ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองของสตูดิโอออกแบบ-ก่อสร้างบูธ ‘Design Alive’ ซึ่งอีกไม่นานจะฉลองครบรอบ 20 ปี มาไขกุญแจเบื้องหลังไอเดีย และแนวคิดในการทำงาน ผ่านบทสัมภาษณ์ที่จะชวนมาขบคิด หาคำตอบ เพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่สุดสร้างสรรค์ผ่านคุณเซฟ-มนต์ชนะ สัตยธำรงเธียรผู้อำนวยการโครงการ บริษัท ดีไซน์ อไลฟ จำกัด
Table of Contents
ถ่ายทอดความประทับใจผ่านบูธ
เมื่อกล่าวถึงผลงานที่ประทับใจ คุณเซฟบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับเลือกเป็นผู้จัดการพื้นที่หลัก ‘LOCAL INNOVATION Pavilion’ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสถาปนิกท้องถิ่น 12 พาวิลเลียน ภายในงานสถาปนิก’65 โดย Design Alive รับผิดชอบส่วนของการออกแบบ ประกอบกับบริษัทมีความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะออกแบบพาวิลเลียนให้ออกมาสวยงาม แต่ยังคงแฝงปรัชญาตามเจตนารมย์ของสถาปนิก อีกหนึ่งความท้าทายในการทำงานครั้งนั้น คือการดึงจุดประสงค์ของนักออกแบบให้ออกมาเป็นรูปร่าง แต่ยังคงสารที่ต้องการสื่อ นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก โดยคุณเซฟยกตัวอย่างการนำเส้นด้ายมาร้อยถักทอเป็นพาเนลบูธทั้งหมด ซึ่งถ้านำมาก่อสร้างและถักร้อยที่หน้างาน จะมีปัญหาเรื่องเส้นด้ายพันและลดทอนความงดงามของบูธ ทีมงานจึงแก้ปัญหาด้วยการขึงด้าย สร้างพาเนลตั้งแต่โรงงานที่เชียงใหม่ ก่อนนำมาเชื่อมต่อที่หน้างาน ส่งผลให้งานออกมาสมบูรณ์ตรงตามความต้องการของทีมสถาปนิก และอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้แต่แรก
ในส่วนบูธนิทรรศการหรือบูธจัดแสดงสินค้า Design Alive ก็มีประสบการณ์ด้านการออกแบบและก่อสร้างอย่างโชกโชนกว่า 20 ปี อีกหนึ่งผลงานที่ท้าทายคือ บูธ Lancôme โดยคุณเซฟแชร์ว่าหนึ่งปัจจัยที่ต้องระวังในการทำโปรเจ็กต์คือความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากแบรนด์ Lancôme มีสีประจำ CI ที่ห้ามผิดเพี้ยน อีกทั้งยังเป็นงานแรกที่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ลานกิจกรรม King Power สาขารางน้ำ อีกด้วย จึงส่งเสริมให้การทำงานครั้งนี้พิเศษและท้าทายกว่าเคย
“เป็นบูธที่เราวางแผนกันอย่างละเอียด แต่เราก็สามารถจัดการทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี และการจัดแสดงหน้างานเป็นไปอย่างราบรื่น” คุณเซฟกล่าว ก่อนเสริมว่าความคาดหวังของลูกค้าบูธทุกขนาด ไม่ว่าจะ 3×3 ตารางเมตร หรือ 9×9 ตารางเมตร ก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากัน นั่นเป็นเหตุให้ Design Alive ใช้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมา ออกแบบและก่อสร้างบูธเพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้า
เทรนด์การทำงานนำพาความยั่งยืน
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เทรนด์ต่าง ๆ ไม่ได้มีบทบาทในการออกแบบเหมือนทุกวันนี้ บูธที่ดีคือบูธที่เด่น มีขนาดใหญ่ ตกแต่งหรูหราสวยงาม ใช้ทุกเครื่องมือให้เกิดอิมแพคในด้านรูปลักษณ์มากที่สุด แต่ในช่วงหลังมานี้ Pain Point ที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้าของแรงงานมนุษย์ ทำให้ปัจจุบัน ผู้จัดแสดงสินค้าและบริษัทออกแบบและก่อสร้างบูธพยายามสร้างบูธที่มุ่งเน้นไปยังจุดประสงค์หลักหรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดง และเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์สินค้า
ปัจจุบันเทรนด์เรื่องความยั่งยืนและรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในกระแสหลักที่ได้รับความสนใจจากสังคม แต่ Design Alive มองลึกลงไปกว่านั้น ย้อนมอง ณ จุดเริ่มต้นของเทรนด์ในวงการล้วนเริ่มต้นที่ ‘มนุษย์’ ฉะนั้น เทรนด์ในอนาคตจากมุมมองของ Design Alive จึงให้ความสำคัญต่อการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ให้กับพนักงาน ส่งผลให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืนด้านวัตถุจะตามมา ก่อนที่จะเสริมว่าการทำงานอย่างยั่งยืนจะนำพามาซึ่งความยั่งยืนด้านวัตถุ
Design Alive: สั่งสมประสบการณ์
ตอบโจทย์ทุกความต้องการ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ Design Alive มั่นใจและพร้อมดูแลทั้งบูธและพาวิลเลียน ซึ่งผลงานที่ผ่านมาของ Design Alive เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน
“เราอยากฝากว่าเราเป็นผู้รับเหมาที่พร้อมให้บริการ ดูแล ด้วยประสบการณ์ที่มี เราพร้อมเป็น supplier ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมใช้ประสบการณ์และทรัพยากรที่มี เพื่อสร้างความสำเร็จให้ผู้ประกอบการสามารถทรานเฟอร์ความต้องการไปสู่รูปธรรมจริง ๆ” คุณเซฟฝากทิ้งท้าย
เตรียมพบกับความสวยงามของบูธแสดงสินค้าจากดีไซน์ของ Design Alive ในงานสถาปนิก’68 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี