หากจะให้นึกถึงวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อเหลือเกินว่าหลายท่านคงจะนึกถึง ‘เหล็ก’ เป็นลำดับแรก ๆ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ คือการที่เหล็กสามารถนำไป ‘ใช้ซ้ำ (Reuse)’ หรือนำไป ‘รีไซเคิล (Recycle)’ หรือนำไปหลอมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบ 100%

กระบวนการรีไซเคิลสำหรับเหล็กก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยต้นทุนการรีไซเคิลที่ต่ำกว่าโลหะประเภทอื่น อันเนื่องมาจาก ‘การคัดแยก’ เหล็กออกมาจากวัสดุอื่น ๆ ได้ง่าย ด้วยการใช้แม่เหล็ก ในขณะที่โลหะประเภทอื่น ๆ นั้นจะมีต้นทุนการคัดแยกและระยะเวลาในการดำเนินการคัดแยกที่สูงกว่าเหล็กค่อนข้างมาก นอกจากนี้สมรรถนะของเหล็กที่ผ่านการรีซเคิลมาแล้วก็ไม่ได้เสื่อมลง ในทางกลับกันผู้ผลิตเหล็กจากเศษเหล็กนี้ยังสามารถปรับปรุงคุณภาพหรือสมรรถนะให้เพิ่มสูงขึ้นได้ จากการปรับกระบวนการหลอมและการรีดใหม่ รวมไปจนถึงการเติมโลหะบางชนิดเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งด้วยประโยชน์ของเหล็กจากประสิทธิภาพในการรีไซเคิลดังกล่าว ก็ส่งผลต่อการลดการทำลายทรัพยากร ลดการระเบิดสินแร่เหล็ก หินปูน ถ่านหิน ฯลฯ ที่ใช้ในกระบวนการถลุง ลดการใช้พลังงานและปริมาณการปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม อันส่งผลให้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ลดลง โอกาสน้ำท่วมโลกลดน้อยลง โอกาสผจญโรคภัยไช้เจ็บประหลาด ๆ ลดน้อยลง และอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้ว่าประโยชน์จากการรีไซเคิลของเหล็กนั้น จะเป็นเรื่องจริงที่ไม่ต้องแต่งเสริมเติมให้มากนัก แต่นั่นอาจเป็นส่วนที่เรียกว่า ‘ไกลตัว’ สำหรับหลาย ๆ ท่านไปนิด แต่หากมาพิจารณาส่วน ‘ใกล้ตัว’ ก็อยากให้พิจารณาเรื่องของการลดการใช้พลังงานในบ้านหรือในอาคาร คือเป็นส่วนที่ท่านคงต้องคิดให้มากหน่อย เพราะมันเกี่ยวพันกับเงินในกระเป๋าของท่านเป็นสำคัญ โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าในบ้านของท่านนั้น คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก ๆ เช่น เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เครื่องอบผ้า เครื่องทำน้ำร้อนเป็นต้น ในเมืองร้อน ๆ อย่างบ้านเรา หลัก ๆ คงไปลงที่ค่าแอร์ ซึ่งอัตราการใช้ไฟก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของแอร์ที่ท่านใช้ที่ไปสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่ ระยะเวลาในการเปิดแอร์ และที่สำคัญคือความร้อนที่สะสมในพื้นที่ใช้สอยของท่าน ที่ท่านจะต้องเปิดแอร์เพื่อไล่ความร้อนออกไปและหมุนเวียนเอาอากาศเย็นเข้ามาในพื้นที่อาคารของท่านแทน ดังนั้นการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารไม่ให้สูงมากจนเกินไปนัก จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการประหยัดพลังงาน (และส่งผลต่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป)

รููปที่ 1 ระบบผนังที่ดีจะช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านให้อยู่ในระดับที่สบาย ไม่สิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า
รููปที่ 1 ระบบผนังที่ดีจะช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านให้อยู่ในระดับที่สบาย ไม่สิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า

สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและมีแสงแดดทีรุ่นแรงเป็นส่วนใหญ่ในเวลากลางวันดังเช่นในบ้านเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ความร้อนภายในบ้านสะสมขึ้น การเลือกใช้เปลือกอาคาร (ผนัง กระจก หลังคา ฯลฯ) ที่มีคุณสมบัติต้านทานความร้อนไม่ให้เข้าสู่อาคารได้โดยง่ายถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งของอาคารประหยัดพลังงาน นักออกแบบบ้านหรืออาคารที่ดีจะทราบถึงการเลือกใช้ระบบเปลือกอาคารที่ทำให้ค่าการถ่ายเทความร้อนรวม (Overall Thermal Transfer Value หรือ OTTV) มีค่าต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยเราประหยัดค่าแอร์ช่วงเวลากลางวันที่อากาศร้อนอบอ้าวได้ (ดังแสดงในรูปที่ 1) แต่นั่นก็มิใช่หลักการหรือวิธีการที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน เพราะค่าดังกล่าวนี้มิได้กล่าวถึง ‘การสะสมตัวของความร้อนที่ผนังอาคาร’ แต่อย่างใด

ตัวอย่างเช่นในประเทศไทยของเรานั้น มีอากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวในเวลากลางวัน แสงแดดที่ส่องมายังอาคารบ้านเรือนก็เข้าขั้นรุนแรงมาก ๆ โดยทั้งแสงแดดและความร้อนที่ว่านี้แม้ว่าผนังบ้านของเราจะสามารถป้องกันไว้ได้ (จะมากหรือน้อยตามลักษณะของผนังที่ใช้ ซึ่งคำนวณได้ด้วยค่า OTTV) แต่อย่างไรก็ดีความร้อนที่ผนังอาคารบ้านเรือนของเราสามารถป้องกันไว้ได้ ก็จะยังสะสมตัวอยู่ในผนังตั้งแต่เช้าจรดเย็นหลายชั่วโมง และเมื่อเวลาที่เรากลับเข้าบ้านในตอนเย็นตอนค่ำ ผนังบ้านที่อมความร้อนได้ดีนี้ก็จะถึงเวลาคายความร้อนออกไปเมื่ออุณหภูมิภายนอกลดต่ำลง สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้เมื่อเรากลับเข้าบ้านคือ เราต้องไล่ความร้อนภายในตัวบ้านออกไปด้วยการเปิดแอร์ไล่ ส่งผลให้บิลค่าไฟของเรายิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย

จริง ๆ แล้วภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนออกมาในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงลักษณะอาคารและการออกแบบในเชิงสถาปัตยกรรมนั้น มันสะท้อนถึงการปรับตัวของผู้คนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น บ้านทรงไทยที่มีลักษณะใต้ถุนยกสูง พื้นไม้กระดาน นี่ก็สะท้อนกับสภาพแวดล้อมของบ้านเราที่ต้องเผชิญกับสภาวะน้ำหลากน้ำท่วม ตัวเลื้อยคลานที่อาศัยอยู่โดยรอบ และสภาพอากาศที่ร้อนมากในเวลากลางวัน ไม้กระดานที่วางปูแบบมีช่องห่าง และไต้ถุนที่ยกสูง ก็จะช่วยให้เกิดการถ่ายเทลม (Air Circulation) ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่ร้อนมากจนเกินไปในสภาพที่เรายังไม่มีเครื่องปรับอากาศในสมัยก่อน อีกตัวอย่างหนึ่งคือสถาปัตยกรรมบ้านเรือนของผู้คนในเขตทะเลทรายในแถบร้อน

ที่เรียกว่า Hot Desert Climate เช่น ในประทวีปอาฟริกาแนวแถบเส้นศูนย์สูตร (นึกถึงเมือง Marrakesh ประเทศ Morocco) ที่สภาพอากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน (อาจสูงถึง 45 องศาเซลเซียส) และหนาวจัดในเวลากลางคืน (อาจลดต่ำลงถึงจุดเยือกแข็ง) ก็มีการออกแบบอาคารโดยใช้ผนังที่ทำจากหินทรายที่มีความหนา ดังรูปที่ 2 ทั้งนี้เพื่อป้องกันความร้อนในเวลากลางวัน และให้ความร้อนที่สะสมที่ผนังหินทรายหนา ๆ นี้ คายความร้อนออกมาให้เข้าสู่ตัวบ้านในเวลากลางคืนที่สภาพอากาศภายนอกมีความหนาวเย็นระดับนั้น

รูปที่ 2 ระบบผนังสำหรับอาคารในแถบทะเลทรายที่ร้อนจัดเวลากลางวันและ หนาวจัดเวลากลางคืน
รูปที่ 2 ระบบผนังสำหรับอาคารในแถบทะเลทรายที่ร้อนจัดเวลากลางวันและหนาวจัดเวลากลางคืน

แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสังคม อาคารบ้านเรือนในเมืองไทยกลับแปรเปลี่ยนไปสู่บ้านที่สร้างติดดินและตึกแถว โดยมีการนำอิฐมอญ อิฐบล็อค เข้ามาใช้กับการก่อผนังภายในและภายนอกอาคาร จนทุกวันนี้ผู้อยู่อาศัยในบ้านตัดสินความแข็งแรงของตัวบ้านด้วยการเคาะผนังว่าแน่นว่าทึบไหม ตรงนี้ถือเป็น Misleading Perception ประการหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้วผนังไม่ใช่ส่วนของโครงสร้าง (ยกเว้นระบบผนังคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้รับน้ำหนัก หรือ Precast Load Bearing Wall) และผนังประเภทนี้ เป็นผนังที่กักเก็บความร้อนได้ดี ผลที่ตามมาคือความร้อนระอุภายในบ้านของท่านและบิลค่าไฟของท่านที่สูงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ทีนี้หากถามว่าผนังอะไรจะช่วยให้ท่านประหยัดพลังงานภายในบ้านของท่านได้ ก็ต้องตอบว่าผนังทำกลวง ๆ (เรียกว่ามี Air Gap ซึ่งไปช่วยลด Thermal Bridge) และให้ดีก็ใส่ฉนวน (Insulation) เข้าไปเพิ่มในลักษณะคล้ายกับถังน้ำแข็งหรือตู้เย็น ซึ่งจะช่วยทั้ง ‘ป้องกันความร้อน’ และ ‘ลดการสะสมตัวของความร้อน’ ทั้งนี้ระบบผนังกลวงที่มีฉนวนดังกล่าวอาจขัดความรู้สึกของหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรู้สึกต่อความแข็งแรงของอาคารบ้านเรือนของเรา เพราะเวลาเอามือไปเคาะผนัง มันจะ ‘ก๊อง ๆ’ แต่อย่างไรก็ดีต้องขอเรียนย้ำว่า ระบบผนังอาคารทั่วไปมิใช่ส่วนของโครงสร้าง (Structural Member) และอีกประการหนึ่งนั้น ผนังลักษณะนี้ได้มีการนำไปใช้กับอาคารบ้านเรือนทั้งในอเมริกา และในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเรื่องความทนทานแข็งแรงของผนังในการต้านลมทนฝน ก็ต้องบอกว่าหายห่วง

 

นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016

 

Previous articleE-Newsletter Vol.11
Next articleออริจิ้น รุกหนัก !! เปิดตัว “ไนท์บริดจ์ ไพร์ม สาทร” บุกทำเลโซน CBD กลางเมืองครั้งแรก
ณัฐพล สุทธิธรรม
นักเขียนนิตยสาร Builder ผู้จัดการโครงการ Downstream Business Development บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาบริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์