เจ้าของ – คุณพงษ์ศักดิ์ ก่อเกียรติสันติ
สถาปนิก – OFFICE AT Co., Ltd. คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ
วิศวกรโครงสร้าง – คุณสราวุธ ย่วนเต็ง / วิศวกรงานระบบ – คุณเพชร ปัญญางาม / ก่อสร้าง – S.P. Civil System Co., Ltd
หากกล่าวถึงการออกแบบก่อสร้างบ้านแล้ว ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้บ้านที่อยู่อาศัยล้วนมีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าบ้านบางหลังจะดูออกมาคล้ายคลึงไม่ต่างกันมากนัก แต่จุดเด่นที่สำคัญไปกว่าคือแนวคิด วิธีการ และการแก้ปัญหาของการออกแบบที่ต่างกันออกไป และบ้านหลังนี้ที่จะนำเสนอให้ทุกท่านได้เห็นจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า บ้านที่ดีไม่ได้มีปัจจัยเรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่ความลงตัวด้านการใช้งาน ความรวดเร็ว และความสมบูรณ์ของแบบ จะเป็นสิ่งสำคัญอันเด่นชัดที่สุดที่ต้องคำนึงเป็นอย่างแรก
จุดกำเนิดบ้านเหล็ก
เมื่อกล่าวถึงข้อจำกัดและโจทย์ในการออกแบบบ้าน คงไม่มีบ้านใดที่เหมือนกันเลย เช่นเดียวกับบ้านของคุณพงษ์ศักดิ์ ก่อเกียรติสันติ ผู้ประกอบอาชีพวิศวกรหลังนี้ ที่ได้มอบหมายให้คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ แห่ง OFFICE AT เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้ และด้วยความที่คุณพงษ์ศักดิ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจในกระบวนการก่อสร้าง และให้ความสำคัญกับ “ระยะเวลา” เป็นหลัก โจทย์หลักที่สถาปนิกผู้ออกแบบจะต้องคำนึงถึงคือ “การสร้างบ้านโดยใช้เวลาน้อยที่สุด” เนื่องจากเจ้าของบ้านต้องใช้ช่างและคนงานของตนเองเพื่อให้ไม่กระทบกับธุรกิจ
ด้วยสาเหตุดังกล่าว สถาปนิกและเจ้าของบ้านจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ซึ่งมีข้อดีคือเป็นระบบโครงสร้างที่สามารถทำงานได้รวดเร็ว กำหนดระยะเวลาได้ชัดเจน ประกอบกับเจ้าของบ้านสามารถควบคุมช่างได้ใกล้ชิด บ้านหลังนี้จึงใช้เวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จเพียง 4 เดือน เท่านั้น!
Perfect Combination House
บ้านหลังดังกล่าวมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 400 ตารางเมตร (รวมพื้นที่ระเบียงและทางเดิน) โดยเจ้าของบ้านต้องการให้บ้านมีลักษณะโปร่งสบาย สามารถพักอาศัยได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา รวมถึงการใช้งานภายในบ้านต้องมีความเรียบง่าย ใช้งานสะดวก สามารถใช้งานพื้นที่ทุกตารางนิ้วได้อย่างคุ้มค่า และไม่มีความซับซ้อนของพื้นที่จนเกินไป
ผู้ออกแบบเริ่มงานจากการวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งของบ้านไปพร้อมๆกับความต้องการใช้งานพื้นที่ ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นส่วนต่อขยายที่มีความลงตัวเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง พื้นที่ทั้งหมดมีลักษณะยาวจรดซอยทั้ง 2 ซอย สามารถเข้า-ออก บ้านได้ทั้ง 2 ทาง สถาปนิกจึงเลือกวางอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) ติดชิดที่ดินด้านหนึ่ง เพื่อให้เกิด Open Space (พื้นที่เปิดโล่ง) ซึ่งเป็นตำแหน่งของสระว่ายน้ำและระเบียง เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านใหม่และบ้านหลังเดิม ให้สามารถใช้พื้นที่เปิดโล่งนี้ร่วมกันได้
พื้นที่ชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับประทานอาหารที่เป็นส่วนหลักของบ้าน โดยตั้งอยู่ติดกับระเบียงและสระว่ายน้ำ พร้อมทั้งครัว ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น และที่จอดรถ ที่บริเวณชั้นล่างนี้ตัวบ้านถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน เว้นช่องว่างระหว่างห้องให้เกิดการถ่ายเทของอากาศได้ดียิ่งขึ้น ส่วนที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่ส่วนตัวทั้งหมด ประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้อง ซึ่งในขณะนี้ มีหนึ่งห้องนอนได้ปรับแต่งให้เป็นห้องเอนกประสงค์ก่อน แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนให้เด็กได้ในอนาคต โดยรวมแล้วขนาดพื้นที่และการจัดวางของบ้าน มีความลงตัวและกระชับ (Compact) พื้นที่ทุกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด พร้อมมีฟังก์ชั่นสนับสนุนการใช้งานเข้ามาประกอบ เช่น ส่วนของตู้เก็บของที่วิ่งยาว ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน นอกจากจะเป็นที่เก็บของขนาดใหญ่แล้ว ตู้เหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนจากแสงแดดช่วงบ่ายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
tropical Steel House
บ้านหลังนี้ยังถูกออกแบบมาให้รองรับกับสภาพอากาศแบบร้อนชื้นของไทย โดยการวางตัวอาคารและออกแบบช่องเปิด รวมถึงผนังทึบที่สอดคล้องกัน โดยผนังด้านที่หันไปทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก จะเป็นผนังทึบ ผนวกกับเป็นด้านที่วางชิดกับขอบเขตที่ดิน จึงไม่ได้ทำเป็นช่องเปิดได้ แสงแดดที่เข้ามากระทบจะถูกกั้นด้วยตู้เก็บของที่วางตัวยาวตลอดแนวอีกชั้น ส่งผลให้บ้านไม่ร้อน อีกทั้งตัวบ้านยังมีการเปิดช่องอากาศให้ระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี เช่นในบริเวณส่วนของห้องนั่งเล่นชั้นล่างที่สถาปนิกได้ออกแบบช่องเปิดบริเวณด้านหน้าและหลังของบ้าน พร้อมติดบานมุ้งลวด จึงสามารถเปิดหน้าต่างให้อากาศร้อนระบายออกได้ทั้งวัน ส่วนที่ชั้น 2 เป็นห้องนอนที่เปิดช่องทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่เหมาะสมเพราะแสงแดดไม่จัด แต่ส่งผลกระทบด้านมุมมองซึ่งเพื่อนบ้านนั้นสามารถมองเข้ามาได้ ทำให้ความเป็นส่วนตัวลดลงไปบ้าง ด้วยเหตุนี้สถาปนิกจึงใช้ไม้เก่าของเจ้าของบ้านมาทำเป็นระแนงแนวนอน โดยบานทั้งหมดสามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ตามต้องการ
Steel in Trend
คุณสุรชัย แห่ง OFFICE AT ได้เปิดเผย ถึงเหล็กรูปพรรณรีดร้อนในด้านการออกแบบว่า“โดยส่วนตัวนั้นชอบงานเหล็กรูปพรรณรีดร้อนอยู่แล้ว แต่ลูกค้าบางท่านนั้นยังคงติดอยู่กับความคิดเดิมคือบ้านเหล็กจะร้อนบ้าง สั่นไหวบ้าง ไม่มั่นคงบ้าง ซึ่งทั้งหมดเป็นความเชื่อเก่าๆ บางเรื่องไม่เป็นความจริงเสียด้วยซ้ำ หากมองในแง่มุมของสถาปนิกแล้ว คิดว่าเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นวัสดุที่ทันสมัย เป็นเทรนด์ที่คนทั่วโลกใช้มาก่อนบ้านเรา และเราก็ทำงานเหล็กมามาก จึงรู้ว่าจริงๆงานเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ดีเป็นอย่างไร และเราก็พยายามบอกลูกค้าหลายคน ลองให้โอกาสกับวัสดุเหล็กรูปพรรณรีดร้อนบ้าง แล้วจะรู้ว่าเป็นวัสดุที่ดีและน่าสนใจแค่ไหน”
อีกตัวอย่างของการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่น่าสนใจและคุ้มค่าอีกจุดของบ้านหลังนี้ คือการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนในการพาดโครงสร้างช่วงกว้าง เนื่องจากบ้านหลังนี้ใช้พื้นที่จอดรถซึ่งมีความกว้างถึง 9 เมตร โดยไม่มีเสาขั้นกลางเพื่อความสะดวกในการจอดรถ จากการปูหลังคาด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบาอย่างแผ่นซีเมนต์บอร์ดก็สามารถออกแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลงได้มากขึ้น ดูเบาลอย และสร้างความสะดวกต่อการจอดรถเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก การทำช่วงพาดได้ยาวขนาดนี้ ตัวโครงสรางจะต้องมีหน้าคานที่หนาประมาณ 70 – 80 เซนติเมตร จึงจะมีความแข็งแรง แต่หากเป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนก็สามารถใช้ความหนาโครงสร้างที่ประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร เท่านั้น
เห็นได้ชัดแล้วว่าโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นการออกแบบที่เรียบง่าย บาง เบา ตอบรับกับการออกแบบของปัจจัยต่างๆ ที่เราใช้งานกันประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และนั่นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นวัสดุที่เข้ากับยุคสมัยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังเช่นบ้านเหล็ก 2 ชั้นหลังที่เปรียบเสมือนงานศิลปะที่อยู่อาศัยได้ โดยมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสมลงตัว
Source : dsignsomething
Steel in Detail : คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ แห่ง OFFICE AT Co., Ltd.
สำหรับงานที่ใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกับอาคารที่ใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลักทั้งหมดเช่นบ้านหลังนี้ สิ่งสำคัญคือการออกแบบและทำแบบก่อสร้างที่ละเอียดเพียงพอ เพราะแบบที่ละเอียดจะช่วยลดความผิดพลาดในการก่อสร้างได้ อีกทั้งยังได้งานที่มีคุณภาพ เสร็จทันเวลาอีกด้วย