กลายเป็นข่าวที่สร้างประเด็นถกเถียงอึกทึกครึกโครมในหมู่แวดวงวิชาการและบุคคลทั่วไปอยู่ช่วงหนึ่งกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนสายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาที่เป็นเส้นทางตัดผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แหล่งมรดกโลกที่สำคัญอีกแห่งของไทย และประเด็นร้อนคงจะเป็นหัวข้อไหนไปไม่ได้นอกจากผลกระทบต่อกลุ่มโบราณสถานและหลักฐานทางโบราณคดีใต้ผืนดิน

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนสายตะวันออกเฉียงเหนือ คือ โครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ระยะทาง 354 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงทอดรางผ่านนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ขนานกับแม่น้ำป่าสัก บริเวณดังกล่าวนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เคยเป็นที่ตั้งของ ‘อโยธยา’ ชุมชนโบราณก่อนถูกทิ้งร้าง แล้วก่อตั้งเป็นเมืองอยุธยาที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะที่เรารู้จักกันถึงทุกวันนี้

ภาพจาก มติชนออนไลน์

เมื่อ ‘ความเจริญ’ เผชิญหน้ากับ ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ จึงเกิดเสียงแตกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายสนับสนุนที่มองเห็นถึงประโยชน์ของการสร้างทางรถไฟต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัด ในขณะที่เสียงคัดค้านมีความเห็นให้โยกย้ายเส้นทางการสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ห่างจากกลุ่มโบราณสถาน เพื่อเลี่ยงการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในแง่ของผลกระทบทางสายตา เนื่องจากสถานีและรางรถไฟมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากโบราณสถาน ทำให้ภูมิทัศน์โดยรวมขาดความกลมกลืน และความเสี่ยงจากแรงสั่นสะเทือนของรถไฟความเร็วสูง ประกอบกับการจัดตั้งแคมเปญ ‘Save อโยธยา’ ขึ้นเพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวทบทวนให้ย้ายเส้นทางรถไฟออกไปนอกเขตเมืองเก่า

แบบจำลองสถานีรถไฟอยุธยา (ภาพจาก เพจ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)

‘มรดกทางวัฒนธรรม’ และ ‘ความเจริญ’ สองคำนี้สามารถอยู่คู่กันในโลกที่การพัฒนาไม่หยุดนิ่งได้หรือไม่ คำตอบคงจะอยู่บนพื้นที่ตรงกลางอันเกิดจากการหลอมรวมของความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แล้วหาทางออกร่วมกันเพื่อผลักดันความเจริญให้คงอยู่กับมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในอนาคต

 

 

Source

ธาริต อิ่มอภัย. (2565). ผลกระทบทางสายตาของโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าความเร็วสูงต่อโบราณสถาน
และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. สาระศาสตร์, (4), 782-795.

เว็บไซต์
THE STANDARD
มติชนออนไลน์ (1)
มติชนออนไลน์ (2)
Change.org
โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure

Previous articleSCG HOME Experience ก้าวสู่ปีที่ 15 ‘ทุกเรื่องบ้าน เป็นจริงได้’ วาระครบรอบที่ครบครันเรื่องบ้าน 15 มิ.ย. – 15ก.ค.นี้
Next articleย้อนรอยงานสถาปนิก’66: รวมวัสดุปูพื้นที่ไม่ใช่เรื่องพื้น ๆ