ESG หรือ Environment, Social, Governance คือแนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่ไม่ได้มุ่งเน้นผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อ 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลด้วย

     ซึ่งถ้ากล่าวถึงด้านการพัฒนาอาคาร ESG ถือเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพราะอาคารเป็นส่วนหนึ่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง ไปจนถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่ง ESG จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้พัฒนาหรือธุรกิจอสังหาสามารถออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้งานได้ ทั้งยังเพิ่มมูลค่าอาคารแก่ผู้ใช้งานอีกด้วย โดยจะตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างไปจนถึงการใช้งานอาคารในระยะยาว

ESG มีเกณฑ์ในการตรวจสอบมาตรฐานอาคาร 2 ประการ คือ

1.GRESB (Global Real Estate Sustainability Benchmark) เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดในเรื่องของการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืน ซึ่งตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นการพัฒนาอาคารไปจนถึงการบริหารดูแลส่วนต่าง ๆ ของธุรกิจอสังหา

2.LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นมาตรฐานที่ดูด้านของการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานของอาคาร ซึ่งกำหนดขึ้นโดย U.S. Green Building Council (USGBC) และใช้เป็นเกณฑ์สากลในการประเมินอาคารหรือโครงการต่างๆ โดยมีการให้คะแนนตั้งแต่ระดับ Certified, Silver, Gold ไปจนถึงระดับ Platinum

     ซึ่งข้อแตกต่างระหว่าง 2 มาตรฐานนี้ คือ GRESB จะเน้นไปที่การตรวจสอบการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ของภาคองค์กรหรือธุรกิจเป็นหลัก ต่างจาก LEED ที่จะดูในเรื่องคุณภาพการบริหารจัดการอาคาร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้งานในแต่ละโครงการ

     ยกตัวอย่างอาคารสำนักงานที่ผ่านมาตรฐานขั้นต้นนี้คือโครงการ One City Centre ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Central Embassy ซึ่งอาคารนี้ผ่านการรับรองเกณฑ์ LEED ในระดับ Gold ด้านของการออกแบบเพื่อผู้ใช้งานที่น่าสนใจ คือการที่อาคาร One City Centre ใช้วัสดุในการก่อสร้างที่เป็น Low VOC หรือวัสดุที่มีสารระเหยจากสารประกอบอินทรีย์ต่ำ ช่วยลดอันตรายจากสารระเหยแก่ผู้ใช้งานในอาคาร ทั้งยังมีการใช้อากาศจากภายนอกนำมาลดอุณหภูมิและกรองอากาศ ก่อนปล่อยเข้ามายังพื้นที่ภายในอาคารเพื่อเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ให้กับผู้ใช้งานด้วย ซึ่งถือว่าเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพการทำงานของผู้ใช้อาคารเป็นอย่างมากในมุมมองผม

     ด้านของการออกแบบอาคารเพื่อความประหยัดพลังงานของอาคาร ตัวอาคารได้ใช้กระจกชนิด Low-E หรือกระจกที่เคลือบไว้ด้วยสารโลหะบาง ๆ บนผิวกระจกซึ่งจะช่วยสะท้อนความร้อนจากแสงแดดออกจากอาคารได้ระดับหนึ่ง ทำให้สามารถลดความร้อนภายในอาคาร อีกทั้งยังมีการออกแบบให้ผนังทางฝั่งทิศตะวันตกทั้งหมดเป็นผนังทึบ เพื่อป้องกันแสงแดดช่วงบ่ายที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดของวันเข้ามาในอาคาร ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานจากระบบปรับอากาศได้หนึ่งอีกด้วย

     จากข้อมูลข้างต้นพบว่า การที่อาคารสำนักงานให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคาร ให้ผ่านตามมาตรฐานหรือเกณฑ์ขั้นต้นได้นั้น จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการพัฒนา ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้งานอาคาร ทั้งยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการดึงดูดกลุ่มผู้เช่า ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและการลดการใช้พลังงาน ที่เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวได้อีกด้วย

ผู้เขียน

ธนกฤต อารมณ์ฤทธิ์

นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง สาขานวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ESG : krungthai compass

Green House Gas emission : UN Climate Change Conference

การเติบโตของอาคารสำนักงานสีเขียว : บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

#thammasatdesignschool

Previous articleย้อนรอยผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง สวยไร้ขอบจำกัดด้วยดีไซน์โค้งมน ในงานสถาปนิก’66
Next article5 คุณสมบัติสุดโดดเด่นของลิฟต์บ้านจากแบรนด์ ANTERA