Tecla House บ้านพักที่สร้างโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติจากดินเหนียวท้องถิ่น

900

Tecla House เป็นผลงานร่วมกันระหว่าง Mario Cucinella Architects (MC A) ทีมสถาปนิกจาก
โบโลญญา และ WASP ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงานพิมพ์ 3 มิติ จากประเทศอิตาลี ที่จับมือกันสร้างบ้านต้นแบบคาร์บอนต่ำที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติและใช้วัสดุหลักเป็นดินเหนียว ทรายที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น

บ้านหลังนี้มีลักษณะเป็นทรงโดม 2 ชิ้นต่อกันเป็นขนาด 60 ตารางเมตร สูง 4.2 เมตร ขึ้นรูปด้วยดินเหนียวซ้อนกัน 350 ชั้น เรียงต่อกันเป็นรูปร่าง คุณสมบัติเด่นของดินเหนียวคือมีความแข็งแรงทนทานและทำให้บ้านเย็น Tecla House ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียง 200 ชั่วโมง พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปกับเครื่องพิมพ์ Crane Wasp 3D เฉลี่ย 6 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ผสมผสานเทคนิคการก่อสร้างแบบยุคเก่าและเทคโนโลยีในยุคใหม่ ที่สำคัญสามารถลดขยะจากการก่อสร้างได้เกือบ 100% และนำวัสดุไปรีไซเคิล ใช้งานใหม่ได้อีกด้วย

ฟังก์ชันในบ้านมีพื้นที่ใช้สอยขนาดเหมาะสม มีทั้งห้องครัว ห้องนอน ห้องนั่งเล่น รวมถึงสกายไลท์บนหลังคาไว้สำหรับดูดาวในคืนฟ้าเปิดและนำแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ แม้จะไม่มีหน้าต่างให้ชมวิวด้านนอก เพราะในเรื่องของการรับแรง ทีมออกแบบก็ทดแทนด้วยซุ้มประตูขนาดใหญ่พร้อมกระจกเต็มซุ้ม เพื่อไม่ให้บ้านดูอึดอัดจนเกินไป

ด้านงานอินทีเรียต้องบอกว่าทำออกมาได้สวยงามในแบบฉบับออร์แกนิกจริง ๆ เรียบง่ายตามสไตล์มินิมัล ผนังดิบ ๆ แบบดินเหนียวเปลือยเปล่า เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ เพื่อคุมโทนให้อยู่ในสีเอิร์ธโทน ถูกใจคนที่ชอบแต่งบ้านเรียบง่ายอย่างแน่นอน

“นี่เป็นบ้านต้นแบบสำหรับภาวะฉุกเฉินในเรื่องของสภาพอากาศที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน รวมถึงปัญหาระดับโลกที่อาจทำให้ที่อยู่อาศัยหลักหายไป บ้าน Tecla จะมีบทบาทอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติเร่งด่วน เช่น การอพยพครั้งใหญ่ หรือภัยธรรมชาติที่ทำให้ผู้คนไม่มีที่อยู่อาศัย” Mario Cucinella ผู้ก่อตั้ง MC A กล่าว

Tecla House เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นไปที่หลักการทางชีวภาพร่วมกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น รวมถึงการศึกษาข้อมูลเชิงลึกในด้านเทคโนโลยีก่อสร้างที่อยู่อาศัยคาร์บอนต่ำ โดย WASP เริ่มพัฒนาสิ่งปลูกสร้างคาร์บอนต่ำมาตั้งแต่ปี 2019 โดยใช้ดินเหนียวตามสถานที่ต่าง ๆ มาประกอบเป็นบ้าน นอกจากนี้ WASP ยังมีโปรเจกต์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ศิลปะ 3 มิติ บาร์น้ำส้ม 3 มิติ เป็นต้น

Circular Orange Juice Bar บาร์น้ำส้มคั้นสด 3 มิติจาก WASP เปลี่ยนเปลือกส้มเป็นแก้วน้ำ

“สิ่งปลูกสร้างนี้แสดงให้เห็นว่าบ้านที่สวยงาม คุณภาพดี แถมยังยั่งยืน สามารถสร้างได้ด้วยเครื่องจักร แถมยังใช้วัสดุที่หาได้ง่ายตามสถานที่ที่สร้างอีกด้วย ผมเชื่อว่าเราสามารถสร้างอนาคตให้กับการก่อสร้างแบบนี้รวมถึงวัสดุที่เรามี มันต้องพิเศษมาก ๆ แน่นอนสำหรับเทคโนโลยีนี้” Massimo Moretti ผู้ก่อตั้ง Wasp กล่าวปิดท้าย

Tecla House

เทคโนโลยีสร้างที่อยู่อาศัยด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติค่อนข้างเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เพราะสะดวก รวดเร็ว และไม่สร้างขยะให้กับการก่อสร้าง ในบ้านเราอาจมีไม่กี่รายนักที่ใช้เครื่องพิมพ์แบบนี้ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ก็มีให้เห็นบ้าง อนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นบ้านที่สร้างด้วยดินเหนียว

 

Source

https://www.archdaily.com/960714/tecla-technology-and-clay-3d-printed-house-mario-cucinella-architects

https://www.dezeen.com/2021/04/23/mario-cucinella-architects-wasp-3d-printed-housing/ 

Previous article“Tube Houses” บ้านหน้าแคบ
เปิดรับแสงธรรมชาติ จัดสรรพื้นที่ได้ดี
สไตล์เวียดนาม
Next articleพาเยี่ยมชม “ปอนเตเบดรา”
ต้นแบบเมืองปลอดรถยนต์ อุบัติเหตุเป็นศูนย์
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ