การมีที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเอง ถือเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของคนในสังคมจำนวนไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ด้านการดำรงชีพ อสังหาริมทรัพย์ยังเป็นตัวบ่งชี้ความมั่นคงด้านการเงินของผู้ถือครอง และเศรษฐกิจภายในประเภทอีกด้วย

สำนักวิจัยข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ AREA กล่าวถึงผลสำรวจที่สะท้อนภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) ถึงตัวเลขด้านมูลค่าโครงการของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของการลงทุน อาจมีอัตราที่ลดลงและติดลบถึง 18% โดยวิเคราะห์จากการเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566 พบว่า มูลค่าโครงการลดลง -6.3% จำนวนโครงการลดลง-11.3% ถือเป็นตัวเลขจำนวนไม่น้อยที่น่าจับตามอง สำรับทิศทางอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567

สำรวจปัจจัย…เพราะอะไรคนไทยจึงซื้อบ้านน้อยลง?

     ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยการเปรียบเทียบตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% จาก 2.5% ในปี 2565 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 2.2-3.2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักหากเทียบกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในปี 2565

ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยที่ลดลง เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในการกู้เพื่อลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์สูงทำให้ส่งผลกระทบต่อการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคโดยตรง

นอกจากปัจจัยด้านดอกเบี้ยที่สวนทางกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้คนในสังคมขาดสภาพคล่องทางการเงิน ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้คนในสังคมซื้อบ้านน้อยลง คือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการก่อสร้าง รวมถึงปัจจัยด้านความเชื่อมั่นและความพึงพอใจที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่าซื้อ

โดยความพึ่งพอใจในสภาพตลาดที่อยู่อาศัย จากผลสำรวจของ DDproprety Thailand Consumer Sentiment Study พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลงมาอยู่ที่ 48% จากเดิมอยู่ที่ 50% ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่าการซื้อ โดยสังเกตได้จากดัชนีค่าเช่าพื้นที่เขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนี้

  • เขตปทุมวัน เพิ่มขึ้น 16%
  • เขตวัฒนา เพิ่มขึ้น 13%
  • เขตคลองสาน เพิ่มขึ้น 12%
  • เขตบางซื่อ เพิ่มขึ้น 11%
  • เขตบางคอแหลม เพิ่มขึ้น 10%
  • เขตดินแดง เพิ่มขึ้น 10%
  • เขตราชเทวี เพิ่มขึ้น 9%
  • เขตธนบุรี เพิ่มขึ้น 9%
  • เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้น 8%
  • เขตคลองเตย เพิ่มขึ้น 8%

อัปเดตอัตราดอกเบี้ยธนาคารเพื่อกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์

    อัตราดอกเบี้ยบ้าน หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย คือ การกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน เพื่อซื้อหรือสร้างอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการกำหนดการผ่อนชำระค่างวดตามข้อตกลงของสถาบันทางการเงิน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามธนาคารนั้น ๆ สามารถแบ่งดอกเบี้ยบ้านออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Loan) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องชำระอย่างคงที่ตามโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนยอดชำระ ตามระยะเวลาที่ทำข้อตกลงร่วมกับธนาคาร เช่น หากได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้กู้สามารถชำระอัตราดอกเบี้ยจำนวนเดิมได้จนสิ้นสุดสัญญา
  • อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (floating Rate Loam) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่แปรเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยท้องตลาด หากดอกเบี้ยท้องตลาดปรับขึ้นหรือลง อัตราการชำระก็แปรเปลี่ยนตามเช่นเดียวกัน

     เดือน กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารชั้นนำยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเฉลี่ย 3 ปีแรกจากเดือน มิถุนายน 2567 ซึ่งสามารถจัดอัตราดอกเบี้ยบ้านของธนาคารชั้นนำได้ ดังนี้

  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 2.60%
  • ธนาคารออมสิน ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 2.95%
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 3.30%
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 3.30%
  • ธนาคารกรุงไทย ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 3.33%
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 3.37%
  • ธนาคารกสิกรไทย ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 3.42%
  • ธนาคารกรุงเทพ ดอกเบี้ยต่ำสุด 3 ปีแรก 3.72%

แนวทางพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์

จากปัจจัยที่ทำให้คนในสังคมปัจจุบันลดกำลังการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้นักลงทุน เจ้าของโครงการต้องปรับเปลี่ยน และพัฒนาโครงการเพื่อให้ดึงดูและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาดีอีกครั้ง จากแนวทางดังต่อไปนี้

  • การออกแบบอสังหาริมทรัพย์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคม เช่น ที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อผู้สูงวัย กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ และที่อยู่อาศัยเพื่อคนโสด (เนื่องจากอัตราการอยู่อาศัยเพียงลำพังเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 10% โดยคนกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ย 20,000-40,000 บาท) เป็นต้น
  • การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • การทำการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วงวัยทำงาน หรือเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งจะมีกำลังซื้อต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามการพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาในทิศทางที่ดีอีกครั้ง ควรได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือการพัฒนาโครงการให้เข้ากับความเป็นอยู่ของผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนกล้าลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://shorturl.asia/gHFO0

https://shorturl.asia/70TVd

https://shorturl.asia/iQheC

https://shorturl.asia/JPfKy

https://shorturl.asia/78vPB

Previous articleเยือนแลนด์มาร์กปารีส สนามแข่งขันโอลิมปิก 2024
Next articleSustainAsia Week – SETA 2024 สัมผัสนวัตกรรมล้ำสมัยและฟังเสวนาภายใต้แนวคิด ‘Leave Your Carbon Behind, Not People.’