บริษัทสถาปนิก Rogers Stirk Harbour+Partners (RSHP) ในกรุงลอนดอน ปิ๊งไอเดียทำระบบเกษตรแนวดิ่ง “Skyfarm” กลางเมืองใหญ่ เพื่อเร่งแก้ปัญหาวิกฤติอาหารขาดแคลนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเลวร้ายลงหากการผลิตอาหารด้วยรูปแบบวิธีเดิมไม่สามารถผลิตได้ทันกับจำนวนประชากรทีเพิ่มมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการทดลองในอนาคตจากเทศกาลสถาปัตยกรรมระดับโลก ปี 2014 (the World Architecture Festival 2014) ซึ่งได้รับคำชมจากคณะกรรมการว่าเป็นโครงการที่มีความสวยงาม มีความละเอียดรอบคอบ และน่าเชื่อถือ
Skyfarm เป็นอาคารสูงหลายชั้น รูปทรงไฮเพอร์โบลา (รูปทรงที่ได้จากการหมุนของรูปวงรีรอบแกนยาว) ได้แรงบันดาลใจมาจากงาน Milan Expo ปี 2015 ภายใต้หัวข้อ “Feed the world” ภายในอาคารจะเป็นระบบการทำเกษตรแบบปิด ในรูปแบบแนวดิ่ง หรือ การทำเกษตรบนตึกสูง โดยใช้เทคการเพาะปลูกแบบผสมผสาน ทั้งเกษตรแบบผสมผสานพึ่งพากัน (อะควาโปนิกส์) และการทำเกษตรแบบดั้งเดิม
โครงสร้างอาคารทำจากโครงไม้ไผ้ ออกแบบมาเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ด้วยตัวเอง และเปิดรับแสงอาทิตย์ให้ลอดเข้ามาภายในอาคาร รวมทั้งให้ระบบการแจกจ่ายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโครงสร้างชั้นบนของอาคารไล่ขึ้นไปไม่นับชั้นแรก สามารถปรับขนาด และดัดแปลงได้ เพื่อการทำเกษตรที่ใช้วิธีแตกต่างกัน ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบพึ่งพาที่ปลูกพืชและมีบ่อเลี้ยงปลาภายในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้ยังมีถังเก็บน้ำและกังหันลมอยู่ชั้นบนสุดของอาคารด้วย ส่วนด้านล่างของอาคารจะเป็น ตลาด ร้านอาหาร และ ศูนย์การเรียนรู้ที่ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการทำการเกษตร อีกหนึ่งความโดดเด่นคือ โครงสร้างอาคารสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศได้ เช่น สภาพอากาศหนาวเย็น ตัวอาคารจะถูกล้อมด้วยผนังสองชั้น และเครื่องทำความร้อนจะทำงาน เพื่อให้พืชผลเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“แม้ว่าค่าใช้จ่ายล่วงหน้าของ Skyfarm จะสูงกว่ามาตรฐานระดับอุตสาหกรรมการเกษตร แต่ผลผลิตในรอบปีใช้เวลาในการเจริญเติบโตไม่นานนัก เช่น สตรอเบอร์รี่ ผักขม ผักกาดหอม ทั้งยังใกล้กับตลาดแหล่งซื้อขายอาหาร ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางอากาศ นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาแบบอย่างยั่งยืน” สมาชิกในทีม RSHP ผู้ริเริ่มโครงการแห่งอนาคต กล่าวทิ้งท้าย
Source: inhabitat