ใกล้จะเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ยิ่งต้องรับมือการสภาพอากาศที่ต้องเผชิญกับฝนทุกวัน หากในวันที่ฝนกระหน่ำอย่างหนัก แล้วมีน้ำรั่วซึมขณะที่อยู่นอนอยู่ในบ้านหรือนั่งทำงานอยู่ในอาคาร ก็คงเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดใจไม่น้อย และยังอาจจะส่งผลระยะยาวต่อโครงสร้างอีกด้วย

วันนี้ BuilderNews มีเคล็ด(ไม่)ลับ กับการดูแลรับมือ “บ้านและอาคาร” ก่อนเข้าฤดูฝนมาฝากกัน

ตรวจสอบรอยแตกร้าว รอยรั่วของผนัง ฝ้า หลังคา

รอยแตกร้าวเหล่านี้ เป็นวายร้ายที่พร้อมจะสร้างความน่ารำคาญให้คุณได้ทันทีที่ฝนตก เพราะฝนจะแทรกซึมผ่านรอยแตกผนังเหล่านี้ ทะลุไปถึงตัวบ้านหรืออาคารภายใน ดังนั้น ควรไล่ตรวจสอบรอยแตกร้าวในบ้านหรืออาคารด้วยตาเปล่าก่อน หากพบเจอรอยแตกร้าวที่มาพร้อมคราบน้ำเป็นวง ๆ ให้รีบติดต่อช่างเพื่อเข้ามาบำรุงและซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้ น้ำอาจจะซึมเข้าไปกัดเซาะส่วนอื่นที่เรามองไม่เห็น ส่งผลระยะยาวแน่นอน

ตรวจเช็คประตูและหน้าต่าง

เพราะบ้านและอาคารอาจสร้างมานาน ขอบยางของประตูและหน้าต่าง อาจเกิดชำรุดหรือสึกหรอตามกาลเวลา และเมื่อน้ำเข้าไปสัมผัสกับรางประตูหรือหน้าต่างอาจก่อให้เกิดสนิมได้ ซ้ำร้ายน้ำอาจรั่วซึมเข้าไปในบ้าน ฉะนั้นให้ลองสังเกตดูว่าเวลาปิดประตูหรือหน้าต่างแนบสนิทดีหรือไม่ หากไม่สนิทก็ให้ช่างมาซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่ได้เลย

ทริคการตรวจสอบด้วยตัวเอง ลองจุดเทียนแล้วถือไปตามขอบประตู หน้าต่างดูสิ ถ้าเปลวเทียนสั่นไหวเหมือนลมพัด ให้รีบซ่อมแซมทันที

ทำความสะอาดรางน้ำฝน

กำจัดเศษใบไม้ กิ่งไม้ หรือขยะอื่น ๆ ที่อยู่ตามรางน้ำฝน เพราะให้เวลาฝนตกหนัก ๆ เศษขยะเหล่านี้จะไปอุดตันรูระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังบนรางน้ำฝนและมีโอกาสไหลย้อนกลับไปเข้าบ้าน หรืออาจทำให้รางน้ำฝนเอ่อล้นจนไม่สามารถใช้งานรางน้ำฝนได้เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร หากไม่สามารถทำได้เอง ก็ควรติดต่อหาผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ให้มาทำความสะอาดได้

ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบท่อระบายน้ำ

ตรวจรางน้ำฝนข้างบนเสร็จแล้วก็อย่าลืมตรวจสอบบริเวณพื้นที่หน้าบ้านหรืออาคารด้วย ฝาท่อระบายน้ำก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่หากมีขยะ เศษไม้ ไปอุดตันรูระบายน้ำ จะทำให้เกิดน้ำท่วมขังหน้าบ้านหรืออาคารของคุณ เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดีขึ้นหมั่นเก็บเศษขยะและเศษใบไม้ขนาดใหญ่ทิ้งก่อนที่ฝนจะตก สำหรับอาคารที่มีระเบียงก็เช่นกัน หากเกิดน้ำท่วมขังอาจซึมเข้าสู่ตัวอาคารก็เป็นได้

ทำความสะอาดพื้นกระเบื้อง

พื้นหรือกระเบื้องก่อนฝนตกมักจะสะสมคราบสกปรก คราบดิน คราบน้ำมัน ตะไคร่ โดยที่เรามองไม่เห็นและอาจไม่รู้ได้เลย เมื่อไหร่ที่ฝนตก คราบสกปรกเหล่านี้สัมผัสกับน้ำฝนอาจทำให้พื้นเปียกลื่น และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นควรทำความสะอาดด้วยการขัดพื้นบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรืออาจจะให้ช่างมาประเมินแล้วเปลี่ยนเป็นกระเบื้องที่มีค่ากันลื่นสูงกว่ากระเบื้องทั่วไปก็ได้

ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า

ในกรณีที่น้ำเอ่อล้นเข้ามาในบ้านจริง ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หากมีการชำรุดของสายไฟหรือตัวเครื่อง เมื่อสัมผัสกับน้ำอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ตัวอุปกรณ์นั้น ๆ หากเลวร้ายไปกว่านั้น อาจก่อให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟดูดหากตัวคนสัมผัสน้ำ แน่นอนว่าความเสียหายที่ตามมาอาจถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นได้ ดังนั้นการตรวจสอบสายไฟ ยกพื้นสูงให้กับอุปกรณ์นั้น ๆ หรือไม่ให้สายไฟกองพื้น ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันเหตุร้ายนี้ได้

เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ไม่ให้โดนน้ำ

ไม้กับน้ำ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกกันอย่างมาก หากเป็นไม้แท้ยิ่งไม่ควรอย่างยิ่ง การป้องกันเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่คุณรักมีหลากหลายวิธีอย่างมาก เช่น เคลื่อนย้ายขึ้นไปที่ชั้นบน ทาวัสดุเคลือบไม้ที่ป้องกันน้ำเพิ่มการป้องกันอีกขั้น รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ประเภท Outdoor ที่ถึงแม้ว่าจะมาพร้อมคุณสมบัติทนแดดทนฝนได้ แต่หากปล่อยให้เจอกับสภาพอากาศที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝนแล้วละก็ความสวยงามและอายุการใช้งานอาจจะลดลงก็เป็นได้

ตรวจสอบต้นไม้สูงใหญ่ใกล้บ้าน

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่มาพร้อมกับฝนนั่นคือลม หากวันใดวันหนึ่งเกิดพายุพัดกระหน่ำเข้ามา กิ่งไม้ตามต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้านหรืออาคารของคุณ อาจหักและหล่นลงมาโดนหน้าต่าง ตัวรถ หรือหากเจอเหตุการณ์ร้ายแรงต้นไม้ใหญ่อาจโค่นลงมาทับตัวอาคารบ้านเรือนของคุณ ถ้าพบว่ามีกิ่งไม้หรือต้นไม่ใหญ่ที่เสี่ยงต่ออันตรายกับตัวบ้านหรืออาคาร ให้ติดต่อช่างมาตัดออกตามความเหมาะสม

ทาสีบ้านเพื่อป้องกัน

สำหรับบ้านเก่าสีซีด สีนอกจากจะทำให้บ้านดูดีดูใหม่แล้ว สีบางชนิดยังช่วยป้องกันผนังบ้านอีกด้วย สำหรับบ้านเก่าควรทาสีใหม่เพื่อป้องกันเชื้อราจากความชื้น โดยเฉพาะส่วนที่ทำจากไม้ต้องดูแลเป็นพิเศษ

คว่ำภาชนะที่ขังน้ำฝน

เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเพาะพันธุ์ยุงลายไว้ในบ้านกันอย่างแน่นอน ยิ่งบ้านที่ปลูกต้นไม้ไว้รอบ ๆ บ้านยิ่งควรระมัดระวังให้เพราะว่าหากช่วงไหนฝนตกบ่อย ๆ การคว่ำภาชนะ อย่างเช่น ถังน้ำ ที่รองกระถางต้นไม้ ฯลฯ เอาไว้ เพื่อเป็นการป้องกันยุงลายมาฟักไข่

หากปล่อยบ้านที่คุณรัก หรืออาคารสำนักงานที่เป็นหน้าเป็นตาในธุรกิจให้ทรุดโทรม ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะอย่างน้อยการดูแลรักษาให้สิ่งเหล่านี้สวยงามอยู่เสมอ ก็เป็นส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีทุกครั้งที่เรากลับมามองดูบ้านของเราที่สวยงามและดูใหม่อยู่เสมอ นอกจากดูแลบ้านที่เรารักแล้ว อย่าลืมดูแลคนในบ้านด้วยนะ เพราะกำลังใจที่ดีที่สุดคือคนในบ้านของเรานี่แหละ

 

 

Source

https://www.thailand-property.com/blog/7-tips-to-protect-your-home-during-rainy-season
https://housing.com/news/7-ways-to-rain-proof-your-home-and-prevent-damage/
https://www.zricks.com/Updates/12-Tips-To-Protect-Your-Home-in-Monsoon/4954#

Previous article4 เคล็ดไม่ (ลับ) จัดโคมไฟอย่างไร ให้ห้องครัวของคุณมีแสงไฟแบบเพอร์เฟ็กต์
Next articleสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เปิดประมูลสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์
ครั้งที่ 2/2564 จำนวน 69 อัตรา
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ