จากเหตุการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดคำถามถึงการปรับตัวของวงการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงวงการสถาปัตยกรรม ที่เกิดคำถามว่าในอนาคตการออกแบบออฟฟิศแบบเปิดโล่งจะยังเป็นที่ต้องการอยู่หรือไม่ การออกแบบตึกระฟ้าจะปรับตัวอย่างไร การออกแบบที่อยู่อาศัยจะเป็นในรูปแบบไหน สมาร์ทโฟนจะกลายเป็นตัวควบคุมทุกอย่างตั้งแต่เปิด-ปิดไฟ ไปจนถึงการสั่งกาแฟหรือเปล่า บทความของ The Guardian จะมาเผยมุมมองของสถาปนิกจากทั่วโลกและการปรับตัวหลังวิกฤต COVID-19
จากอดีตสู่ปัจจุบัน เมืองและอาคารได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากโรคภัยต่าง ๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมือจับประตูทองเหลืองที่ป้องกันแบคทีเรีย ถนนในเมืองที่มีต้นไม้สองข้างทาง ตัวอย่างเหตุการณ์อหิวาตกโรคที่ส่งผลให้เกิดระบบถนนตารางหมากรุก เนื่องจากโรคระบาดที่เกิดในศตวรรษที่ 19 นั้น ส่งผลให้มีการนำระบบระบายน้ำที่ต้องให้ถนนข้างบนมีขนาดกว้างขึ้นและเป็นเส้นตรง พร้อมกับกฎหมายแบ่งเขตกำหนดพื้นที่ เพื่อป้องกันความแออัดยัดเยียด
อีกประวัติศาสตร์โรคระบาดใหญ่ครั้งที่ 3 หรือกาฬโรคที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเมื่อปี 1855 ทำให้การออกแบบทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ท่อระบายน้ำไปจนถึงธรณีประตู และฐานรากของอาคาร เพื่อต่อสู้กับหนูที่เป็นพาหะนำโรค ขณะที่การออกแบบสมัยใหม่ที่ดูสวยงาม สะอาดและสว่างไสวนั้น ส่วนนึงเป็นผลจากวัณโรค ซึ่งได้ตัวอย่างจากโรงพยาบาลสำหรับผู้เป็นโรคเรื้อรังที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง ทาผนังห้องด้วยสีขาว ปูพื้นห้องน้ำด้วยกระเบื้องที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย พร้อมด้วยเก้าอี้สำหรับใช้ในการพักผ่อน จะเห็นว่ารูปร่าง (Form) นั้นถูกพัฒนาจากความกลัวติดเชื้อ ไม่ต่างกับการใช้งาน (Function)
ในขณะที่ผู้คนใช้ชีวิตด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม ร้านค้าปิด ออฟฟิศที่ไม่มีพนักงาน ศูนย์กลางเมืองกลายเป็นเมืองร้างว่างเปล่า ไร้ผู้คน เกิดคำถามขึ้นว่า ผลกระทบจาก COVID–19 จะเปลี่ยนแปลงเมืองของเราไปอย่างไรบ้าง
บ้านจะต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะกับการทำงานด้วยหรือไม่?
ฟุตบาทจะต้องกว้างขึ้น เพื่อที่จะเว้นระยะห่างทางสังคมได้หรือเปล่า?
หากผู้คนไม่ต้องการอาศัยในที่ซึ่งแออัด แล้วออฟฟิศแบบเปิดโล่ง กับการเบียดเสียดในลิฟต์ล่ะ?
รวมถึงการที่ต้องต่อแถวเข้าคิว จะเป็นอย่างไร?
แนวทางการออกแบบในยุค Post COVID-19
Design Research Unit (DRU) บริษัทออกแบบที่ก่อตั้งในปี 1943 ได้เปลี่ยนมุมมองการทำงานโดยคาดการณ์ภูมิทัศน์หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ว่า จากประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงการออกแบบในช่วงหลังสงครามที่อังกฤษ ทั้ง Dome of Discovery ป้ายถนนที่กรุงลอนดอน และโลโก้ British Rail ทำให้บริษัททุ่มความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาคำตอบว่าการออกแบบอาคารที่ช่วยลดและหยุดแพร่ระบาดของโรค โดยการสำรวจทุกอย่างตั้งแต่สถาปัตยกรรมภายในพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงการเคลือบพื้นผิวอาคาร
Darren Comber ผู้บริหารของ Scott Brownrigg ซึ่งรวมบริษัทกับ DRU ในปี 2004 กล่าวถึงมุมมองของบริษัทที่มีต่อสถานที่ทำงานว่า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุด จากที่เราเคยเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Co-working space แต่หลังจากนี้จะเกิดคำถามที่ว่าบริษัทต่าง ๆ จะยังต้องการให้ทีมของตนทำงานในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปนกับผู้คนจากธุรกิจอื่น ๆ หรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ Co-working มีจุดขายที่พื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับบรรดาฟรีแลนซ์อาชีพต่าง ๆ ในระหว่างจิบกาแฟ
แต่ความใกล้ชิดในปัจจุบัน ดูจะไม่เป็นที่ดึงดูดอีกต่อไป แม้ Darren จะไม่ได้มองว่าทุกคนควรกลับไปสู่รูปแบบออฟฟิศที่มีฉากกั้นสำนักงาน แต่เขาคิดว่าความหนาแน่นในออฟฟิศจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเห็นแนวโน้มที่เปลี่ยนจากออฟฟิศแบบเปิดโล่ง เช่นเดียวกับระบบระบายอากาศที่ดีขึ้น รวมถึงหน้าต่างที่สามารถเปิดได้กว้างยิ่งขึ้น
ขณะที่ Arjun Kaicker อดีตหัวหน้าทีมออกแบบสำนักงานจาก Foster and Partners ผู้มีประสบการณ์ออกแบบมากว่าทศวรรษ รวมถึงสำนักงานใหญ่ของทั้ง Apple และ Bloomberg มองว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของทางเดินในตึกและทางเข้าออกที่จะมีขนาดกว้างขึ้น รวมถึงการนำฉากกั้นมาใช้มากขึ้น
Kaicker จากฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลและหาอินไซต์ที่ Zaha Hadid Architects เสริมว่า ที่ผ่านมาการออกแบบทุกอย่างเป็นเรื่องของการทลายกำแพงการทำงานร่วมกันระหว่างทีม แต่เขาไม่คิดว่าพื้นที่จะถูกถ่ายเทและหมุนเวียนไปยังแต่ละบุคคลอีกต่อไปในอนาคต
แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเดิมที่โต๊ะทำงานมีขนาดเล็กในทุก ๆ ปี ตั้งแต่ 1.8 เมตร ลงมาเหลือ 1.6 เมตร จนกระทั่ง 1.4 เมตรในปัจจุบันหรือเล็กกว่านั้น ในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม เนื่องจากแต่ละคนไม่ประสงค์ที่จะนั่งใกล้ชิดกันเหมือนเดิม
Kaicker ยังได้คิดถึงการออกกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อควบคุมขนาดพื้นที่ต่อจำนวนคนในแต่ละออฟฟิศ รวมไปถึงการลดจำนวนสูงสุดในการบรรทุกคนในลิฟต์โดยสาร หรือพื้นที่ล็อบบี้ เพื่อลดความหนาแน่นเกินไป
ซึ่งมุมมองของ Kaicker นี้ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออาคารสูง ซึ่งจะมีต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพในการใช้งานลดลง ไม่ว่าจะเป็นอาคารเพื่ออยู่อาศัยหรือเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้เป็นที่ไม่ดึงดูดนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเชิงเศรษฐกิจอีกต่อไป
ดีไซน์ไร้การสัมผัส หนึ่งเทรนด์การออกแบบที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้
ปัจจุบันทีมของ Zaha Hadid Architects อยู่ในระหว่างการออกแบบสำนักงานในอนาคต ซึ่งมีการนำแนวคิดหลังวิกฤติ COVID-19 ของ Kaicker เข้ามาประยุกต์ใช้ด้วย โดยอาคารสำนักงานใหญ่ของ Bee’ah บริษัทกำจัดขยะและกากของเสียอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ในรัฐชาร์จาห์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น ถูกออกแบบโดยอิงกรอบความคิด “วิถีทางไร้การสัมผัส” ซึ่งหมายความว่าพนักงานในอาคารแทบจะไม่ต้องใช้มือสัมผัสพื้นผิวสำหรับการเคลื่อนที่ในอาคาร เช่น ลิฟต์ที่สามารถใช้สมาร์ทโฟนในการสั่งการ ส่วนประตูสำนักงานจะเปิดอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว และโปรแกรมจดจำใบหน้า
Kaicker พูดถึงการออกแบบอาคารดังกล่าวว่า ทีมออกแบบมองหาแนวทางกำจัดการสัมผัสในพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่บนถนนไปจนถึงโต๊ะทำงาน ฉะนั้นทั้งม่านบังตา แสงสว่าง การระบายอากาศ แม้กระทั่งการสั่งกาแฟ จะถูกควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ที่จะช่วยลดการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีไวรัสติดอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อกว่า 80%
อ้างอิงข้อมูลจาก