ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาด้วยผลงานและรางวัลต่าง ๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องของคุณสุรชัย เอกภพโยธิน และ คุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ ผู้ก่อตั้ง OFFICE AT ล้วนเป็นผลจากความรักในอาชีพสถาปนิก กอปรกับปณิธานอันแน่วแน่ ความทุ่มเทและมุ่งมั่น เพื่อต้องการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับวงการสถาปัตยกรรมของไทยให้ทัดเทียมสากลมากขึ้นนั่นเอง

ผู้สร้างสรรค์นิยามใหม่ให้กับวงการสถาปัตยกรรมของไทย
เรียกได้ว่า OFFICE AT คือ บริษัทสถาปนิกรุ่นใหม่รายแรก ๆ ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการออกแบบสถาปัตยกรรมของไทย เพราะหลังจากทั้งคู่ได้หาประสบการณ์ในต่างแดนอยู่หลายปี จึงตัดสินใจกลับมาเปิดบริษัทขึ้นที่เมืองไทย ซึ่งแตกต่างกับสถาปนิกรายอื่น ๆ ในขณะนั้นที่มักจะทำงานมาในเมืองไทยซักระยะหนึ่งจนมีคนรู้จักหรือลูกค้าเจ้าประจำมากพอสมควรแล้วจึงค่อยก่อตั้งบริษัท

1OK - NAJ_2619 copy

“หลังจากเราเริ่มทำงานที่เมืองไทยได้ประมาณปีกว่าก็ตัดสินใจว่าต้องไปเรียนต่อเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ที่ University of Michigan Ann Arbour หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำงานที่นิวยอร์คประมาณสามปีกว่า จนถึงจุดอิ่มตัว เราทั้งสองคนก็มีความรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องกลับมาเมืองไทยได้แล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงฟองสบู่แตกพอดีและมีเหตุการณ์ 911 ด้วย หลาย ๆ คนอาจจะกลัวแต่เรากลับมองว่าเป็นช่วงโอกาสที่ดีที่จะได้ทำงานออกแบบ เพราะสามารถให้เวลากับแต่ละโปรเจคได้อย่างเต็มที่ โดยงานในช่วงแรก ๆ จะเป็นบ้านของคนรู้จักเสียส่วนใหญ่ สาเหตุที่ทำให้มีคนรู้จัก OFFICE AT ได้เร็วอาจเป็นเพราะช่วงก่อนกลับมาเมืองไทยมีโอกาสได้ส่งผลงานการประกวดแบบโครงการ Queens Plaza Design Ideas Competition ในปีค.ศ. 2001 ซึ่งครั้งนั้นเราก็ชนะการประกวด โดยถือเป็นครั้งแรกที่เราสองคนทำประกวดแบบด้วยกัน และตอนที่กลับมาเมืองไทยก็ได้ร่วมการประกวดออกแบบของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โครงการ Bangkok University International College and Art Gallery (BUIC & BUG) ซึ่งก็ได้รางวัลชนะเลิศ

หากมองย้อนกลับไปตอนที่เริ่มเปิดบริษัท เราไม่ได้กดดันตัวเองว่าจะต้องมีการเติบโตแค่ไหนต้องเป็นไปในรูปแบบใด ทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปของมันเอง เราเพียงแค่อยากทำงานที่เรารักและตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด ต้องการสร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นและเป็นจุดเปลี่ยนของวงการสถาปัตยกรรมของบ้านเรา นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ Office of Architetural Transition หรือ OFFICE AT ซึ่งเราทั้งคู่คิดว่าคงเป็นการดีหากเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการออกงึ่สถาปัตยกรรมของไทย”

ผลลัพธ์จากความรักในการทำงาน
หลายๆ คนมองภาพ OFFICE AT เหมือนนักล่ารางวัล แท้จริงแล้วรางวัลเหล่านั้นคือผลลัพธ์ของการใส่ใจในการทำงาน ด้วยรางวัลที่การันตีผลงานมากมายและมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้งบริษัท จนถึงวันนี้นับเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันที่สำคัญคือการรักในสิ่งที่ทำ

“พูดถึงเรื่องสไตล์ ตั้งแต่เริ่มต้นเราไม่ได้ต้องการทำงานที่มีความเฉพาะเจาะจงในเรื่องของรูปแบบทางสถาปัตยกรรม เช่น ผลงานของ Zaha Hadid หรือคนอื่น ๆ แต่เราจะเริ่มจากการวิเคราะห์โปรแกรมและฟังก์ชั่นการใช้สอยก่อน จากนั้นจึงแปลงความต้องการ (Requirement) ให้เป็นพื้นที่โดยการแสดงให้เห็นด้วยไดอะแกรมที่เข้าใจง่าย และสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างคือความต้องการของเจ้าของงานเป็นหลักว่าต้องการอะไร บางงานเจ้าของต้องการ
ความหวือหวา บางงานก็ต้องการความเรียบ และเราจะหาว่าอะไรที่จะสามารถเป็นจุดเด่นให้กับตัวโครงการโดยสามารถสร้างความพิเศษหรือเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการได้ เพราะฉะนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาในแต่ละงานมันก็จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่จะยังคงกลิ่นอายของความเป็น OFFICE AT อยู่

ความต้องการของลูกค้าในแต่ละงานก็แตกต่างกันไป ยิ่งโครงการนั้น ๆ มีโจทย์ที่ต้องแก้หรือมีข้อจำกัดเยอะก็จะยิ่งทำให้เรามีความสนุกในการออกแบบและการคิดงานมากขึ้น โจทย์อาจจะมาในรูปแบบของที่ดินที่มีข้อจำกัดเยอะและมีความเป็นไปได้น้อยที่จะทำโครงการ เช่น ที่ดินเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมแหลม หรือโจทย์อาจจะมาในรูปแบบของ
งบประมาณที่จำกัดก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะไม่ได้มองว่ามันเป็นข้อจำกัด เรากลับมองว่ามันท้าทายและน่าสนุกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจ้าของโครงการจะได้จากเรานั้นจะต้องเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจะแตกต่างจากอาคารทั่ว ๆ ไปอย่างแน่นอน

ในบางครั้งเราก็จะนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์นอกเหนือโปรแกรมการออกแบบลงไปด้วย ซึ่งผลสุดท้ายแล้วสิ่งที่ได้รับก็จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของโครงการเอง ทั้งนี้ถือเป็นความโชคดีของเราเพราะในหลาย ๆ ครั้งเราก็เจอกับเจ้าของโครงการที่มีวิสัยทัศน์่กว้างไกล มิฉะนั้นหลาย ๆ โครงการคงไม่สามารถเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ซึ่งก็มีบาง
โครงการที่เราอาจต้องอธิบายทำความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจริง ๆ ในส่วนของขั้นตอนการคุยกับลูกค้าถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเลยทีเดียว โดยจะแตกต่างกับเวลาที่เราสอนนักศึกษา ในส่วนนี้เราต้องแยกบทบาทให้ได้ เวลาเราสอนหรือบรรยายนักศึกษาเค้าก็จะมาฟังด้วยระบบความคิดในลักษณะที่มาหาความรู้ต่างกันกับลูกค้าที่ไม่ได้คิดว่าอยากจะสร้าง Great Architecture ซึ่งอาจมีบ้างแต่น้อยราย แต่ความต้องการของลูกค้าโดยส่วนใหญ่คือต้องการให้ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือพออยู่ได้ ซึ่งเราก็จะพยายามบอกลูกค้าเสมอว่าเราสามารถทำตามสิ่งที่เขาต้องการได้ในขณะเดียวกันเราก็ทำให้อาคารหลังนี้มีคุณค่าในตัวได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โครงการ PTTEP-S1 งานนี้ทาง ปตท.สผ. ได้ให้เกียรติทาง OFFICE AT เข้าร่วมประกวดออกแบบ โดยลักษณะที่ตั้งโครงการคือพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันบนบก ซึ่งปกติแล้วโครงการลักษณะนี้มักจะเน้นฟังก์ชั่นอย่างเดียว คือมีแท่นขุดน้ำมัน หอพักที่พออยู่ได้ ห้องทำงานที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และนอกจากคอนเซ็ปต์หลักเรื่องการขุดเจาะน้ำมันแล้ว เรายังนำเสนอเรื่องการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของพนักงานด้วย

การดีไซน์พื้นที่ทำให้ไม่น่าเบื่อ จัดให้มีสวนและลานกิจกรรม สำหรับเล่นดนตรีหรือเล่นกีฬา แทรกไปกับตัวอาคาร มีพื้นที่สีเขียวเป็นที่ว่างไหลลื่นจากชั้นหนึ่งไปยังชั้นสองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในโจทย์ แต่เราคำนึงถึงผู้ที่ใช้งานจริง ๆ ว่าต้องการอะไร สิ่งใดที่สามารถทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนที่ใช้งานในอาคารนั้น ๆ ดีขึ้นได้ เราก็จะเสริมในส่วนนั้นเข้าไป ทั้งนี้ต้องขอบคุณทางโครงการด้วยที่เล็งเห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้นในส่วนนี้และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราชนะโครงการนี้ ซึ่งสิ่งที่เรานำเสนอไปนั้นจะกลายเป็นผลดีต่อองค์กรเอง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานดีขึ้น หรือหาก
อาคารหลังนั้นได้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจมีคนพูดถึง สิ่งนี้ก็เหมือนกับเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการไปในตัวได้อีกเช่นกัน

ทุก ๆ ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่เจ้าของโครงการ แต่รวมถึงผู้ร่วมงานท่านอื่นๆ ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรโครงสร้าง อินทีเรีย ซัพพลายเออร์หรือผู้รับเหมาเองก็ตาม ล้วนมีส่วนทำให้งานนั้น ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ในการทำงานเราไม่ได้ใส่ใจเฉพาะงานประกวดเท่านั้น แต่งานทุก ๆ ชิ้นที่เรารับมาออกแบบนั้น เราตั้งใจสร้างสรรค์ทั้งหมดโดยรางวัลเหล่านั้นคือผลที่ตามมาในการทำงานมากกว่า ซึ่งทั้งหมดจะย้อนกลับไปถึงคอนเซ็ปต์และกระบวนการในการทำงานของเรา ไดอะแกรมที่เราเขียนขึ้นนั้นไม่ใช่แค่การจัดสรรพื้นที่ แต่มีความหมายมากกว่านั้นและ
ล้วนเป็นประโยชน์สำหรับลูกค้าและตัวโครงการเอง ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อสร้างความฮือฮาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่หลายหมื่นตารางเมตร หรือบ้านหลังเล็ก ๆ เราก็จะยึดหลักเดียวกันนี้ในการทำงานเสมอ”

ทัศนียภาพภายนอกโครงการ PTTEP-S1
ทัศนียภาพภายนอกโครงการ PTTEP-S1
ทัศนียภาพภายในโครงการ PTTEP-S1
ทัศนียภาพภายในโครงการ PTTEP-S1

ส่วนเติมเต็มของกันและกันทั้งด้านคู่ชีวิตและการทำงาน
ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกันจึงทำให้ทั้งคู่มีแนวคิดและวิธีการใช้ชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในบางครั้งนั้นกลับช่วยให้แต่ละคนต่างเปิดมุมมองของตนเองไปอีกด้านหนึ่ง

“หลักการในการบริหารงานคือ เราช่วยกัน ในบางครั้งอาจมีความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันหรือการให้น้ำหนักความสำคัญในแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมชาติ โดยที่เราจะมาคุยและถกปัญหากันว่าควรจะแก้ไขหรือดำเนินการไปทิศทางใด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันและช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกันอยู่แล้วโดยเฉพาะในขั้นตอนของการออกแบบ ถึงแม้ว่าก่อนที่จะมาเปิดออฟฟิศด้วยกันนั้นยังไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อนเลยก็ตาม เมื่อยิ่งทำงานมาด้วยกันนาน ๆ ก็ยิ่งเข้าใจกันมากขึ้นและรู้ใจกันว่าใครถนัดส่วนไหนมากกว่า แต่ในส่วนของขั้นตอนหลังการออกแบบก็มีบ้างบางโปรเจคที่แบ่งกันบริหารจัดการเป็นโครงการไป

ในส่วนการบาลานซ์การใช้ชีวิตและการทำงานรวมทั้งการหาแรงบันดาลใจเราคิดว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์อยู่แล้ว ซึ่งการพักผ่อนหรือการหาแรงบันดาลใจนั้นอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ เช่น การเปิดดูเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งเวลาศึกษางานเหล่านี้เราจะลงลึกถึงรายละเอียดและที่มาที่ไป ถึงวิธีคิดของสถาปนิกผู้ออกแบบ หรือถ้ามีงานสัมมนาเชิญสถาปนิกต่างชาติมาบรรยายเราก็มักไม่พลาดโอกาสที่ดีเหล่านั้น ซึ่งหลัง ๆ มีแนวคิดใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายและมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอตามกาลเวลา หรือตามเงื่อนไขของบริบท โดยในการใช้เวลาของเรามักจะแยกกันไม่ออกโดยสิ้นเชิงว่าส่วนไหนคือการพักผ่อนส่วนไหนคือการทำงาน ทุก ๆ อย่างมันหล่อหลอมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวพักผ่อนหรือไปทานอาหารตามสถานที่ต่าง ๆ เราก็ดูการดีไซน์หรือองค์ประกอบรายละเอียดของสถานที่นั้น ๆ ไปด้วย เราเลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นงานและไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่รบกวนเวลาส่วนตัว เราคิดว่าคนที่เป็นนักออกแบบส่วนใหญ่แล้วก็เป็นแบบนี้เช่นกัน มีการขวนขวายหาความรู้และไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ

คนอื่น ๆ อาจจะใช้เวลาพักผ่อนไปกับการเดินห้างช้อปปิ้ง สำหรับเราก็เดินห้างช้อปปิ้งเหมือนกัน แต่เราดูรายละเอียดการออกแบบและดูงานไปด้วย เชื่อว่าคนที่ได้เจอสิ่งที่ทำแล้วชอบจริง ๆ ถือเป็นความโชคดีเพราะเขาจะไม่เคยรู้สึกเลยว่ามันเป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้ต้องทำ เค้าจะมีแรงกระตุ้นและความอยากทำงานนั้นอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปโดยธรรมชาติเอง แต่ในช่วงที่งานเร่งต้องส่งโปรเจคก็อาจจะมีบ้างที่ต้องทำงานหนักกว่าปกติ นั่นก็เรื่องเป็นธรรมดาที่ทุกอาชีพก็ต้องอดทนและฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เช่นกัน แต่ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำจริง ๆ เราจะไม่รู้สึกว่าต้องดิ้นรนเลย และผลจากการทำงานนั้นจะเจริญเติบโตและงอกงามตามมาเอง

สำหรับเรื่องการเลี้ยงลูกอันนี้ต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจนตอนที่ลูกยังเล็ก ๆ ยังไม่มีปัญหามากนัก แต่พอเด็กเริ่มโตขึ้นก็จะมีคำถามตามประสาเด็กว่าทำชไมต้องไปดูตึกด้วย ซึ่งเราก็เข้าใจในความเป็นเด็กของเขา แต่ทั้งนี้ไลฟ์สไตล์ของเราสองคนก็เริ่มส่งผลไปยังลูกเช่นกัน จนถึงวันนี้เค้าก็เริ่มจดจำคำพูดของพ่อแม่ไปใช้บ้างแล้ว เริ่มบอกได้แล้วว่า ตึกนี้ดี รายละเอียดตรงนี้สวย ซึ่งกลายเป็นความสนุกสนานของครอบครัวไปแล้ว

มุมมองต่อวงการสถาปัตยกรรมในอนาคตวงการสถาปัตยกรรมในอนาคต
ก็คิดว่าน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้น ต้องขอบคุณหลาย ๆ สำนักพิมพ์ด้วย อย่างเช่น บริษัทลายเส้น ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานความรู้เชิงสถาปัตยกรรมออกมาอย่างมากมายซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น และช่วงหลัง ๆ มานี้ อินเตอร์เนตเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกได้เยอะขึ้นกว่าก่อนมาก ทำให้เราสามารถศึกษางานของสถาปนิกอีกซีกโลกนึงได้อย่างฉับไว เห็นงานพร้อมกับคนอื่น ๆ ได้เลย ไม่ต้องรออ่านหนังสือแบบเมื่อก่อนแล้ว แต่ก็ต้องระวังเหมือนกันเพราะข้อมูลอะไรที่มากมายและย่อยง่ายขนาดนี้ เราต้องเลือกรับเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์จริง อีกประเด็นหนึ่งคือเราจะเห็นได้ว่าสถาปนิกไทยเริ่มมีบทบาทก้าวสู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของวงการเลยทีเดียว”

อ่าน: Glasshouse @ Sindhorn – ‘OFFICE AT’ รางวัล จากความรักในการทำงาน (ตอนที่ 2)

นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous articleDurabulb หลอดไฟรักษ์โลก ตกไม่แตก ช่วยลดก๊าซคาร์บอน 20,000 ตัน
Next articleNendo ชวนปลุกจินตนาการไปกับ ศิลปะกระดาษเชิงนามธรรม ‘Un-Printed Material’
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร