กลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) เปิดเวทีสัมมนาใหญ่ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2565 จุดประเด็นการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนและการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมก่อสร้างมาประยุกต์ใช้จริงทั้งกระบวนการ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันเพื่อขยายแนวคิดสู่วงกว้าง ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ของอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกรวน สอดรับเป้าหมาย Net Zero Carbon ของหลายประเทศทั่วโลก
ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ในฐานะตัวแทนกลุ่ม CECI เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีการใช้ทรัพยากรโลกสูงเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งคาดการณ์ว่าหากยังใช้รูปแบบการก่อสร้างเดิมอาจต้องใช้ทรัพยากรขนาด 3 เท่าของโลกจึงจะเพียงต่อการก่อสร้าง ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่าและเกิดการสร้างสิ่งปลูกสร้างเกินความจำเป็น นำมาซึ่งขยะและของเสียจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างราว 30-40% ดังนั้นจากความตระหนักด้านการใช้ทรัพยากรเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ กลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ CECI จึงเป็นกลุ่มสำคัญที่นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการควบคุมงานก่อสร้างและวางระบบจัดการในการรับเหมาก่อสร้าง โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงกระบวนการติดตั้ง ซึ่งหากสามารถควบคุมตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นได้ จะสามารถแก้ปัญหาด้านวัสดุต่างๆให้พอดีต่อการใช้งานหรือเหลือน้อยที่สุด ขณะเดียวกันวัสดุที่เหลือทิ้งก็สามารถนำมา Reuse หรือ Recycle เพื่อลดปริมาณขยะได้
“จากการรวมกลุ่มเพื่อนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง แรกเริ่มมีเพียง 8 องค์กร แต่ปัจจุบันเรามีมากถึงเกือบ 30 องค์กรเอกชนที่เข้าร่วม ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นความตั้งใจของกลุ่ม CECI ที่จะเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและคาร์บอนต่ำที่นำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างขยายไปสู่วงกว้าง สำหรับก้าวต่อไปของกลุ่ม CECI เราจะขยายองค์ความรู้ดังกล่าวสู่สถาบันการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการตระหนักรู้เรื่องการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาต่อยอด และเมื่อมาประกอบวิชาชีพจะสามารถสานต่อหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อได้ทันที” ประภากร กล่าว
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เปิดเผยว่า จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและกิจกรรมของมนุษย์ ปัจจัยหลักที่ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นเกิดเป็นภาวะโลกร้อน และเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความแปรปรวนของปรากฏการณ์ธรรมชาติ นำไปสู่ภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ดังนั้นเป้าหมายสำคัญทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยคือการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ในภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ระดับต่ำหรือกลายเป็นศูนย์ ตามเป้า Net Zero Carbon ในปี 2050 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องร่วมกันตระหนักมากขึ้น เพื่อการเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและลดภาวะโลกรวนไปพร้อมกัน
“ขณะที่แนวทางการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมมี 2 แนวทาง คือ การเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด สามารถทำได้สูงสุดราว 55% ขณะที่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถแก้ปัญหาได้ราว 45% ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องมีเครือข่ายและความร่วมมือกันเป็นจำนวนมากจึงจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากและมีสัดส่วนเหลือทิ้งเพิ่มขึ้นในทุกๆปี การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ลดสัดส่วนของเสียด้วยการเปลี่ยนเป็นวัสดุอื่นเพื่อนำมาใช้งานในโครงการต่างๆ ทั้งนี้อุปสรรคใหญ่สำหรับการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในปัจจุบัน คือ ความรู้ความเข้าใจในการจัดหาและนำวัสดุมาใช้ ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และการขาดกฎระเบียบการควบคุมกำกับที่มีมาตรฐานรองรับ” รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต กล่าว
นอกจากนี้ในงานสัมมนาผู้บริหารได้นำเสนอแนวคิดในการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เพื่อโลกที่น่าอยู่ อาทิ แนวคิดพลังงานแสงอาทิตย์มาผนวกใช้ในการออกแบบ Green Energy Challenge, การนำไฟฟ้าที่ได้จากแสงแดดไปใช้ในระบบทำความเย็นของอาคาร Solar Cooling, สร้างพื้นที่สีเขียวหรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติเพื่อลดอุณหภูมิ Eco Landscape, การใช้วัสดุหมุนเวียนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้าและเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม, การใช้เทคโนโลยีการออกแบบที่มีประสิทธิภาพด้วย BIM เพื่อแก้ปัญหาและผลักดัน IOT มาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้นในการบริหารจัดการ ลดการสูญเสียทรัพยากร เป็นต้น
ขณะที่ประเด็นด้านนวัตกรรมก่อสร้างยุคใหม่ด้วยสินค้า บริการและโซลูชันรักษ์โลก ได้มีการเสนอแนะเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการแก้ไขในอนาคตตอบโจทย์เรื่องวัสดุเหลือทิ้ง มุ่งเน้นการทำงานในพื้นที่ Off-Site เพื่อลดเวลาในการก่อสร้าง นำของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่และยืดอายุการใช้งานโครงสร้างเพื่อลดการทุบทำลายให้เกิดขยะจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกแนวทางสำหรับการก่อสร้างในยุคใหม่ที่ช่วยลดการสูญเสียในหลายมิติ
สำหรับทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการเริ่มนำแนวคิด Green Design นำนวัตกรรมประหยัดพลังงานมาใช้มากขึ้นเพื่อให้ตัวอาคารหรือที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและมีอุณหภูมิภายในลดลง ผลักดันการออกแบบที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตมากขึ้น เน้นเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน บริหารจัดการทรัพยากรภายในอาคารและที่อยู่อาศัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุนให้ภาพรวมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตจะมุ่งเน้นเรื่อง Green Sustainability มากขึ้นเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
ด้านการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการก่อสร้างที่ยั่งยืน อาจต้องย้อนกลับมาแก้ไขจุดเริ่มต้นของสาเหตุที่ทำให้วัสดุเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก อาทิ การเปลี่ยนแปลงแบบ การตัดวัสดุให้เหลือเศษชิ้นเล็ก การออกแบบที่ผิดพลาด ขาดการควบคุมและวางแผนการใช้วัสดุ เป็นต้น เมื่อจัดการสาเหตุเบื้องต้นเหล่านี้ได้ ปัญหาเรื่องของเสียจะลดลงมหาศาล ส่วนที่เป็นของเหลือให้เน้นนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการลดมูลค่าผลิตภัณฑ์ลงแต่ช่วยยืดอายุให้สิ่งของไม่กลายเป็นขยะ (Downcycling) และนำของเสียผ่านกระบวนการที่ช่วยเพิ่มมูลค่า (Upcycling) ด้านการกำจัดของเสียที่ต้องทำลายทิ้งให้เน้นการนำไปเผาเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานความร้อน ไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ เพื่อนำกลับมาใช้ภายในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ซึ่งการจัดการของเสียจะมีประสิทธิภาพต้องวางแผนและมีการทำอย่างเป็นระบบ จะสามารถช่วยลดขยะในอุตสาหกรรมก่อสร้างเข้าสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำได้ในที่สุด
ทั้งนี้กลุ่ม CECI คาดหวังว่าภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้นในอนาคต ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน และขยายแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ภาคอุตาหกรรมในวงกว้างรวมถึงภาคการศึกษาที่จะผลิตบุคคลากรเป็นกำลังหลักในการผลักดันแนวคิดนี้เพื่อก้าวสู่ทศวรรษใหม่ของอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป
กลุ่ม CECI ประกอบด้วย 26 องค์กรเอกชน ได้แก่
บริษัท ทรัสตี้ โปรเจค แมเนจเมนต์ จำกัด
บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด
บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (TCC Group)
บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)
บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัท นันทวัน จำกัด
บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)
บริษัท พรพระนคร จำกัด
บริษัท ฤทธา จำกัด
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
บริษัท ขอ รีไซเคิล จำกัด
บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด
บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC)
บริษัท วัตคินสัน (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท จาร์ดีนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
บริษัท แซง-โกแบ็ง (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท เฌอร่า จำกัด (มหาชน)
การประปานครหลวง
ติดตามข้อมูลข่าวสารของกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) ได้ที่ https://www.facebook.com/CECIOfficialpage