ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าการเสียเงินเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อดูหนัง 2 ชั่วโมงกว่า ๆ หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องสิ้นเปลืองทั้งเวลาและเงินทอง ถ้าเทียบกับการซื้อสตรีมมิงแล้วเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นโรงหนังจากสมาร์ตทีวีที่บ้าน อยากดูเมื่อไหร่ก็ดูและจ่ายเงินต่อเดือนดูได้หลายเรื่องยังไงก็คุ้มกว่าเห็น ๆ
แต่การขลุกอยู่ในบ้าน ไม่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านหรือดูหนังนอกบ้านเลยอาจทำให้บางธุรกิจ และสถานที่ประวัติศาสตร์อย่างโรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอย่างเต็มเปา
“วันนี้คนส่วนใหญ่นั่งดูหนังที่โซฟาที่บ้านและไม่ได้ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะกันอีกต่อไป” – David Altrath
David Altrath ช่างภาพชาวเยอรมันวัน 24 เจ้าของโปรเจกต์ถ่ายเซตภาพถ่ายงานตกแต่งภายในโรงภาพยนตร์ ‘lichtspielhäuser’ พูดถึงความกังวลที่เป็นแรงบันดาลใจสร้างโปรเจกต์ถ่ายภาพนี้เพราะต้องการจุดประกายให้คนเห็นความสำคัญของโรงภาพยนต์ประวัติศาสตร์ในเมือง Hamburg มากขึ้น
‘lichtspielhäuser’ เป็นวลีภาษาเยอรมันจากการรวมของคำ 2 คำคือคำว่า licht + spielhaus โดยคำว่า licth แปลว่าแสง ส่วนคำว่า spielhaus แปลว่าโรงละครหรือโรงภาพยนตร์
โรงภาพยนตร์ที่เขาเข้าไปถ่ายภาพด้านใน บางแห่งสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 1900 สถาปัตยกรรมในอดีต โชว์โครงสร้างดั้งเดิม หลายแห่งวันนี้อาจติดตั้งไฟ LED และเทคโนโลยีทันสมัยใหม่เพื่อรีโนเวตให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน แต่โครงสร้างหลักและเอกลักษณ์เดิมของแต่ละแห่งที่อยู่มานานหลายสิบหลายร้อยปีก็ยังมีเสน่ห์ น่าสัมผัสและศึกษา
มุมที่เขาเลือกถ่ายทอดของในภาพเองก็เป็นมุมหายากที่ถ้าพวกเราเป็นคนตีตั๋วเข้าไปดูคงไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะมองจากฝั่งจอฉายกลับมายังที่นั่ง ต่างจากยามปกติเวลาเราเข้าโรงภาพยนตร์ที่เรามักจะมองไปข้างหน้าเห็นจอฉายอย่างเดียว บางคนกว่าจะเดินเข้าโรงก็รอใกล้ ๆ หนังเริ่มฉายแล้วเพื่อเลี่ยงโฆษณา ส่วนตอนออกจากโรงก็ไม่ได้รอรายชื่อทีมผู้สร้างฉายจบ จึงเห็นแต่ภาพสลัว ๆ ของการตกแต่งไม่เต็มตา
ลองย้อนกลับมามองบ้านเรา เราคิดว่าเรื่องนี้โปรเจกต์นี้ก็เป็นอีกอย่างที่น่าสนใจ หลายคนอาจไม่รู้ว่าโรงหนังสแตนอโลนทั้งหลาย โรงหนังชั้นสอง ที่ไม่ใช่โรงหนังทันสมัยแบบยุคนี้เขาออกแบบตกแต่งกันอย่างไร หรือกระทั่งโรงหนังแต่ละแห่งของแบรนด์ใหญ่ ๆ ขาประจำต่างกันแค่ไหน
คุณรู้ไหมว่าแม้จะอยู่ในห้างเดียวกัน โรงหนังค่ายเดียวกัน แต่จริง ๆ เวลาเราซื้อตั๋วเข้าไปดู โรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 1-10 กว่า ๆ อาจจะตกแต่งไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะมีไว้เพื่อรองรับความต้องการต่างกัน
บางโรงเป็นแบบ Premium จุคนน้อยแต่ luxury หรูสุด ๆ
บางโรงอัดคนแน่น กว้าง จุเพื่อให้เสียง surround รอบห้องให้สัมผัสอรรถรสของการดูหนังอย่างเต็มที่
บางโรงออกแบบให้ดู 3d 4d โดยเฉพาะ หรือห้องที่มีโลโก้สปอนเซอร์และมีชื่อเรียกแปลก ๆ
ครั้งหน้าที่ดูหนังลองเข้าไปก่อนโฆษณาฉายสัก 5-10 นาที คุณอาจจะเห็นดีเทลอีกหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นและไม่ต้องอุดอู้อยู่ในบ้านก็ได้ ส่วนใครที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่น ๆ การเข้าโรงหนังของแต่ละประเทศคงทำให้เราเห็นรูปแบบการออกแบบภายในที่น่าสนใจต่างกันไม่น้อยกว่าสถานที่เที่ยวเลย ลองหาเวลาแวะไปดูกันบ้างก็ได้นะ
อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล