ในยุคปัจจุบันคนในสังคม คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากพฤติกรรมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ที่มีความเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะได้รับความสนใจมากกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป เนื่องจากการตระหนักได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น หากเปรียบเทียบระยะเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าอุณภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ

ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายประเทศ ดำเนินการรณรงค์โดยหาข้อตกลงร่วมกัน ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า “Net Zero” ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้มีส่วนร่วมโดยการสร้างสรรค์นโยบายควบคุมการผลิต และการนำวัสดุเหลือใช้ในโรงงาน มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จนเกิดเป็นนิทรรศการจัดแสดงนวัตกรรมวัสดุ “Road to Net Zero : Low Carbon Material มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ

Wastematters

ชื่อผู้ประกอบการ : Wastematters

ลดขยะจากเศษอาหารด้วยการเชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนสามารถเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจก่อสร้างและตกแต่งด้วยกระเบื้อง ที่มีกระบวนการผลิตโดยการแยกขยะเศษอาหารแต่ละชนิด มาทำเป็นส่วนผสม ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวช่วยลดขยะเศษอาหารด้วยการเพิ่มมูลค่า และเติมแต่งความสร้างสรรค์ให้กับผลิตภัณฑ์

Glisten woven material

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท กลิสเท็น ดีไซน์ จำกัด

มีเอกลักษณ์คือความเปล่งประกายของผิววัสดุ โดยวัสดุที่ใช้ในการผลิตมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ มีความแข็งแรงทนทาน สีสันสวยงาม ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ มาพัฒนาในรูปแบบ upcycling และกระบวนการ textile และผ่านการสานจากช่างฝีมือออกมาเป็นชิ้นงานที่ประณีต เหมาะแก่การนำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายใน

ลีฟแทสทิค – ฟิล์มรับประทานได้

ชื่อผู้ประกอบการ : โฮลซัม แล็บ

     ฟิล์มรับประทานได้ให้คุณค่าทางอาหารสูง คงสภาพสี กลิ่น รวมถึงรส ตามวัตถุดิบที่ใช้ เช่น ผักชี เห็ดหอม และแคร์รอต เหมาะแก่การใช้เป็นส่วนประกอบของมื้ออาหาร หรือใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารพร้อมรับประทาน

Burn

ชื่อผู้ประกอบการ : V.S. Crafts

ทองเหลืองที่เหลือใช้จากขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ถูกนำมาลดการหลอมซ้ำ เพื่อลดการเกิดคาร์บอนไดร์ออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ทางแบรนด์เล็งเห็นถึงเอกลักษณ์ของวัสดุจึงนำมาต่อยอด ให้ทองเหลืองเหล่านี้เป็นวัสดุตกแต่งที่สามารถใช้กับพื้นที่นอกอาคารได้

นวัตกรรมวัสดุก้อนปุ๋ยหมัก

ชื่อผู้ประกอบการ : PorchanArt.Studio

ผลิตภัณฑ์ชิ้นดังกล่าวเป็นการยกระดับ เพิ่มมูลค่าให้เศษอาหารโดยการนำมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว เป็นปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของเศษอาหารให้มีความสวยงามเหมาะแก่การใช้งานมากยิ่งขึ้น

ในด้านกระบวนการผลิตจะแบ่งเศษอาหารออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่นำมาไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อขึ้นรูปวัสดุให้อยู่ในลักษณะปุ๋ยก้อน และส่วนที่เป็นสีวัสดุแต่ละชนิด เพื่อนำมาตกแต่ง นอกจากคุณค่าด้านความสวยงาม ปุ๋ยก้อนดังกล่าวยังหมุนเวียนคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประโยชน์ปและประสิทธิภาพทางการเกษตรได้อีกด้วย

กระจกเกรียบชนิดบาง

ชื่อผู้ประกอบการ : ทองแกมแก้ว

     ผลิตภัณฑ์กระจกเกรียบ ที่มาจากวัสดุหลายชนิด เช่น แก้วโซดาไลม์ ฟิล์มกระจกโทรศัพท์ และกระจกแก้วจากจีน นำมาเคลือบตะกั่วผสมด้วยวิธีอันเป็นลักษณะเฉพาะ ทำให้เกิดความเงาซึ่งมีค่าการสะท้อนที่ต่ำกว่ากระจกเงิน หรืออลูมิเนียมทางการค้า ทำให้ได้สีสันคล้ายคลึงกับกระจกเกรียบโบราณ ทำให้เกิดเป็นงานศิลปะเชิงอนุรักษ์ที่มีความร่วมสมัย

แซกเท็กซ์ แผ่นวัสดุยางพาราอัปไซเคิลจากเศษผ้า เศษใบไม้และเศษกระดาษ

ชื่อผู้ประกอบการ : ดีแอนด์ซี ดีไซน์แอนด์คอนเซ็ปต์

การผสมผสานระหว่าง เศษผ้า เศษพืช เศษใบไม้ และเศษกระดาษ นำมาผ่านกระบวนการผลิตจนได้เป็นแผ่นวัสดุยางพาราอัปไซเคิล ที่มีความแข็งแรงทนทาน กันน้ำ ทนการฉีกขาด ทำความสะอาดง่าย อีกทั้งยังสามารถผลิตได้หลายสีตามความต้องการ เหมาะกับการนำมาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า รองเท้า และนำไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งได้อีกมากมาย

ไบโอเรซิน เพื่องานย้อมผ้า

ชื่อผู้ประกอบการ : สิปปะ-ไบโอเรซิ่น

     ไบโอเรซิน วัสดุทางเลือกที่ได้จากเรซิน ประกอบด้วย ยางไม้ยางนา 29% คารายกัม 26% และกลีเซอรีน 45% ผลิตด้วยนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นให้มีข้อแตกต่างจากกระบวนการย้อมแบบเดิม ที่ต้องอาศัยความร้อนและน้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเสียหลังสิ้นสุดกระบวนการย้อมผ้า

หวายรักษ์โลก

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท เอส.เค. โพลีเมอร์ จำกัด

เส้นหวายเทียมที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติ และเทอร์โมพลาสติกประเภทพอลิโพรพิลีน ซึ่งมีส่วนผสมของยางธรรมชาติให้สัมผัส soft touch กว่าปตกิ นอกจากนี้ยังตอบรับนโยบายของรัฐบาลไทย ในการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ายางพารา อีกทั้งยังสามารถเลือกใช้เทอร์โมพลาสติกรีไซเคิลแทนได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติยืดหยุ่นและสามารถคืนตัวได้ดี ไม่แตกหักหรือฉีกขาดเมื่อได้รับแรง ทนน้ำ แสงแดดและความชื้น กันการลามไฟ มีขนาด สีและลวดลายให้เลือกหลากหลาย เหมาะสำหรับใช้ทำเฟอร์นิเจอร์

ผ้าทอมือลายลูกแก้วจากเส้นด้ายผักตบชวา

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท สยามรุ่งเรือง จำกัด

     ผ้าทอมือจากเส้นด้ายผักตบชวา ประกอบด้วยฝ้าย 70% ผักตบชวา 30% ทอ 4 ตะกอลายลูกแก้วโดยช่างทอในชุมชน ผ้ามีความแข็งแรง ทนทานต่อการขัดสี ผิวสัมผัสไม่เรียบ ลวดลายผ้าเด่นชัด มีจุดเด่นในเรื่องผิวสัมผัสที่แตกต่างจากฝ้าย เหมาะทำผลิตภัณฑ์ของใช้ ตกแต่งบ้าน หรืองานศิลปะ

หนังทดแทนจากข้าว (หนังมังสวิรัติ)

ชื่อผู้ประกอบการ : คีอะพัซ

หนังทดแทนจากข้าว หรือหนังมังสวิรัติ เกิดจากขั้นตอนการผลิตแบบหัตถกรรมโดยใช้ข้าวและวัสดุธรรมชาติถึง 70% สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ของแต่งบ้าน ของขวัญของชำร่วย ของใช้สำนักงาน กระเป๋ารวมถึงบรรจุภัณฑ์

เศษโฟมยางพารา

ชื่อผู้ประกอบการ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริส

เศษโฟมยางพาราที่เป็นส่วนเกิน สามารถนำมาทำเบาะยางพารา โดยใช้เศษผ้าหุ้มได้หลากหลายรุปแบบ เนื่องจากส่วนประกอบจากยางพาราถึง 95% สารก่อเจลและอื่น  ๆ 5 % ทำให้สามารถรับน้ำหนักได้ดี คืนตัวง่าย คงทน และไม่ก่อให้เกิดไรฝุ่น

พลาสติกกัญชงชีวภาพ

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท ดีดีเนเจอร์คราฟท์ จำกัด

     เม็ดกัญชงพลาสติกชีวภาพ เป็นวัสดุผสมพลาสติกชีวภาพ PLA และกัญชง 15-20% โดยนำแกนกัญชงมาบดละเอียดแล้วผสมกับ PLA ผ่านขบวนการคอมพาวด์ แล้วนำเข้าเครื่องฉีดเส้นด้วยความร้อน เป็นวัสดุทดแทนพลาสติกและกระดาษ ย่อยสลายได้โดยการฝังกลบ สามารถใช้สัมผัสอาหารได้ โดยวัสดุผสมกัญชง-พลาสติกชีวภาพ PH0001HT เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA)

ตามข้อกำหนดของ U.S. FDA 21 Code of Federal Regulations part 177.2420 Clause (c) ซึ่งอนุญาตให้ใช้เรซินโพลีเอสเตอร์เชื่อมขวาง ใช้เป็นสิ่งของหรือส่วนประกอบของ articles ได้อย่างปลอดภัยสำหรับการใช้ซ้ำในการสัมผัสกับอาหาร สามารถขึ้นรูปได้ตามแบบ ด้วยวิธีขึ้นรูป และฉีด หรือ 3D printing เหมาะสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ งานตกแต่งภายใน และอื่น ๆ

เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิดโพลีโพรพิลีน (PP)

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท เซอร์พลาส เทค จำกัด

     เม็ดพลาสติกรีไซเคิล เกิดจากการผสมผสานของเม็ดพลาสติก PCR ชนิด PP จากตะกร้าโปร่งผลไม้ในท้องตลาด โดยปกติไม่นิยมนำกลับมารีไซเคิล เนื่องจากมีการเติมสารเติมแต่งประเภททัลคัม (Talcum) และแคลเซียม (Calcium) อีกทั้งมีพลาสติกในปริมาณน้อย จึงนำมาผสมกับเม็ดพลาสติก PCR ชนิด PP จากบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อเพิ่มความคงทนในการใช้งาน

ทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น กระถางอเนกประสงค์ (R-POT) ส่วนประกอบ ยางพาราธรรมชาติ 95% , สารก่อเจลและอื่นๆ 5% จุดเด่นวัสดุ กระจายจุดรับน้ำหนัก , คืนตัวได้ดี , นุ่ม , ไม่มีไรฝุ่น ข้อจำกัดวัสดุ ห้ามตากแดด , ห้ามโดนความร้อนเกิน 50 องศาเซลเซียส 

ผนังตกแต่งไม้ก็อก

ชื่อผู้ประกอบการ : บ.ไนซ์แอนด์โซลิค เดคคอเรชั่น จำกัด

ผลิตจากเปลือกไม้ของต้นโอ๊คที่บดอัดขึ้นรูปเป็นก้อน โดยใช้ไอน้ำความร้อนสูง จนเรซินในเปลือกไม้ละลาย เปลือกไม้นั้นจะจับตัวกันเป็นก้อนสีน้ำตาลมีสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนและเสียงได้ในระดับหนึ่ง ผลิตจากธรรมชาติ 100% เหมาะแก่การตกแต่งผนัง ทั้งภายในและภายนอก

บริการขึ้นรูปพลาสติกแบบฉีดและอัดรีดเป็นเส้น

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท แคทอัพ ดีไซน์ จำกัด

บริการขึ้นรูปพลาสติกด้วยวิธีฉีดขึ้นรูป (Injection Molding) ขนาดเล็ก และขึ้นรูปเส้นฟิลาเม้นสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ สามารถใช้เม็ดพลาสติกเทอร์โมพลาสติก พลาสติกรีไซเคิล และไบโอพลาสติก ด้วยวิธีการอัดรีด (Extrusion) จำนวนขั้นต่ำ 2 กิโลกรัม และมีบริการพิมพ์ชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติด้วย

เอคโค่ คอตต้า

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท เอคโค่ โปรดักส์ จำกัด

แผ่นพลาสติกรีไซเคิล HDPE 100% (r-hdpe) ลวดลายที่เกิดขึ้นบนแผ่นนั้น เกิดจากการเรียงเศษพลาสติกที่บรรจงให้เกิดขึ้นเปรียบเหมือนงานฝีมือ ฉะนั้นแต่ละแผ่นจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน วัสดุมีความทนแดดและฝน อีกทั้งยังมีความแข็งแรง ไม่แตกหักได้ง่าย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น เป็นวัตถุดิบในการขึ้นรูป ชิ้นงานต่างๆ หรือเป็นผนัง เป็นภาพตกแต่งฝาผนังก็ยังทำได้

แผ่นวัสดุนี้เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท ไฮโดร ไฮจีนนิค จำกัด เป็นผู้นำด้านการผลิตน้ำดื่ม OEM แบบ B2B ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยการได้รวบรวมฝาขวดน้ำพลาสติกจากลูกค้ากลับมาส่งมอบให้ทาง บริษัท เอคโค่ โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้แปรรูปพัฒนาสินค้าออกมาเป็นแผ่นพลาสติก

บล็อกช่องลมจากเซรามิคส์เหลือใช้
ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท เคนไซ ซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด

บล็อกช่องลมเกิดจากเศษเซรามิกเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเซรามิคส์ 80% ซึ่งเศษเซรามิคส์เหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ใดต่อได้ นอกจากการนำไปถมที่ จึงเป็นบ่อเกิดการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ การหมุนเวียนเซรามิคส์กลับมาใช้ใหม่ด้วยการนำมาบด ผสมซีเมนต์และน้ำตามอัตราส่วนและนำมาขึ้นรูป

la terre finishing plaster

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท ลาแตร์ เอส เอ จำกัด

ดินคอนกรีตบดละเอียดเศษวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้าง ถูกนำมาผสมกับเส้นใยธรรมชาติ 0-20% และซีเมนต์ 5-15% ดินฉาบผิวไม่มีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ระเหยง่าย ได้เป็นดินฉาบผิวสำเร็จรูปที่ใช้แทนปูนซีเมนต์หรือปูนพลาสเตอร์

คุณสมบัติพิเศษมีความแข็งแรงสูง ทนทานต่อการดึงตะปูเกลียว สามารถดูดซับและคายไอน้ำ เพื่อควบคุมระดับความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้อง ดูดกลิ่นอับและเป็นฉนวนป้องกันเสียงที่ดี มีสีตามธรรมชาติซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละแผ่นอันเกิดจากส่วนผสมของศิลาแลง สามารถควบคุมสีของวัสดุให้ใกล้เคียงกันได้ เหมาะใช้ทำผนังและฝ้าเพดานทั้งภายในและภายนอกอาคาร

Expanded Metal

ชื่อผู้ประกอบการ : บริษัท วีแอนด์พี เอ็กซแพนด์ เมททัล จำกัด

ตะแกรงอลูมิเนียมทำจากเหล็กกล้าคาร์บอนชุบโครเมียม สามารถดัดโค้งและงอได้ตามความต้องการ อีกทั้งยังรีไซเคิลได้ 100% โดยการรีไซเคิลอลูมิเนียม 1 กิโลกรัม สามารถลดคารืบอนฟุตปริ้นท์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้

วัสดุเหลือใช้จากอะลูมิเนียมคอมโพสิต

ชื่อผู้ประกอบการ : ERA8866

การนำขยะอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลับมามาหมุนเวียนอย่างชาญฉลาด โดยการนำอลูมิเนียมคอมโพสิตมาปรับเป็นสินค้าแฟชั่นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำขยะอุตสาหกรรมมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน สามารถออกแบบลวดลายและสีให้ตรงความต้องการและไลฟ์สไตล์ได้

เซรามิกจากขยะเศษอาหาร

ชื่อผู้ประกอบการ : ละมุนละไม. คราฟท์สตูดิโอ

วัสดุเซรามิกได้รับการออกแบบผ่านแนวคิดความยั่งยืน โดยการนำขยะเหลือใช้ในอุตสาหรรมอาหารและการบริโภคในครัวเรือน อาทิ เปลือกไข่ เปลือกหอย กากกาแฟ นำมาผสมกับดินด้วยอัตราส่วนที่พอเหมาะ พร้อมปรับแต่งให้เป็นเซรามิกที่สวยงามและนำกลับมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

จากผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอไปข้างต้น สังเกตได้ว่าวัสดุส่วนใหญ่ที่นำมาผ่านการรีไซเคิล ล้วนเป็นวัสดุที่พบในชีวิตประจำวันแต่ถูกมองข้าม จนกลายเป็นขยะในตอนท้าย ในทางกลับกันหากคนในสังคมปรับมุมมองไม่มองข้ามสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวและนำกลับมาใช้จนเกิดประโยชน์สูงสุด การจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจบให้เป็น 0 หรือ “Net Zero” ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

Previous article“สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” นิทรรศการที่พาไปสำรวจสถาปัตยกรรมริมทางเมืองไทย
Next article“SYS” คว้า 4 รางวัลธงธรรมาภิบาลต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ตอกย้ำความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย