– กรมป่าไม้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบการขยายพื้นที่บุกรุกป่าเพื่อก่อสร้างเป็นรีสอร์ตเพิ่มขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการพูดคุยและทำข้อตกลงในการใช้พื้นที่ร่วมกับประชาชนจำนวน 53 ราย และยังตรวจสอบพบผู้ที่เข้ามาบุกรุกดำเนินการรายใหม่เพิ่มอีก 8 รายในพื้นที่ม่อนแจ่ม หากไม่เคารพกติกา จะดำเนินการตามข้อกฎหมายอย่างเข้มงวด

ก่อนปีใหม่ ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง ก็พบปัญหาอีกครั้ง ทั้งการใช้ที่ดินผิดประเภท บุกรุกป่า ซื้อขายเปลี่ยนมือ ลักลอบขุดบ่อขยะในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อเอาขยะไปทิ้ง วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในยุคนั้นลั่นวาจาว่า จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเส้นใหญ่มาจากไหน ไม่ไว้หน้าอย่างแน่นอน

มกราคม ปี 63 – กรมป่าไม้ขีดเส้นตาย สั่งรื้อรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศจำนวน 116 แห่งบนดอยม่อนแจ่ม โดยอธิบดีกรมป่าไม้ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีเพื่อทำการค้า ต้องรื้อถอนทั้งหมด เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมก่อนจัดสรรให้เป็นที่ทำกินของราษฎรต่อไป

เนื้อที่ที่ถูกบุกรุกนั้นรวมประมาณ 363 ไร่ มีทั้งจากนายทุนและนอมินีนอกพื้นที่จำนวน 12 ราย ทั้งหมดถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ขณะเดียวกันยังพบว่ามีรีอสร์ตเปิดใหม่อีก 58 แห่งที่ก่อสร้างอย่างผิดกฎหมาย ต้องรื้อถอนภายใน 30 วันทันที

การสั่งรื้อถอนรีสอร์ตบนดอยม่อนแจ่มมีมาอย่างยาวนาน ตลอดระยะเวลาที่เริ่มมีการตรวจสอบพื้นที่ มากการดำเนินคดีและรื้อถอนออกไปแล้วหลายร้อยครั้ง จากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การปลุกระดมมวลชนที่มาจากนายทุน กดดันข่มขู่ขัดขวางทุกวิถีทาง นำไปสู่ความร้อนระอุของสถานการณ์

เมษายน ปี 65 – เครือข่ายชาวม่อนแจ่มเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เดินเท้าจากม่อนแจ่มมาที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ให้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ม่อนแจ่มและต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐ หยุดกลั่นแกล้งชาวบ้านและใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน ที่มีข้อพิพาทมาอย่างยาวนาน  แม้จะมีการรับเรื่องแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่วายมีเรื่องการตัดไฟ ตัดน้ำ และตัดสัญญาณโทรศัพท์ รวมถึงห้ามชาวบ้านในพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย

สิงหาคม ปี 65 – ความพยายามอีกครั้งของเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปรื้อถอนบ้านเรือนและโฮมสเตย์ของชาวม้งในพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม จำนวน 5 แห่ง แต่กลับมีชาวบ้านเครือข่ายสิ่งล้อมม้ง 12 หมู่บ้าน รวมตัวกันถือป้ายมาคัดค้านการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพื่อรอเจรจาต่อรองไม่ให้เจ้าหน้าที่ เข้ามารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยใช้อำนาจตามมาตรา 25 (23) พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ในการเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

เหตุการณ์ตึงเครียด ม่อนแจ่มกลายเป็นพื้นที่ชุมนุมขนาดย่อม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่กว่า 400 นาย ต้องล่าถอยออกมาเพื่อให้บรรยากาศคลี่คลาย ไร้การปะทะ

สัมพันธ์ พุฒด้วง ผอ.ศูนย์ป่าไม้เชียงใหม่ ผู้นำกำลังเข้ารื้อในครั้งนี้บอกว่า หากไม่สามารถทำงานตามที่วางไว้ได้ ก็ต้องปรับรื้อทีละจุดแทน จากการสำรวจพบว่า ต้นเรื่องทั้งหมดของปัญหามาจากการสำรวจพื้นที่ของกรมป่าไม้จาก 122 ราย พบว่ามี 36 ราย ที่แยกออกมาไม่เข้าเงื่อนไข และส่งดำเนินคดี เนื่องจากทั้ง 36 รายนั้น พบว่ามีความผิดชัดเจนหลักฐานมัดตัว พร้อมดำเนินคดีและส่งฟ้องศาล ซึ่งกรมป่าไม้ได้ให้โอกาสครบทุกกระบวนการแล้วมาตั้งแต่ปี 63 กระทั่งวันนี้จึงมาทำการรื้อถอนตามคำสั่งของกรมป่าไม้

บนเส้นทางของกรมป่าไม้ที่ต้องการให้พื้นที่เหล่านี้ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามเป้าหมาย เสียงของชาวบ้านที่ขนานกันต่างกลับไม่ได้คิดเห็นเช่นนั้น

 

เส้นทางของชาวบ้าน
:
กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ชุมชนของตนมีการตั้งรกรากมาอย่างยาวนานมากกว่า 100 ปีด้วยซ้ำ ดอยม่อนแจ่มเป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชนชาติพันธุ์ “ม้ง” บรรพบุรุษได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากราว ๆ ปี พ.ศ. 2447 และมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านเป็นภาพถ่ายทางอากาศของกรมเเผนที่ทหารยุคเเรก ๆ ที่มีการเก็บภาพถ่ายทางอากาศ ในปี พ.ศ. 2495 เเละมีการทำประโยชน์ในพื้นที่เรื่อยมา

อาชีพในสมัยก่อนคือปลูกฝิ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ม่อนแจ่มถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาปลูกพืชผักแทนฝิ่น จนเมื่อเวลาผ่านไป ม่อนแจ่มได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตในชั่วพริบตา ชาวบ้านจึงหันมาประกอบกิจการสถานที่พักผ่อนมากขึ้น ไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่รู้ตัวอีกที คนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์ม้งที่ม่อนแจ่ม ก็รับบทเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รับช่วงต่อจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

เมื่อมีงานที่รัก คนหนุ่มสาวก็สามารถกลับบ้านและอยู่บ้านได้อย่างภาคภูมิ พวกเขาหาทางอยู่ร่วมอย่างสมดุลกับพื้นที่ สร้างกติกาชุมชนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในม่อนแจ่มปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในขณะที่หาทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติก็มีการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การท่องเที่ยวสมัยใหม่ไปพร้อมกัน

แต่การที่กรมป่าไม้เข้ามารื้อถอนที่ทำกินของพวกเขา นั่นหมายถึงที่พักอาศัยของพวกเขาเองเช่นกัน ซึ่งชาวบ้านได้ให้เหตุผลว่า เรื่องยังคงอยู่ในชั้นศาล ยังไม่ได้พิสูจน์สิทธิ์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้รื้อถอน ดังนั้นการเข้ารื้อถอนดังกล่าวที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน และถือว่าละเมิดสิทธิ จึงรวมตัวกันออกมาปกป้องสิทธิของชาวบ้าน ซึ่งยืนยันว่าจะใช้การคัดค้านด้วยความสันติวิธี

แต่หากมีคำสั่งศาลปกครองตัดสินว่าชาวบ้านผิดจริง และสั่งรื้อถอน ชาวบ้านก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว พวกเขาก็เคารพในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แต่หากมีเจ้าหน้าที่พยายามเข้ารื้อถอนก่อนมีคำสั่งชัดเจน นั่นหมายความว่า จนท. กระทำการโดยมิชอบ จะดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพร้อมทั้งมีมาตรการตอบโต้อย่างสันติวิธีต่อไป

และฝั่งชาวบ้านก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า พวกเขาไม่ได้รุกพื้นที่ป่าสงวน พวกเขาไม่มีการขายพื้นที่ให้นายทุน หรือเปลี่ยนมือเด็ดขาด เพราะเขาต้องการส่งต่อมรดกเหล่านี้ให้ลูกหลาน และการรวมตัวกันพวกเขาก็ยืนยันว่า พวกเขานั้นอยู่มาก่อน พรบ. ป่าไม้ ปี 2484 ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำลายป่าไม้ พวกเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้หลักของชาวบ้านไม่ได้มาจากการปลูกพืชผักขาย หากแต่มาจากธุรกิจท่องเที่ยว ในพื้นที่ม่อนแจ่มมีบ้านพัก รีสอร์ตกว่า 1,200 หลัง สร้างรายได้มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท ไม่น่าแปลกใจนักที่จะเป็นเค้กชิ้นใหญ่แสนหอมหวาน เย้ายวนนักลงทุนทั้งหลายเข้ามาจับจองพื้นที่

เป้าหมายของกรมป่าไม้ คือการรักษาป่า รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ควบคุมกฎหมายไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือจากชาวบ้านสู่นายทุน และยังพยายามทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้สอดคล้องกับสมรรถนะของพื้นที่ รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ “คนอยู่กับป่า” อย่างยั่งยืน

เป้าหมายของชาวบ้าน คือการปกป้องถิ่นฐานต้นกำเนิด โดยการคัดค้านการรื้อฐาน ซึ่งจริงตามเหตุผลของชาวบ้าน ก็มีน้ำหนักและความน่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย หากต่อทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องหาจุดลงตัวของเรื่องนี้ ให้แก้ไขไปตามกฎหมาย เป็นไปตามครรลองของความยุติธรรม

 

ปฏิบัติการจัดระเบียบม่อนแจ่มที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปีจะลงเอยอย่างไร…?
ม่อนแจ่มในอนาคตจะถูกกำหนดในทิศทางใด…?

คนพื้นที่จะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะตัดสินให้ม่อนแจ่มนั้น
เดินหน้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือถอยหลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรมรอวันล่มสลาย
ไม่มีใครกำหนดได้นอกจากคนพื้นที่เท่านั้น

Previous articleteamLab บุกมาเลเซีย จัดสวนศิลปะบนดาดฟ้า ‘Resonating Microcosms’ สะท้อนปฏิสัมพันธ์ในสภาพแวดล้อม
Next articleอัปเดต Q3/65 ก่อสร้าง-อสังหาฯ ปัจจัยอะไรหนุนปัจจัยอะไรเสี่ยง
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ