เชื่อว่าหลายคนคงเคยไปเดินเล่นในอควาเรียม ท่ามกลางฝูงปลาที่แหวกว่ายอยู่เหนือศีรษะเราช่างตระการตาและรู้สึกสงบอย่างบอกไม่ถูก โดยหลักจิตวิทยาว่ากันว่าเมื่อเรามองไปที่ผืนน้ำ เราจะรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้สีฟ้าก็เป็นสีที่สื่อความสงบ สบายตาอีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่าเวลาเครียด หลาย ๆ คนจึงเลือกที่จะไปทอดอารมณ์อยู่ที่ทะเล หรือริมแม่น้ำ รับลมเย็น ๆ พร้อมกับจ้องมองไปยังผืนน้ำ

ทว่าอควาเรียมปกติจะเป็นการยกท้องทะเลไปไว้สถานที่ที่หนึ่ง แต่สำหรับ “Ocean Gate” กลับเป็นการยกอุโมงค์ไปอยู่ในท้องทะเลจริง ๆ เลยต่างหาก! ซึ่ง Ocean Gate ถูกออกแบบโดย ANTIREALITY โดยทางเดินใต้น้ำแห่งนี้คือคอนเซปต์การออกแบบ “ประตู” ซึ่งเปิดทางเดินจากชายฝั่งทะเลลงไปใต้น้ำในโลกของพืชและสัตว์ทะเลในหมู่เกาะบาฮามาส มีเป้าหมายเพื่อสร้างทางเดินลงไปสำรวจใต้น้ำได้โดยทำให้สิ่งปลูกสร้างนั้นกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชายหาดโดยไม่ทำลายทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ ทำให้ได้โครงสร้างที่สื่อถึงคลื่นทะเลและสายพันธุ์สัตว์น้ำในบริเวณนั้น

BUILDING ELEMENTS AND FORM

Ocean Gate ประกอบด้วยส่วนที่รวมอาคารกับชายหาดเข้าด้วยกัน โดยมีเปลือกหุ้มอาคารที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกภายนอกและภายในทะเล ประกอบกับท่อแก้วที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สังเกตการณ์ซึ่งมีโครงสร้างจมอยู่ในน้ำทะเล

ลายคลื่นน้ำบนตัวตึกไม่ได้เป็นส่วนเดียวที่ทำให้กลมกลืนไปกับชายหาดโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีทางเดินภายนอกซึ่งเป็นส่วนเดียวที่โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ ฟาซาดด้านหน้าเป็นกระเบื้องอลูมิเนียมซึ่งสร้างให้มีรูปร่างคล้ายเกล็ดปลา วัสดุภายนอกสะท้อนพื้นผิวรอบ ๆ ซึ่งช่วยให้กลมกลืนไปกับภูมิทัศน์มากขึ้น

FUNCTION AND STRUCTURE

รูปร่างและการรับรู้ทัศนียภาพของสิ่งปลูกสร้างนี้เปลี่ยนไปตามมุมที่ยืนอยู่ เนื่องจากแนวคิดในการออกแบบที่เป็นการสร้างวัตถุที่แม้จะมีขนาดใหญ่แต่ก็สามารถผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี มีความชัดเจนและใช้งานง่ายในเวลาเดียวกัน

ทางเข้าหลักคืออุโมงค์ที่นำไปสู่อุโมงค์สี่เหลี่ยมก่อนจะเปลี่ยนไปสู่อุโมงค์ที่แคบลง (เส้นทางนี้ไม่ต้องสัมผัสน้ำโดยตรง) นอกจากนี้ยังสามารถเข้าได้ทางน้ำ ซึ่งจะไปบรรจบกันที่บันไดเพื่อจะเข้าไปส่วนใต้น้ำ และบันไดที่เชื่อมทางเข้ากับ Ocean Gate จะพาไปสู่ทะเลภายใน ซึ่งผู้เข้าชมสามารถชื่นชมพื้นที่ใต้น้ำได้จากอุโมงค์ดังกล่าว

โครงสร้างของ Ocean Gate ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนทางเข้าหลัก (the shell) และอุโมงค์ (the tube) ระบบรับน้ำหนักของทางเข้าหลักสร้างจากกรอบเหล็กซึ่งสร้างให้สอดคล้องกับฟาซาดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนภายนอก และอุโมงค์เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ทำจากแก้วที่รองรับด้วยโครงเหล็ก ความกว้างจะเปลี่ยนไปตามความลึกของสถานที่ตั้ง (จาก 17 เมตร เป็น 4 เมตร) ในขณะที่ความยาวรวมประมาณ 70 เมตร และโครงสร้างทั้งหมดวางอยู่บนฐานเสาเข็ม

 ในอนาคต เราอาจมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้สามารถสร้างสถาปัตยกรรมที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นได้โดยแทบไม่ทำลายระบบนิเวศน์เดิมและกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์รอบ ๆ อย่างสวยงามมากขึ้น นอกจากนี้อาจจะเป็นการทำให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://amazingarchitecture.com/futuristic/ocean-gate-observatory-by-antireality

Previous articleเหมียว ‘ปัตยกรรม เปิด 10 บ้าน ดีไซน์เพื่อเจ้านายโดยเฉพาะ
Next article10 สถาปัตยกรรมสีสันสดใส แบ่งความขี้เล่นไปทั่วทุกมุมโลก
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว