ยังคงหาทางออกกันต่อไปกับโครงการแอชตัน อโศก ที่ได้รับคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างจากการยื่นฟ้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวชุมชนสุขุมวิท 19 ร่วมกับในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาทางบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาประกาศถึงแนวทางแก้ไขของบริษัท ฯ ที่ประกอบด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้
- ดำเนินการรวบรวมความเสียหายเพื่อติดต่อเจรจากับส่วนงบภาครัฐ
- พิจารณาหาแนวทางแก้ไขร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการ รฟม.
- ทางบริษัทฯ กำลังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการอนุมัติให้ทำโครงการ แก้ไขปัญหาความเสียหายแก่ลูกบ้าน พร้อมทั้งพิจารณาการแก้ไขปัญหาในแนวทางอื่นร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางบริษัทฯ ได้มีการชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการแอชตัน อโศก 5 แนวทาง ดังนี้
1.1 การยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่ม
เนื่องจากเส้นทางเข้า-ออกโครงการมีความกว้างน้อยกว่า 12 เมตร ไม่เป็นไปตามกฎหมาย บริษัทฯ จึงมีแนวทางในการจัดหาที่ดินเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาทางเข้า-ออก
ภายหลังการหารือ บริษัทฯ ได้ประเมินขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการแก้ไข/ ขอใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- บริษัทฯ จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา และอาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
- เมื่อได้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับสมบูรณ์แล้ว บริษัทฯ จะยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารฯ และจะมีการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 14 วันทำการ
- เมื่อบริษัทฯ ได้รับใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ บริษัทฯ จะดำเนินการก่อสร้างเพื่อแก้ไขทางเข้าออกโครงการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 เดือน
- เมื่อบริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างข้างต้นเรียบร้อย สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (สนย.) จะเข้าตรวจสอบการก่อสร้างของโครงการ และออกใบรับรองการก่อสร้างฯ (อ.5) ซึ่งสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (สนย.) จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาออกใบรับรองการก่อสร้างฯ (อ.5) ประมาณ 14 วันทำการ
1.2 การยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ซึ่งอาจต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบเหตุดังกล่าว แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา (วันที่ 27 กรกฎาคม 2566)
1.3 ประสานเจ้าของเดิมให้ขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
1.4 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอเรื่องให้รัฐสภาอนุมัติ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้นยกร่างเสนอแก้ไขกฎหมาย
1.5 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร (สนย.) ไปยังกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี โดยบริษัทฯ จะเสนอในส่วนของความกว้างที่ต้องไม่น้อยว่า 12 เมตร
ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาในแต่ละขั้นตอนอาจต้องใช้เวลา เรายังคงต้องติดตามข่าวสารและผลลัพธ์ที่จะปรากฏกันต่อไป