หลังจากปิดปรับปรุงอยู่นาน สยามดิสคัฟเวอรี่ก็กลับมาเปิดตัวอีกครั้งพร้อมกับความแปลกใหม่ที่นำมาเสิร์ฟกันอย่างจุใจ ทั้งรูปแบบการตกแต่ง เอกลักษณ์ การดีไซน์ที่ออกแบบมาอย่างลงตัว ทันสมัย แต่อีกหนึ่งไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ นิทรรศการหลากหลายจุดภายในอาคาร ที่มีความน่าสนใจและโดดเด่นไม่น้อย ซึ่งนิทรรศการที่อยากแนะนำในวันนี้ มีชื่อว่า “Social Discovery” นิทรรศการชื่อเก๋ที่สอดรับกับการใช้ชีวิตในยุคโซเชียลของคนในสังคมปัจจุบัน ยุคที่สังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก

นิทรรศการชุดนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ กระจายตัวในแต่ละชั้นของอาคาร โดยจะเริ่มที่ส่วนแรก ซึ่งจัดแสดงบริเวณชั้น 1 และ 2 ที่ชื่อว่า “Their Social Discovery” กันก่อน นิทรรศการชุดแรกนี้มาในธีม “When Obsession Becomes Indentity” เกิดจากแนวคิดที่ว่า “ความทันสมัยที่ก้าวกระโดดไปไกลของเทคโนโลยีทุกวันนี้ ส่งผลทั้งด้านบวกและลบ และยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิจารณญาณการรับรู้ข้อมูลของแต่ละบุคคล ด้วยการเล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้ สยามดิสคัฟเวอรี่โฉมใหม่จึงต้องการสร้างแรงจูงใจในการค้นหาตัวตนของผู้ที่มีโอกาสได้ชมนิทรรศการนี้ โดยหยิบเอาเรื่องราวของเหล่าผู้ทรงอิทธิพลในด้านต่าง ๆ ซึ่งใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์ในการประกาศความหลงใหลของตน นอกจากนี้ ยังเพื่อเป็นการสร้างนัยยะในการใช้โซเชียลมีเดียในเชิงบวก เพื่อประโยชน์และแง่คิดดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

Social Discovery

Their Social Discovery

Social Discovery

Their Social Discovery

ผลงานที่นำมาจัดแสดง แบ่งออกเป็น 12 ชุด จากอินสตาแกรมเมอร์ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียง 6 ชุด ได้แก่ Design Shop ที่มีชื่อว่า ‘Serious Design’ 1 ชุด ส่วนอีก 5 ชุด เป็นผลงานจากศิลปิน 4 ท่าน และอีก 1 กลุ่ม ดังนี้

ผลงานจาก ‘Serious Design’ จัดแสดงภาพผลิตภัณฑ์หลุดโลกที่ไม่มีอยู่จริง ไอเดียจาก Serious Design เอง หากยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงการเอาแท่งเฟรนช์ฟรายมาทำเป็นพู่กันลิปสติก หรือกระดานสเก็ตบอร์ดที่ทำจากพิซซ่า ซึ่งหลังจากครีเอทสิ่งของสุดประหลาดเหล่านี้ พวกเขาได้โพสต์ภาพลงบนอินสตาแกรม และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมียอดผู้ติดตามกว่าสี่หมื่นคน ปัจจุบัน Serious Design มีหน้าร้านออนไลน์ที่ขายโปสเตอร์รูปภาพสิ่งของเหล่านี้และมีแฟนคลับติดตามจำนวนมาก

ต่อมา เป็นผลงานจากศิลปิน ทั้งหมด 4 ท่าน ท่านแรก คือ นิว รูปหมอก ศิลปินผู้หลงรักการสร้างภาพแบบ Pixel Art ผลงานของเขานั้น แฝงอารมณ์กวน ๆ ผสมมุกตลก เรียกได้ว่า มีการแบ่งปันอารมณ์ขันบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีเอกลักษณ์

ท่านที่ 2 คือ นักรบ มูลมานัส ผู้เล่าเรื่องราวการผสมผสานทางวัฒนธรรม ที่ถูกผสมเข้ากับวัฒนธรรมของต่างชาติ จนไม่เหลือความเป็นไทยแท้ 100% โดยเล่าเรื่องราวผ่านผลงานด้วยเทคนิคคอลลาจ เป็นภาพการปะติดปะต่อจากหลากหลายชิ้นส่วน ที่แสดงถึงวัฒนธรรมจากทั้งชาติตะวันตกและตะวันออก ต่างยุคต่างสมัย โดยสอดแทรกเรื่องราวและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหมายของความเป็นไทยในปัจจุบัน ด้วยผลงานที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ทำให้มีผู้ติดตามผลงานของเขาผ่านอินสตาแกรมและโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบัน เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบกราฟิกและนักสร้างภาพประกอบ

ท่านที่ 3 คือ Pailactobacillus ผู้นำแรงบันดาลใจจากความหลงใหลในปาร์ตี้ เสียงดนตรี และแสงสียามค่ำคืน มาสร้างเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ที่เรียกได้ว่า “เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง” รวมทั้งมีสีสันโดดเด่นสะดุดตาอีกด้วย

ท่านที่ 4 คือ Darryll Jones จากการถ่ายรูปเป็นงานอดิเรก ได้กลายมาเป็นอาชีพ โดยเริ่มจากการถ่ายรูปโมเดลตุ๊กตา Eric the Stormtrooper และจัดวางองค์ประกอบให้ดูมีเรื่องราว เพื่อนำไปเผยแพร่บนอินสตาแกรม ประสบความสำเร็จด้วยจำนวนผู้ติดตามกว่าแสนคน รวมทั้งได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสารทั่วโลก จนได้รับโอกาสร่วมงานกับบริษัทต่าง ๆ มากมาย

สำหรับผลงานชุดสุดท้าย เป็นของ Lucidscreen ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินที่หลงใหลในงาน Surrealism และนำผลงานมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จนกลายมาเป็นงานโมชั่นกราฟิกที่ดูมีเอกลักษณ์ บวกกับการเลือกใช้องค์ประกอบและสีสันสะดุดตา ทำให้ผลงานของพวกเขาได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก

ผู้สนใจติดตามผลงานของอินสตาแกรมเมอร์ ทั้ง 6 สามารถติดตามได้ทาง seriousdesign, neuroopmok, nakrobmoonmarsnut, pailactobacillus, darrylljones, lucidscreen

ต่อมาในส่วนที่สอง ซึ่งจัดแสดงอยู่บริเวณชั้น M เป็นนิทรรศการที่ชื่อ “My Social Discovery” ออกแบบโดย Black Egg ทีมดีไซเนอร์ระดับโลก ถ่ายทอดแง่มุมการใช้โซเชียลมีเดียในวัฒนธรรมร่วมสมัย ด้วยวิธีการสะท้อนตัวตนที่ผู้คนพยายามสร้างขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยใช้ Instagram เป็นสื่อกลางให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงตัวตนของแต่ละบุคคล ภายในพื้นที่นิทรรศการ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้พบกับภาพบนอินสตาแกรมส่วนตัวของตน จัดแสดงบนผ้าใบผืนยักษ์ มองเห็นเรื่องราวและตัวตนบนโลกโซเชียลทั้งของตนเองและของผู้อื่นผ่านประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ซึ่งการบอกเล่าตัวตนผ่านโซเชียลมีเดีย หรือผ่านอินสตาแกรมนี้ มีเพียงตัวคุณเท่านั้นที่จะเข้าใจเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้อย่างแท้จริง เบื้องหลังของภาพถ่ายจะสะท้อนอยู่ในความทรงจำของคุณ ท่ามกลางเทคโนโลยีและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของ Social Discovery

Social Discovery

 

ส่วนที่สาม ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ Social Discovery คือ นิทรรศการ “A Million Montage of You” เป็นการตีความความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของคุณและคนรอบข้างผ่านเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย โดยให้ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายภาพเซลฟี่ผ่านโทรศัพท์มือถือ Samsung Galaxy บริเวณโฟโต้บูธในพื้นที่นิทรรศการชั้น 4 และเชื่อมต่อ Instagram feed ของคุณเข้ากับจอภาพขนาดยักษ์ เพื่อสร้างเป็นโฟโต้โมเสกของภาพถ่ายเซลฟี่ขนาดใหญ่ขึ้นฉายบนจอ LED โดยพิกเซลที่ประกอบกันเป็นภาพหนึ่งภาพที่เห็นอยู่นี้ได้มาจากภาพอินสตาแกรมของคุณ และภาพถ่ายของผู้ร่วมกิจกรรมรายอื่น ๆ ด้วย

กล่าวได้ว่า จุดประสงค์หลักของนิทรรศการในครั้งนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้ “คุณ” ตั้งคำถามกับเรื่องราวความสนใจ และความชื่นชอบของตนผ่านประสบการณ์การชมนิทรรศการแบบอินเตอร์แอคทีฟ หรือการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมไปกับนิทรรศการ ท่ามกลางการแสดงออกถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้นทุกที

ใครที่อยากสัมผัสความแปลกใหม่ด้วยลูกเล่นอันน่าค้นหาของ Social Discovery มาพบกันได้ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. เป็นต้นไป

Social Discovery

 

Previous articleโฮมโปร จัดโปรโมชั่น Lighting & More เปลี่ยนก่อนประหยัดก่อน
Next articleรวมข้อกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ รุ่นที่ 61
ณัฐธิกานต์ อัจฉริยบดี
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านงานออกแบบ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม