คอนเซ็ปต์การออกแบบงานแทบทุกชิ้นสไตล์ญี่ปุ่นในปัจจุบัน เน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นหลัก มากกว่าการออกแบบให้ทุกอย่างดูฟูฟ่า และเทคนิคหนึ่งในเรามักเห็นจากภูมิปัญญาทางความคิดของญี่ปุ่นคือการสร้างกลไกของสิ่งของต่าง ๆ ทำให้ผลงานของญี่ปุ่นจึงมักสร้างความตื่นตาตื่นใจให้เราเสมอ

ถึงแม้เราจะเคยได้ยินมาว่า บ้านไทยโบราณไม่มีการใช้ตะปู แต่ใช้การเข้าลิ่ม ทำให้สามารถถอดไม้กระดานของบ้านแต่ละชิ้นแยกจากกันได้และขนย้ายไปประกอบที่อื่นเหมือนการประกอบเลโก้ขึ้นใหม่ ทว่านอกจากบ้านเรา ใครจะรู้ว่าสถาปนิกญี่ปุ่นเขาจะใช้แนวความคิดเรื่องกลไก ถอด-ใส่ นี้กับสถาปัตยกรรม ที่สำคัญยังเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสูงถึง 13 ชั้นด้วย

BuilderNews ขอเปิดหูเปิดตาทุกท่านด้วยการนำไปชมสถาปัตยกรรมที่นำแนวคิดที่น่าสนใจจากคุณสมบัติเอกลักษณ์ของวัสดุอย่าง “สลักลิ่ม” ที่สามารถถอดเข้าออกมารวมกับแนวคิดการรีไซเคิลอาคารด้วยแนวการออกแบบสไตล์ Metabolism จากศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังมาแบ่งปันกัน แต่จะมีอะไรบ้างนั้นลองไปดูพร้อม ๆ กัน

Kisho Kurokawa’s Style

Photo via dilandm.wordpress.com

Kisho Kurokawa คือสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่เกิดในปี 1934 เขาคือสถาปนิกมากพรสวรรค์ที่หาตัวจับได้ยากและเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Metabolism ในยุค 60s

Metabolism หลายคนอ่านแล้วคงรู้สึกว่าคุ้น ๆ คำแปลน่าจะว่าด้วยเรื่องของการเผาผลาญอาหารระบบภายในร่างกาย แต่ไปมายังไงมาเป็นเรื่องสถาปัตย์เสียได้ อันนี้เราอธิบายกันอย่างง่ายเลยแล้วกันว่า การออกแบบที่เรียกว่า Metabolism แท้จริงแล้วสถาปนิกที่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขานิยามคำขึ้นมาเรียกโดยเอาคอนเซ็ปต์เดียวกับระบบการเผาผลาญมีเทียบ

สมัยนั้นเจอสงคราม สถาปัตยกรรมทุกอย่างราบเป็นหน้ากลองแต่สุดท้ายทั้งหมดจะต้องดำเนินต่อไป เมื่อระบบเผาผลาญมีไว้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตสามารถใช้กระบวนการนี้สร้างพลังงานเพื่อให้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ สถาปัตยกรรมก็ควรใช้แนวคิดนี้เฉกเช่นเดียวกัน อาคารต่าง ๆ ที่เคยล่มสลายก็ต้องเกิดขึ้นใหม่ เขาจึงมองว่าอาคารเสมือนสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้เป็นหน่วยงานแบบคงที่ พื้นที่การออกแบบจึงต้องรองรับการเติบโตของประชากร ไม่ว่าจะด้วยความจำกัดหรืออายุการใช้งาน ทุกอย่างควรคำนวณไว้

ไม่เพียงแค่ Metabolism ที่เป็นสไตล์หลักในการออกแบบเท่านั้น แต่ Kisho ยังนำ สไตล์ Symbiosis หรือสถาปัตยกรรมที่เน้นสาระสำคัญของความกลมกลืนระหว่าโครงสร้างกับธรรมชาติโดยรอบมาใช้ด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจหากผลงานแนวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีความเป็นมินิมัลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Nakagin Capsule Tower

Photo via www.arch2o.com

ผลงานโดดเด่นของเขาที่ใช้แนว Metabolism คือ โรงแรมแคปซูลที่ชื่อ Nakagin Capsule Tower ตั้งอยู่ในเขตชิมบาชิของกรุงโตเกียว แนวคิดเรื่องการขยายตัวของเมืองหรือที่อยู่อาศัยที่ต้องพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนกลายเป็นคอนเซ็ปต์หลักในการออกแบบของเขา ดังนั้น เพื่อรองรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงหลังสงคราม การเข้ามาหาเช้ากินค่ำภายในเมืองอย่างแออัด เขาจึงออกแบบอพาร์ตเม้นต์ขนาดเล็กขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกได้ว่าเป็นต้นตำรับของการสร้างโรมแรมแคปซูลเลยก็ว่าได้

Photo via lewism.com

Nakagin Capsule Tower มีวัตถุประสงค์ของการสร้างที่ต้องการให้ที่พักมาขนาดย่อมเยา เหมาะกับชาวออฟฟิศที่ยังไร้ที่อยู่อาศัย พักแต่ไม่ต้องมีพื้นที่ใช้สอยเยอะเกินไป เพราะยังไงเสียพวกเขาทุ่มเวลาส่วนใหญ่กับออฟฟิศอยู่แล้ว อาจจะมาพักได้ชั่วครั้งชั่วคราว ขนาดของห้องจึงเล็กเหลือเพียง 250 x 365 x 213 เซนติเมตร เท่านั้น

ภาพด้านในห้อง : Photo via failedarchitecture.com

ความพิเศษของมันไม่ได้มีแค่ความเล็ก แต่สถาปนิกออกแบบให้สามารถขยายพื้นที่ห้องให้กว้างขึ้นได้ด้วยการนำแคปซูลแต่ละชิ้นมาต่อรวมกันด้วยการถอดออกและยึดใหม่ได้อย่างอิสระ เพราะทุกห้องยึดไว้กับโครงสร้างหลักด้วยน๊อตเพียง 4 ตัวเท่านั้น ว่าง่าย ๆ ว่าโครงสร้างมันมีลักษณะเป็นแกนกลางที่แข็งแรง โดยแกนที่ว่าก็คือช่องลิฟต์กับบันไดวนรอบ ๆ ส่วนแต่ละห้องที่เข้ามาต่อเติมเหมือนการเสียบสลักลงไป ทำให้เป็นโครงสร้างที่พร้อมรื้อห้องที่ชำรุดออกได้แบบง่าย ๆ ไม่กระทบกับห้องอื่น ๆ ที่อยู่ติดกัน

“ถอด ประกอบ” กลายเป็นรูปแบบการสร้างหลักของผลงาน กว่าจะมาเป็นโรงแรมแคปซูลแห่งนี้กระบวนการสร้างจึงเป็นการสร้างแบบ modular แต่ละส่วนประกอบสร้างขึ้นจากจังหวัดชิงะก่อนส่งเข้ามาในโตเกียวแล้วใช้เครนยกขึ้นมาประกอบกันแต่ละชั้นจนครบสมบูรณ์ ที่สำคัญยังใช้เวลาน้อยเพราะเบ็ดเสร็จการก่อสร้างของอาคาร 13 ชั้นแห่งนี้ใช้เวลาเพียง 30 วันเท่านั้น

ทว่าตั้งแต่สร้างมาก็ยังไม่มีใครทดลองใช้ฟังก์ชันนี้ เนื่องจากเมื่อลองประเมินการถอดเข้าแล้วเสริมของใหม่เข้าไปแล้วมูลค่าการเปลี่ยนแคปซูลต่อห้องสูงถึง 6.2 ล้านเยนเลยทีเดียว ว่าง่าย ๆ ว่ากับห้องเล็กที่ราคาโคตรแกรนด์ขนาดนี้ ปล่อยให้มันโทรมต่อไปแล้วไปลงทุนใหม่ดีกว่า (บ้านสำเร็จรูป Muji ยังมีทั้งราคาที่ใกล้เคียงกันและราคาที่ถูกกว่าให้เลือกมากมาย)

จากเรื่องราวและผลงาน เราคงอนุมานได้ว่า “วัสดุ” มีความหมายมากกว่าเรื่องของการใช้งานภายใน เพราะฟังก์ชันบางอย่างสามารถนำมาใช้เป็นแกนแนวคิดการออกแบบได้ แม้ว่างานนี้ Kisho Kurokawa จะไม่ได้ออกมาฟันธงเรื่องการใช้ฟังก์ชันนี้ว่ามาจากแนวคิดเดียวกับกับที่เราสันนิษฐาน แต่คุณสมบัติบางอย่างที่เป็นภูมิปัญญาพื้นฐานของการใช้วัสดุที่เราเห็นได้ชัดก็ยังคงอยู่ในผลงาน  ส่วนครั้งหน้าเราจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับวัสดุแง่มุมไหนเล่าสู่กันฟังมาฝากอย่าลืมมาติดตามกันด้วยนะ

 

อ้างอิงข้อมูล : http://www.japan50.com/2015/nakagin-capsule-tower/

https://th.lifehackk.com/33-what-is-metabolism-in-architecture-177292-3606

https://ditp-design.com/capsule-hospitality-ธุรกิจบริการที่พักแบ/

 

Previous articleAsian Lighting Forum 2019 จับตานวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ
Next articleส่อง 6 เทรนด์ออกแบบแสงมาแรง เพราะแสงจากไฟฟ้ามีเสน่ห์มากกว่าแค่ติดตั้งหลอดรางยาว