สถาปัตยกรรมจะเริ่มเปลี่ยนไปหลัง COVID-19 จริงเหรอ?

แม้กูรูหลายด้านออกมาให้ความเห็นเรื่องความเปลี่ยนแปลง เรื่องผู้คนจะรู้ว่าอะไรจำเป็นไม่จำเป็นหลังจากนี้ แต่อันที่จริง สถาปัตยกรรมไม่ได้รอวันเปลี่ยนไปหลัง COVID-19 หรอก หลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ตอนนี้แล้ว จากรูปแบบการอยู่อาศัยที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์คนทุกกลุ่มในสังคม

เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น!

ภาพตัวอย่างของผู้ที่อาศัยใน Net Café ของญี่ปุ่นที่ใช้ที่นี่เป็นที่พักถาวร Credits Euronews

ถ้าใครพอจะติดตามเรื่องวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นอยู่บ้าง คงจะรู้ว่านอกจากบ้านแบบธรรมดาสไตล์มินิมัลเป็นหลังที่ราคาสูงลิบลิ่ว หรืออพาร์ตเมนต์ คอนโดต่าง ๆ แล้ว พื้นที่อย่าง Internet Cafe คือที่พักถาวรสำหรับคนที่ไร้ที่พักเป็นหลักแหล่ง หรือคนที่มีเหตุผลส่วนต่าง ๆ จากความเหงา ความรู้สึกไม่สะดวกเวลาอยู่บ้านเลือกอาศัยกัน

เหตุผลสำคัญเพราะด้านใน Net Café มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งอินเทอร์เน็ต การ์ตูน หรือบางที่อาจจะมีให้ทั้งเตียงนอน คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงห้องอาบน้ำ ซึ่งถ้าเทียบแล้วก็จะคล้าย ๆ กับเกาหลีที่มีซาวน่า ไว้รองรับคนส่วนใหญ่ที่มีเหตุจำเป็น หรือไม่มีบ้านอาศัยเป็นหลักแหล่งให้มารวมตัวกันที่นี่

ภาพตัวอย่างของผู้ที่อาศัยใน Net Café ของญี่ปุ่นที่ใช้ที่นี่เป็นที่พักถาวร Credits Euronews

เฉพาะกรุงโตเกียวคาดการณ์ตัวเลขออกมาคร่าว ๆ ว่ามีราว ๆ  4,000 คนที่ฝากชีวิตทุกค่ำคืนไว้กับ Net Café และอาจจะเรียกได้เลยว่ามันคือ “บ้าน” ของพวกเขา ดังนั้น พอสถานการณ์จากไวรัสโคโรนาระบาด สถานประกอบการเหล่านี้ก็ต้องปิดตามคำสั่งรัฐเพื่อแก้ปัญหา

แล้วคนพวกนี้จะไปอยู่ที่ไหน?

นักเคลื่อนไหวทั้งหลายก็เริ่มกังวลว่า ผลกระทบจากการปิด Net Café อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายกับทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจึงออกโปรเจ็กต์ “Net Café refugees” หรือ “ที่พักสำหรับผู้ลี้ภัยชาวเน็ตคาเฟ่” ขึ้น เพื่อให้ชาวคาเฟ่ทั้งหลายมีที่อยู่ที่พักในช่วงโควิด ซึ่งอันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความละเอียดอ่อนสไตล์ญี่ปุ่นที่จะไม่ยอมทิ้งพลเมืองของเขาไว้ข้างหลังจริง ๆ

โครงการ Net Café refugees มี Shigeru Ban Architects เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ พวกเขาคิดที่พักฉุกเฉินขึ้นเพื่อติดตั้งเป็น Net Café ขนาดย่อม ๆ ในศูนย์กีฬา สถานที่ที่เคยใช้เป็นที่พักพิงของผู้คนช่วงเจอภัยธรรมชาติ (น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ)

Shigeru Ban Architects เป็นบริษัทสถาปนิกที่เคยได้รับรางวัล Pritzker prize จากการใช้นวัตกรรม “ท่อกระดาษ” เป็นหนึ่งในเทคนิคโครงสร้างทางสถาปัตย์ ผลงานส่วนใหญ่ของเขามักใช้วัสดุประเภทกระดาษ cardboard สำหรับการสร้างที่พักชั่วคราวเพื่อผู้อพยพ และมีชิ้นงานที่โดดเด่นก่อนหน้านี้ ได้แก่ ‘paper concert hall’ ที่สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเทศอิตาลีปี 2009 หรือการสร้างวิหารจากกระดาษในโบสถ์ที่ประเทศนิวซีแลนด์

STRUCTURE OF NET CAFE REFUGEES

กลับมาที่โจทย์ปัจจุบัน การติดตั้งที่พักขนาดย่อมนี้เพื่อสร้างห้องขนาดกะทัดรัดพอให้คนอาศัยแบบ 1:1 ขึ้น และเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม สถาปนิกจาก Shigeru Ban ได้คิดค้นไอเดียสร้างห้องที่ประหยัดและคุ้มค่า จนเคาะออกมาเป็นโครงสร้างห้องสไตล์คล้ายพาร์ติชันล้อม 4 ด้าน ที่มีแกนของโครงสร้างทำขึ้นจากเสากระดาษ

เสากระดาษแข็งที่ประกอบขึ้นทดสอบแล้วว่าทนทานสำหรับการสร้างสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว ที่สำคัญเมื่อกระดาษนำมาติดตั้งภายในพื้นที่ในอาคารก็ปลอดความกังวลเรื่องความเสียหายจากลม ฝน ได้ รวมทั้งคุณสมบัติพิเศษของกระดาษตัวนี้ยังสามารถกันไฟได้อีก นับว่าแข็งแรงจริง ๆ

ด้วยเหตุผลที่เขาใช้กระดาษมาทำเป็นโครงห้อง การล้อมผนังจึงใช้ผ้าขึงให้มีลักษณะรูดได้คล้ายม่านเพื่อให้ไม่มีปัญหาด้านการรองรับน้ำหนัก ส่วนพื้นที่ด้านในก็มีเตียงสนามขนาดพอดี 1 คนนอน พร้อมเครื่องนอนพื้นฐานอย่างผ้าห่มและหมอน

ถึงภาพรวมอาจจะไม่สะดวกเท่าการอยู่ Net Café ช่วงก่อนเจอไวรัส แต่ก็ยังดีกว่าต้องระเห็จไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อไม่รู้ตัว

ผลงานชิ้นนี้เปิดใช้งานจริงแล้วตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา รองรับคนได้ประมาณ 40 คน อาจจะห่างจากยอดคนที่ต้องการใช้งานจริงเฉพาะในโตเกียวถึง 100 เท่า (คิดว่ามี 4,000 คน) แต่ก็ยังดีกว่าไม่เริ่มต้นเลย และเราเชื่อว่านอกจากสนามกีฬาในเมืองโยโกฮามะแห่งนี้แล้ว คงจะมีอีกหลายแห่งที่กำลังจะพัฒนาเพิ่มเป็นลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน

วิกฤตบอกอนาคตและสอนให้เรารู้ว่าบางอย่างต้องลงมือเดี๋ยวนี้ ควรคิดให้รอบคอบและรอไม่ได้แบบที่ญี่ปุ่นกำลังทำ

ขณะที่ตอนนี้หลายปัญหาในประเทศถูกแก้ไขด้วยการใช้เงินบริจาคคนละไม้คนละมือ ซึ่งอาจจะช่วยคนได้เพียงหยิบมือเท่านั้น การระดมความคิดและปรับเปลี่ยนด้วยการใช้ความรู้เฉพาะทางด้านอื่น ๆ รวมทั้งด้านสถาปนิกน่าจะช่วยเหลือคนได้มากกว่านั้น ใครที่มีความรู้ โปรเจ็กต์ดี ๆ ช่วยสังคมช่วงนี้ สามารถส่งข้อมูลเข้ามาแบ่งปันกันได้

เราเองก็เชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพหลายอย่างที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่อาจจะยังไม่เผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้มากนัก BuilderNews ขอร่วมเป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยกระจายความช่วยเหลือต่อสังคม ถ้าใครมีอะไรดี ๆ เข้ามาคอมเมนต์กันได้

 

 

ภาพประกอบเป็นลิขสิทธิ์ของ AFP

อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูลจาก

  1. https://www.designboom.com/architecture/shigeru-ban-net-cafe-refugees-coronavirus-japan-04-15-2020/
  2. https://www.youtube.com/watch?v=MtdupS0gRt0

 

 

Previous articleEveryday stay with “Komfort Kalm” สุดยอดหมอนตัวยูที่รองรับทุกสรีระ
และมอบประสบการณ์พักผ่อนครั้งใหม่จาก Komfy
Next articleMcKinsey เผยกลยุทธ์ความสำเร็จของผู้นำธุรกิจก่อสร้าง และการปรับตัวในอนาคต