ช่วยน้ำ ช่วยสัตว์ ช่วยป่า ช่วยทะเล แล้วลืมไปหรือเปล่าว่าน้ำแข็งแถวอาร์กติกที่นับวันยิ่งละลายเพิ่มขึ้นทุกทีจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ยังไม่มีใครช่วยเลย!
เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าการห้ามน้ำแข็งไม่ให้ละลายมันทำยากและดูเป็นไปไม่ได้ ก็เลยไปใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต้นทางกันอยู่ แต่กว่าจะแก้ได้วันนั้นน้ำแข็งอาจจะละลายหมดก่อนเนี่ยสิ เรื่องนี้สถาปนิก Faris Rajak Kotahatuhaha, Denny Lesm Ana Budi และ Fiera Alifa เขาเลยคิดโปรเจกต์ที่ชื่อว่า
Re-freeze the arctic: Re-iceberg-isation hexagonal tubular ice arctic เพื่อแก้ไขซ่อมแซมอาร์กติกอย่างเร่งด่วน ด้วยการ Re-freeze หรือทำให้ทะเลอาร์กติกกลับมาเป็นทุ่งน้ำแข็งอีกครั้ง
คุณคิดว่าควรทำอย่างไรถึงจะช่วยให้น้ำแข็งที่ละลายกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งได้บ้าง? วิธีคิดไม่ยาก แต่วิธีทำไม่ง่าย สถาปนิกทั้ง 3 คนออกแบบคือ การสร้างเรือดำน้ำ เปลี่ยนทะเลให้กลายเป็นน้ำแข็ง แล้วนำมันไปต่อเรื่อย ๆ ให้เต็มผืน เหมือนต่อจิ๊กซอว์นี่แหละ!
การออกแบบครั้งนี้ของสถาปนิกจึงเริ่มต้นที่การออกแบบเรือดำน้ำ! ซึ่งเหตุผลที่ต้องเป็นเรือดำน้ำลอยปริ่มน้ำ เนื่องจากเขาตั้งใจจะสร้างน้ำแข็งขึ้นจากน้ำทะเลในทรงหกเหลี่ยม ซึ่งพอมันสำเร็จปุ๊บ แผงน้ำแข็งชิ้นโตนั้นจะได้ปล่อยออกจากเรือดำน้ำอย่างสะดวกเพื่อเชื่อมกับน้ำแข็งเดิมได้ทันที ต่อกันให้สนิทโดยไม่ต้องยกถ่ายขนย้ายอะไรเพิ่มขั้นตอนให้ลำบาก
รูปทรงของลำเรือด้านล่างที่อยู่ใต้ผิวน้ำจะมีลักษณะเหมือนหลอดไฟ มีช่องสำหรับรวบรวมน้ำ กว่าจะเป็นน้ำแข็งออกมาแต่ละแผ่นลอยเหนือมหาสมุทร ในผืนน้ำแข็งเหล่านั้นจะแยกระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกัน เมื่อกลั่นน้ำทะเลเรียบร้อยแล้วฝาด้านบนจะปิดเพื่อรักษาความเย็น ภายในหนึ่งเดือนจากนั้นจะค่อย ๆ ปล่อยสิ่งที่เรียกว่า Ice Baby หรือทารกน้ำแข็งออกมาแล้วเชื่อมต่อกับน้ำแข็งผืนเดิมที่มีอยู่
ถ้าเราดูจากภาพจำลอง 3D จะเห็นได้เลยว่าขนาดของน้ำแข็งที่เขากลับไปแช่นั้นใหญ่ขนาดไหน เพราะเมื่อเทียบขนาดกับตัวคนแล้วคนเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น แม้ภารกิจหลักของการซ่อมจะเป็นบรรจุเครื่องทำความเย็นที่ใช้สำหรับเปลี่ยนมันให้กลายเป็นน้ำแข็ง แต่ด้านในเรือสถาปนิกก็ดัดแปลงให้เรือดำน้ำนี้สามารถใช้งานได้ทุกสภาพอากาศ เรียกได้ว่ายังใช้งานด้านอื่น ๆ ได้อย่างอเนกประสงค์ด้วย
จากพิมพ์ที่มองเห็นเขาแบ่งพื้นที่เรือดำน้ำครึ่งลำสำหรับทำน้ำแข็งและอีกครึ่งลำสำหรับมนุษย์ที่เป็นผู้ดูแลระบบ ซึ่งประกอบด้วยช่างซ่อมบำรุง นักวิจัย บริกร นักธุรกิจ ฯลฯ รวมถึงวางระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำน้ำจืดนำกลับมาใช้ใหม่ ตามที่บอกไปว่ามีการกลั่นน้ำเพื่อแยกชั้นระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืด การวางระบบโซลาร์เซลล์ด้านบนของเรือดำน้ำ เป็นพลังงานสะอาดเพื่อนำมาแปรเป็นพลังไฟฟ้าในลำเรือ เรียกได้ว่าครบครันแถมแก้ปัญหาได้ครบแบบที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนด้วย
ถ้าให้ลองพิจารณาโปรเจกต์นี้เองจากแบบ 3D เหล่านี้ส่วนตัวเรามองว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น หากมีผู้บุกเบิกนำโปรเจกต์นี้มาสร้างจริง เพราะด้วยระบบการจัดการแบบนี้ถ้าทำในเชิงธุรกิจ ให้คนได้ท่องเที่ยวด้วยก็ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ที่วิน ๆ ทั้งระบบนิเวศน์และส่งเสริมการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน
อ้างอิงที่มาข้อมูลจาก
https://www.designboom.com/design/adapted-submarine-system-re-freeze-the-arctic-07-19-2019/
รูปภาพจาก Faris Rajak Kotahatuhaha