ช่วงนี้ข่าวการออกแบบสร้างอาณานิคมมนุษย์ในต่างดาวกำลังมาแรงทั้งดวงจันทร์ ทั้งดาวอังคาร แต่จริง ๆ แล้วไม่ต้องเดินทางนั่งจรวดให้เปลืองเงินเปลืองทอง บนโลกสีน้ำเงินครามใบที่เรากำลังเหยียบอยู่ตอนนี้ก็ยังมีหลายพื้นที่ที่มนุษย์ยังไม่เคยไปตั้งรกรากอยู่กันอีกหลายแห่ง ด้วยเหตุผลอุปสรรคจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทรัพยากรและสภาพแวดล้อม
เราเคยลองจินตนาการดูไหมว่า ถ้าจะมีสถาปัตยกรรมสักแห่งตั้งอยู่แถวขั้วโลกใต้ ดินแดนหนาวที่ขาวโพลนคลุมด้วยภูเขาน้ำแข็งจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร Sergiu-Radu Pop นักศึกษาจากสตูดิโอของ Zaha Hadid จากมหาวิทยาลัยศิลปะประยุกต์ที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ออกแบบโปรเจกต์บุกขอบโลกอย่างขั้วโลกใต้ พัฒนาพื้นที่บริเวณแนวชายฝั่งด้วยการออกแบบแนว Biomimicry หรือการเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
คนที่อยู่นอกวงการการออกแบบอาจจะงงว่าแนว Biomimicry คืออะไร เราอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า Biomimicry มีต้นกำเนิดมาจากภาษากรีกคำว่า ‘Bios’ เเปลว่า ‘ชีวิต’ และ ‘Mimic’ มีความหมายว่า ‘ลอกเลียนแบบ’ดังนั้น Biomimicry จึงเป็นศาสตร์พหุสาขา (Interdisplinary) ที่ศึกษารูปร่าง (shape) กระบวนการ (process) เเละระบบ (system) ในธรรมชาติเพื่อที่จะเรียนรู้กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาของธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม (อ้างอิงข้อมูลคำอธิบายจาก TCDC)
แม้ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ว่าความจริงแนวคิดนี้โผล่ในวงการออกแบบทั่วโลก การเลียนแบบทักษะหรือลักษณะพิเศษของธรรมชาติเหล่านี้ ถ้ามองจากใกล้ตัวก็เป็นพวก ตีนตุ๊กแก ที่นักประดิษฐ์สังเกตเห็นเมล็ดพืชเกาะติดกางเกงของเขามา และเมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็พบว่ามันมีลักษณะเป็นตะขอทำให้สามารถเกาะเกี่ยวเส้นใยกางเกงได้ดี จึงนำมันมาพัฒนาต่อจนกลายเป็นวัสดุอย่างตีนตุ๊กแก แต่สำหรับสถาปัตยกรรม มันคือการเก็บเกี่ยวเอาโครงสร้างทางธรรมชาติมาวิเคราะห์ บางชิ้นอาจได้แรงบันดาลใจของธรรมชาติเพียงรูปแบบเดียว แต่บางชิ้นก็ได้จากการสังเคราะห์มันรวมกัน
เพื่อให้เห็นภาพในชัดเจนในงานสถาปัตยกรรมแนว Biomimicry เรายกตัวอย่างที่แยกให้เห็นได้ชัดสักที่มาชำแหละให้ดูพร้อมกัน อย่าง Science Pyramid ที่ตั้งอยู่ใน Denver Botanic Gardens หรือ สวนพฤกษศาสตร์แห่งเดนเวอร์ ซึ่งเป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่มีผู้นำการออกแบบเป็นชาวไทย ถ้าเรามองจากภาพประกอบคอนเซ็ปต์เราจะเห็นว่าแนวคิดของอาคารแห่งนี้ใช้ทั้งรูปร่างจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา รวงผึ้ง และการสังเคราะห์แสงพืชที่นำมาใช้ประกอบกันอย่างลงตัวในรูปแบบของการทำแผงโซลาร์เซลล์
กลับมาที่โปรเจกต์นี้อีกครั้ง วัตถุประสงค์ของการออกแบบสถาปัตยกรรมครั้งนี้เขาตั้งใจสร้างมันขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์รวมอเนกประสงค์สำหรับการวิจัยการขนส่ง (ท่าเรือ) และสามารถใช้เป็นที่พักแรมด้วย โดยออกแบบให้สร้างยื่นออกไปจากแนวขรุขระของน้ำแข็ง
การออกแบบที่เนียนกลืนไปกับน้ำแข็งที่เกาะตัวตามโครงสร้าง คล้ายงูที่โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ ส่วนยอดอาคารที่โผล่พ้นยอดเขาปิดล้อมด้วยกระจกทำให้ได้ลุคที่ทันสมัย เป็นประกายใสสื่ออารมณ์ความเยียบเย็นเข้ากันกับบริเวณรอบข้างที่เป็นน้ำแข็ง
โครงเหล็กขนาดใหญ่แข็งแรงถักทอแข็งแรงอยู่เหนือลานเปิดโล่งด้านบน เลียนแบบภูมิทัศน์ด้านหลังไว้อย่างแนบเนียน ขณะเดียวกันความไม่สมมาตรของการออกแบบอาคารยังทำให้ดูเป็นเอกลักษณ์ สวยงาม แตกต่างจากสถาปัตยกรรมตามธรรมเนียมเดิมที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นเรื่องรูปแบบความงามที่สมดุล จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นกว่าผลงานชิ้นอื่นที่เคยเห็นจนชินตา
นอกจากรายละเอียดความงามที่ยิ่งส่องจะยิ่งทึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเลือกใช้วัสดุและลำดับโครงสร้างที่อาจจะมองไม่ออกว่าเริ่มต้นเกาะและถ่ายเทน้ำหนักอย่างไรนั้น เขายังเผยว่าทุกส่วนต้องถูกออกแบบโดยคำนวณเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอย่างดี เพราะภายใต้ฟังก์ชันที่ต้องปกติพร้อมใช้งานสำหรับการเป็นท่าเรือขนส่ง เป็นสถานที่วิจัย และที่พักนั้น ฐานโครงสร้างทั้งหมดยังต้องถูกแช่เแข็งตลอดเวลาด้วย
การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ออกแบบโดยไม่รุกล้ำทำลายภูมิทัศน์รอบข้าง เป็นอีกหนึ่งศักยภาพที่สถาปนิกทุกคนใฝ่ฝัน เพราะวันนี้การสร้าง Eco Building สามารถทำให้ดีได้ทั้งจากภายในและภายนอกได้พร้อมกัน
งานนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการออกแบบที่ทำไว้เฉียบด้วยฝีมือของนักศึกษา น่าสนใจว่าระดับปรมาจารย์เขาจะออกแบบได้เฉียบขนาดไหน งานหน้าถ้ามีผลงานแนว Biomimicry ชิ้นไหนน่าสนใจอีก เราจะนำมาฝากให้ชาว BuilderNews ได้ดูกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.tcdc.or.th/articles/technology-innovation/24534/#Biomimicry-–-ลอกเลียนเพื่อเปลี่ยนชีวิต
https://dreamaction.co/biomimicry-architecture-science-pyramid-ben-niamthet-burkettdesign/