แม้ว่าตัว ซาฮา ฮาดิด จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังคงฝากผลงานสุดครีเอทีฟให้ได้ชมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดอาคาร Port House ที่ใช้เวลาเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอาคารดังกล่าวมีความโดดเด่นจากการขึ้นโครงสร้างลักษณะรูปทรงเรือขนาดใหญ่ ซ้อนทับไว้บนอาคารสถานีดับเพลิงเดิม พร้อมตกแต่ง façades ให้มีความสวยงามสะท้อนแสงราวกับเพชร สร้างความสะดุดตาให้กับผู้พบเห็นในฐานะแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ริมแม่น้ำสเกลต์ แห่งเมืองแอนต์เวิร์ป
Port House ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำสเกลต์ ในเมือง แอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม รูปลักษณ์ของอาคารดูโดดเด่นสะดุดตาเนื่องจากเป็นผลงานดีไซน์ของซาฮา ฮาดิด สถาปนิกผู้โด่งดังนั่นเอง ซึ่งการออกแบบอาคารดังกล่าวได้รีโนเวทและต่อเติมส่วนขยายของอาคารสถานีดับเพลิงเก่าที่ยกเลิกการใช้งานแล้ว เพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสำนักงานท่าเรือแห่งใหม่สำหรับให้เหล่า พนักงานท่าเรือทั้ง 500 คน ได้เข้ามาทำงานอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่หน่วยงานต่างๆ จะมีสำนักงานกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง ตัวโครงการได้เริ่มออกแบบขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ขณะที่ ซาฮา ฮาดิด ยังมีชีวิตอยู่ และล่าสุดอาคารก็ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โครงการปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้าง port houseมีการออกแบบจัดองค์ประกอบของพื้นที่โดยสร้างอาคารหลังใหม่แบบร่วมสมัยที่คล้ายกับเรือขนาดใหญ่ อยู่เหนืออาคารเก่าที่เคยเป็นสถานีดับเพลิง ราวกับเป็นเรือลำใหญ่ลอยอยู่กลางอากาศพร้อมกับมีโครงสร้างอาคารเดิมเป็นฐานรองรับ หันทิศทางไปยังแม่น้ำสเกลต์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและยังเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองอีกด้วย ส่วนพื้นที่ภายในอาคารเก่าที่เป็นสำนักงานดับเพลิงนั้นก็ได้มีการปรับปรุง ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะสมกับงานรูปแบบใหม่ โดยทีมงานออกแบบของซาฮา ฮาดิด ก็ได้จัดวางองค์ประกอบอันคงรูปลักษณ์ภายนอกของอาคารเดิมที่มีความเก่าแก่และคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้ ด้วยเหตุนี้port house จึงเป็นการคารที่มีการผสมผสานระหว่างความเก่าแก่แบบดั่งเดิม และความทันสมัยได้อย่างลงตัว
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานออกแบบโดยซาฮา ฮาดิด แล้ว ก็ต้องมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเป็นแน่ ซึ่งความโดดเด่นของport house ก็คงหนีไม่พ้นการตกแต่งพื้นผิว façades ของอาคารใหม่ด้านบน โดยเป็นการตกแต่งคลุมด้วยกระจกทรงสามเหลี่ยมเรียงต่อกัน ส่วนท้ายอาคารจะทำมุมเหลื่อมกันเป็นผิวขรุขระ ส่วนด้านหน้าอาคารจะเป็นผิวเรียบ เมื่อดูภายนอก façades กระจกก็จะสะท้อนแสงอาทิตย์ระยิบระยับคล้ายกับเพชร และยังสะท้อนแสงในเฉดสีที่ต่างกันออกไปตามลักษณะของท้องฟ้า ทั้งนี้กระจกสามเปลี่ยมบางบานก็จะใสและบางบานก็จะทึบสลับกันไป จึงเป็นการควบคุมแสงอาทิตย์จากภายนอก ให้สาดส่องเข้ามาสร้างความสว่างกับพื้นที่ภายในอาคารอย่างสมดุล และยังช่วยให้บุคคลที่ทำงานอยู่ภายในอาคาร สามารถทอดสายตาชมวิวทิวทัศน์อันแสนสวยงามของแม่น้ำสเกลต์ และเมืองแอนต์เวิร์ป ได้โดยรอบ
ตัวโครงสร้างของอาคารใหม่ถูกค้ำยันด้วยเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ และโครงเหล็กที่ทำมุมเฉียงสอดรับกับตัวฐานรองอาคารอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งโดยรวมแล้ว อาคารport house ใช้พื้นที่ก่อสร้างไปทั้งหมด 16,400 ตารางเมตร และตัวอาคารมีสูงรวมกว่า 46 เมตร ส่วนบริเวณลานกว้างที่อยู่ส่วนกลางของอาคารเก่า ได้มีการคิดคั้งหลังคากระจก เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้คนได้เข้าถึงพื้นที่ส่วนห้องสมุดประวัติศาสตร์ และบริเวณลานกว้างยังมีลิฟท์กระจกพาโนราม่าที่จะพาไปยังอาคารส่วนต่อขยายด้านบน นอกจากนี้ภายในอาคารสำนักงานจะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งร้านอาหาร และห้องประชุม ที่อยู่บริเวณชั้นบนของอาคารเก่า และส่วนชั้นล่างสุดของอาคารลอยฟ้าที่สร้างใหม่
แม้ว่าจะมีความท้าทายในการรวมองค์ประกอบระหว่างอาคารเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กับส่วนขยายอยู่บ้าง แต่ผู้ออกแบบก็ได้วางแผนต่อเติมการก่อสร้างนำมันมารวมกันได้อย่างลงตัว รวมถึงยังได้วางระบบภายในสำหรับการใช้งานอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นนำพลังงานสะอาดมาใช้งานให้สร้างมลภาวะน้อยที่สุด ประกอบกับทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับริมแม่น้ำ จะทำให้การก่อสร้างดำเนินขึ้นได้อย่างราบรื่น ซึ่งวัสดุก่อสร้างและส่วนประกอบของอาคารสามารถขนย้ายได้ง่ายผ่านการขนส่งทางเรือ
Source : designboom