หากจะให้นึกถึงวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อเหลือเกินว่าหลายท่านคงจะนึกถึง ‘เหล็ก’ เป็นลำดับแรก ๆ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ คือการที่เหล็กสามารถนำไป ‘ใช้ซ้ำ (Reuse)’ หรือนำไป ‘รีไซเคิล (Recycle)’ หรือนำไปหลอมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบ 100%
กระบวนการรีไซเคิลสำหรับเหล็กก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยต้นทุนการรีไซเคิลที่ต่ำกว่าโลหะประเภทอื่น อันเนื่องมาจาก ‘การคัดแยก’ เหล็กออกมาจากวัสดุอื่น ๆ ได้ง่าย ด้วยการใช้แม่เหล็ก ในขณะที่โลหะประเภทอื่น ๆ นั้นจะมีต้นทุนการคัดแยกและระยะเวลาในการดำเนินการคัดแยกที่สูงกว่าเหล็กค่อนข้างมาก นอกจากนี้สมรรถนะของเหล็กที่ผ่านการรีซเคิลมาแล้วก็ไม่ได้เสื่อมลง ในทางกลับกันผู้ผลิตเหล็กจากเศษเหล็กนี้ยังสามารถปรับปรุงคุณภาพหรือสมรรถนะให้เพิ่มสูงขึ้นได้ จากการปรับกระบวนการหลอมและการรีดใหม่ รวมไปจนถึงการเติมโลหะบางชนิดเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งด้วยประโยชน์ของเหล็กจากประสิทธิภาพในการรีไซเคิลดังกล่าว ก็ส่งผลต่อการลดการทำลายทรัพยากร ลดการระเบิดสินแร่เหล็ก หินปูน ถ่านหิน ฯลฯ ที่ใช้ในกระบวนการถลุง ลดการใช้พลังงานและปริมาณการปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม อันส่งผลให้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ลดลง โอกาสน้ำท่วมโลกลดน้อยลง โอกาสผจญโรคภัยไช้เจ็บประหลาด ๆ ลดน้อยลง และอื่น ๆ อีกมากมาย
แม้ว่าประโยชน์จากการรีไซเคิลของเหล็กนั้น จะเป็นเรื่องจริงที่ไม่ต้องแต่งเสริมเติมให้มากนัก แต่นั่นอาจเป็นส่วนที่เรียกว่า ‘ไกลตัว’ สำหรับหลาย ๆ ท่านไปนิด แต่หากมาพิจารณาส่วน ‘ใกล้ตัว’ ก็อยากให้พิจารณาเรื่องของการลดการใช้พลังงานในบ้านหรือในอาคาร คือเป็นส่วนที่ท่านคงต้องคิดให้มากหน่อย เพราะมันเกี่ยวพันกับเงินในกระเป๋าของท่านเป็นสำคัญ โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าในบ้านของท่านนั้น คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก ๆ เช่น เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เครื่องอบผ้า เครื่องทำน้ำร้อนเป็นต้น ในเมืองร้อน ๆ อย่างบ้านเรา หลัก ๆ คงไปลงที่ค่าแอร์ ซึ่งอัตราการใช้ไฟก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของแอร์ที่ท่านใช้ที่ไปสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่ ระยะเวลาในการเปิดแอร์ และที่สำคัญคือความร้อนที่สะสมในพื้นที่ใช้สอยของท่าน ที่ท่านจะต้องเปิดแอร์เพื่อไล่ความร้อนออกไปและหมุนเวียนเอาอากาศเย็นเข้ามาในพื้นที่อาคารของท่านแทน ดังนั้นการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารไม่ให้สูงมากจนเกินไปนัก จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการประหยัดพลังงาน (และส่งผลต่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป)
สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและมีแสงแดดทีรุ่นแรงเป็นส่วนใหญ่ในเวลากลางวันดังเช่นในบ้านเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ความร้อนภายในบ้านสะสมขึ้น การเลือกใช้เปลือกอาคาร (ผนัง กระจก หลังคา ฯลฯ) ที่มีคุณสมบัติต้านทานความร้อนไม่ให้เข้าสู่อาคารได้โดยง่ายถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งของอาคารประหยัดพลังงาน นักออกแบบบ้านหรืออาคารที่ดีจะทราบถึงการเลือกใช้ระบบเปลือกอาคารที่ทำให้ค่าการถ่ายเทความร้อนรวม (Overall Thermal Transfer Value หรือ OTTV) มีค่าต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยเราประหยัดค่าแอร์ช่วงเวลากลางวันที่อากาศร้อนอบอ้าวได้ (ดังแสดงในรูปที่ 1) แต่นั่นก็มิใช่หลักการหรือวิธีการที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน เพราะค่าดังกล่าวนี้มิได้กล่าวถึง ‘การสะสมตัวของความร้อนที่ผนังอาคาร’ แต่อย่างใด
ตัวอย่างเช่นในประเทศไทยของเรานั้น มีอากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวในเวลากลางวัน แสงแดดที่ส่องมายังอาคารบ้านเรือนก็เข้าขั้นรุนแรงมาก ๆ โดยทั้งแสงแดดและความร้อนที่ว่านี้แม้ว่าผนังบ้านของเราจะสามารถป้องกันไว้ได้ (จะมากหรือน้อยตามลักษณะของผนังที่ใช้ ซึ่งคำนวณได้ด้วยค่า OTTV) แต่อย่างไรก็ดีความร้อนที่ผนังอาคารบ้านเรือนของเราสามารถป้องกันไว้ได้ ก็จะยังสะสมตัวอยู่ในผนังตั้งแต่เช้าจรดเย็นหลายชั่วโมง และเมื่อเวลาที่เรากลับเข้าบ้านในตอนเย็นตอนค่ำ ผนังบ้านที่อมความร้อนได้ดีนี้ก็จะถึงเวลาคายความร้อนออกไปเมื่ออุณหภูมิภายนอกลดต่ำลง สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้เมื่อเรากลับเข้าบ้านคือ เราต้องไล่ความร้อนภายในตัวบ้านออกไปด้วยการเปิดแอร์ไล่ ส่งผลให้บิลค่าไฟของเรายิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย
จริง ๆ แล้วภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนออกมาในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงลักษณะอาคารและการออกแบบในเชิงสถาปัตยกรรมนั้น มันสะท้อนถึงการปรับตัวของผู้คนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น บ้านทรงไทยที่มีลักษณะใต้ถุนยกสูง พื้นไม้กระดาน นี่ก็สะท้อนกับสภาพแวดล้อมของบ้านเราที่ต้องเผชิญกับสภาวะน้ำหลากน้ำท่วม ตัวเลื้อยคลานที่อาศัยอยู่โดยรอบ และสภาพอากาศที่ร้อนมากในเวลากลางวัน ไม้กระดานที่วางปูแบบมีช่องห่าง และไต้ถุนที่ยกสูง ก็จะช่วยให้เกิดการถ่ายเทลม (Air Circulation) ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่ร้อนมากจนเกินไปในสภาพที่เรายังไม่มีเครื่องปรับอากาศในสมัยก่อน อีกตัวอย่างหนึ่งคือสถาปัตยกรรมบ้านเรือนของผู้คนในเขตทะเลทรายในแถบร้อน
ที่เรียกว่า Hot Desert Climate เช่น ในประทวีปอาฟริกาแนวแถบเส้นศูนย์สูตร (นึกถึงเมือง Marrakesh ประเทศ Morocco) ที่สภาพอากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน (อาจสูงถึง 45 องศาเซลเซียส) และหนาวจัดในเวลากลางคืน (อาจลดต่ำลงถึงจุดเยือกแข็ง) ก็มีการออกแบบอาคารโดยใช้ผนังที่ทำจากหินทรายที่มีความหนา ดังรูปที่ 2 ทั้งนี้เพื่อป้องกันความร้อนในเวลากลางวัน และให้ความร้อนที่สะสมที่ผนังหินทรายหนา ๆ นี้ คายความร้อนออกมาให้เข้าสู่ตัวบ้านในเวลากลางคืนที่สภาพอากาศภายนอกมีความหนาวเย็นระดับนั้น
แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสังคม อาคารบ้านเรือนในเมืองไทยกลับแปรเปลี่ยนไปสู่บ้านที่สร้างติดดินและตึกแถว โดยมีการนำอิฐมอญ อิฐบล็อค เข้ามาใช้กับการก่อผนังภายในและภายนอกอาคาร จนทุกวันนี้ผู้อยู่อาศัยในบ้านตัดสินความแข็งแรงของตัวบ้านด้วยการเคาะผนังว่าแน่นว่าทึบไหม ตรงนี้ถือเป็น Misleading Perception ประการหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้วผนังไม่ใช่ส่วนของโครงสร้าง (ยกเว้นระบบผนังคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้รับน้ำหนัก หรือ Precast Load Bearing Wall) และผนังประเภทนี้ เป็นผนังที่กักเก็บความร้อนได้ดี ผลที่ตามมาคือความร้อนระอุภายในบ้านของท่านและบิลค่าไฟของท่านที่สูงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ทีนี้หากถามว่าผนังอะไรจะช่วยให้ท่านประหยัดพลังงานภายในบ้านของท่านได้ ก็ต้องตอบว่าผนังทำกลวง ๆ (เรียกว่ามี Air Gap ซึ่งไปช่วยลด Thermal Bridge) และให้ดีก็ใส่ฉนวน (Insulation) เข้าไปเพิ่มในลักษณะคล้ายกับถังน้ำแข็งหรือตู้เย็น ซึ่งจะช่วยทั้ง ‘ป้องกันความร้อน’ และ ‘ลดการสะสมตัวของความร้อน’ ทั้งนี้ระบบผนังกลวงที่มีฉนวนดังกล่าวอาจขัดความรู้สึกของหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรู้สึกต่อความแข็งแรงของอาคารบ้านเรือนของเรา เพราะเวลาเอามือไปเคาะผนัง มันจะ ‘ก๊อง ๆ’ แต่อย่างไรก็ดีต้องขอเรียนย้ำว่า ระบบผนังอาคารทั่วไปมิใช่ส่วนของโครงสร้าง (Structural Member) และอีกประการหนึ่งนั้น ผนังลักษณะนี้ได้มีการนำไปใช้กับอาคารบ้านเรือนทั้งในอเมริกา และในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเรื่องความทนทานแข็งแรงของผนังในการต้านลมทนฝน ก็ต้องบอกว่าหายห่วง
นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016