สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่สนุกและก็เป็นความยากเช่นเดียวกัน ดังนั้นการเป็นสถาปนิกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะต้องอุทิศตนเองเป็นอย่างมาก ทั้งยังต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ แต่คนที่ค้นพบตัวเองและได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ตัวเองรักย่อมทำได้ดี เช่นเดียวกับสองสถาปนิกรุ่นใหม่ จาก stu/D/O architects ที่มีจุดมุ่งหมาย ความเชื่อ และแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืน เพื่องานสถาปัตยกรรมอันมีคุณค่า
บริษัท สตูดิโอ อาร์คิเทคส์ จำกัด หรือ stu/D/O architects เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเพื่อนสองคน
อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ (โอ๋ – Oh) และ ชนาสิต ชลศึกษ์ (ดิว – Dew) ซึ่งทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันมาก่อน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท นั่นจึงทำให้ทั้งคู่รู้จักและคุ้นเคยถึงแนวทางในการทำงานของแต่ละคนเป็นอย่างดี อีกทั้งสองคนนี้ยังมีแนวคิด ความเชื่อ และจุดมุ่งหมายในการทำงานสถาปัตยกรรมในทิศทางเดียวกันด้วย ดังนั้นเมื่อโอกาสมาถึงทั้งสองคนจึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจุดร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมของคนทั้งคู่่ได้อย่างลงตัว
“เราทั้งคู่มีโอกาสทำงานร่วมกันมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ทำให้ทราบถึงแนวคิดและจุดมุ่งหมายในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของแต่ละคนเป็นอย่างดี ซึ่งเราทั้งคู่มีความเชื่อและแนวคิดของการออกแบบในทิศทางเดียวกัน จึงอยากที่จะเปิดบริษัทร่วมกันขึ้นมา เพื่อทำงานออกแบบที่เป็นแนวทางของตัวเองดู ซึ่งจะต้องเป็นสถาปัตยกรรมที่เราเชื่อมั่นว่าดีที่สุดในมุมมองของเรา แต่ทั้งคู่ก็แยกย้ายไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทกันก่อน โดยผมไปศึกษาต่อทางด้าน Sustainable Design ที่ AA (The Architectural Association School of Architecture) ประเทศอังกฤษ ส่วนคุณโอ๋ไปศึกษาต่อทางด้าน Architecture and Urbanism ที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา พอเมื่อศึกษาจบกลับมาเมืองไทย จึงได้ร่วมกันเปิดสตูดิโอ อาร์คิเทคส์ ขึ้นตามที่ได้ฝันเอาไว้”
ซึ่งชื่อ stu/D/O นั้นมีอัตลักษณ์เป็นที่น่าจดจำ ทั้งยังมีที่มาที่ไปและสื่อความหมายที่ดี เพราะเป็นการเล่นคำจากการนำอักษรภาษาอังกฤษที่เป็นชื่อเล่นของทั้งคู่มาผสมเข้าด้วยกัน คือ D จาก Dew และ O จาก Oh ซึ่งไปพ้องเสียงตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า ‘Studio’ อันหมายถึงห้องทำงานของศิลปินพอดี และด้วยรูปแบบการทำงานของบริษัทที่มีลักษณะคล้ายกับสตูดิโอ ซึ่งเป็นห้องโล่งแบบ Open-plan ที่เน้นการ Brainstorm หาไอเดียร่วมกันอยู่เสมอ ชื่อนี้จึงเป็นการสื่อถึงทั้งคาแรกเตอร์ของบริษัทและชื่อของทั้งคู่ไปพร้อม ๆ กัน
จุดร่วมของการสร้างสรรค์
รูปแบบของการทำงานของ stu/D/O เกิดจากการร่วมมือกันของคนทั้งคู่ ที่ได้ประยุกต์องค์ความรู้ของแต่ละคนเข้าไว้ในผลงานการออกแบบอย่างลงตัว ทั้งด้าน Urban Design และ Sustainable Design ด้วยการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายในแนวทางเดียวกัน ทั้งความสนใจในเรื่องของการใช้พื้นที่ การออกแบบอย่างมีเหตุมีผลที่ตอบสนองต่อการใช้งานจริง ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงาม รวมไปถึงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ซึ่งทั้งคู่ได้แสดงผ่านผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมได้อย่างสร้างสรรค์
“หลักในการทำงานออกแบบของเราสองคนมีความคล้ายคลึงกันอยู่ เรามีความสนใจในเรื่องที่คล้ายกัน อย่างเช่น เรื่องของพื้นที่ (Space) การดีไซน์ที่ตอบสนองการใช้งานอย่างแท้จริง (Function) หรือการนำธรรมชาติ (Environment) เข้ามาใส่ในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยเป็นต้น แต่รายละเอียดและองค์ประกอบปลีกย่อยในการออกแบบของแต่ละคนย่อมต่างกัน ซึ่งเราทั้งคู่ต่างไม่มีแนวทางที่เป็นรูปแบบตายตัว เพราะในการทำงานออกแบบแต่ละโครงการก็จะมีการปรับไปตามบริบท หรือความต้องการของเจ้าของโครงการ และลักษณะการใช้สอยโครงการนั้น ๆ ขึ้นกับว่าโครงการไหนเหมาะสมกับแนวทางการทำงานแบบไหนมากกว่ากัน เราจะไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะการวิเคราะห์โครงการและการตีโจทย์ของแต่ละโครงการจะเป็นตัวกำหนดความเหมาะสมที่แตกต่างกันออกมาเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่เรายึดเป็นหลักในการทำงานตั้งแต่ต้นคือในการออกแบบทุก ๆ โครงการ เราจะเน้นให้แต่ละโครงการมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นผลงานการออกแบบคุณภาพที่ผ่านกระบวนการคิดและหลักการออกแบบอย่างมีเหตุมีผล และที่สำคัญคือการสร้างสถาปัตยกรรมที่ดีมีคุณค่า เพราะสถาปัตยกรรมที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้เมื่อเจ้าของโครงการพึงพอใจ ทุกคนที่ใช้สอยอาคารนั้นมีความสุขย่อมมีผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น นั่นจึงเหมือนกับว่าเราไม่ได้ออกแบบแค่อาคารแต่เป็นการออกแบบชีวิตให้กับผู้ใช้สอยอาคารอีกด้วย ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของเราและรู้สึกดีที่ได้ผลิตผลงานสถาปัตยกรรมนั้นออกมา
สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่สนุกและเป็นความยากด้วยเช่นกัน สถาปัตยกรรมที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้ เราจึงไม่ได้ออกแบบแค่อาคารแต่เป็นการออกแบบชีวิตให้กับผู้ใช้สอยอาคารอีกด้วย
หากมองถึงการออกแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของเราที่สร้างความโดดเด่นนั้น ผมมองว่าน่าจะเป็นที่ความสมดุลระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ในการออกแบบโครงการ โดยสถาปนิกแต่ละคนจะมีการให้น้ำหนักไปที่แต่ละปัจจัยไม่เท่ากัน ผลงานของเราอาจเน้นไปทางด้านแนวคิดและการออกแบบที่ยั่งยืน (Sustainability) เยอะหน่อย ซึ่งอาจจะสื่อออกมาผ่านทางสถาปัตยกรรมให้เห็นได้ชัดเจน จนเป็นเหมือนกับลายมือของเราบนสถาปัตยกรรมนั้นก็ว่าได้”
เรียนรู้จากประสบการณ์ สู่แนวคิดในการทำงาน
จากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวระหว่างการทำงานที่ผ่านมาหรือจากการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทได้เปิดวิสัยทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งสองคนในการสร้างสรรค์ผลงานและการบริหารองค์กรอีกด้วย
“ในการจัดตั้งบริษัท เราสองคนเริ่มต้นลองผิดลองถูกมาเรื่อย และได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมาในบริษัทออกแบบอื่นมาประยุกต์ใช้ตามแบบของเรา เช่น ‘การให้ความสำคัญกับทีมงาน’ ด้วยการยอมรับในไอเดียสร้างสรรค์ของน้อง ๆ ในทีม เมื่อมีการระดมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ ให้โอกาสไอเดียนั้นเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญสำหรับผลงานออกแบบของบริษัท แต่ทั้งนี้ในการรับทีมงานเข้ามาร่วมงานกัน เราจะถือว่าพวกเขาเหล่านั้นก็จะต้องมาเติมเต็มสำนักงานออกแบบแห่งนี้ด้วยเช่นกัน และอีกปัจจัยที่พวกเรานำมาประยุกต์กับการสร้างองค์กรคือ ‘การสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน’ เพราะพวกผมเชื่อว่าการได้ทำงานในสถานที่ที่สบาย ๆ รีแลกซ์ ทุกคนมีความรู้สึกสนุกสนานกับการทำงาน ย่อมทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่ดีขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์แนวคิดการเป็น stu/D/O ในแบบของเรา
และจากการที่ได้บริหารจัดการองค์กรของเรามาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้พบว่าการทำงานร่วมกันของสองคนเป็นการบาลานซ์ซึ่งกันและกัน เราทำงานแบบเป็นทีมเวิร์คทั้งในแง่การดีไซน์และการบริหาร ซึ่งทำให้เราทั้งคู่ต่างก็เสริมในส่วนที่ขาดของอีกฝ่ายได้ดี อย่างเช่น ผมอาจจะถนัดในส่วนของงานบริหารมากกว่า จึงรับผิดชอบงานทางด้านบริหารสัก 70% และรับผิดชอบงานทางด้านดีไซน์สัก 30% ส่วนคุณดิวที่มีสมองปลอดโปร่ง สามารถคิดงานสร้างสรรค์ได้มากกว่า ก็รับผิดชอบงานดีไซน์ไป 70% และดูงานบริหารน้อยหน่อย ซึ่งถือเป็นการทำงานแบบเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากในการบริหารงานแล้ว เราทั้งคู่ยังบาลานซ์กันทางด้านบุคลิกภาพด้วย เนื่องจากผมจะมีบุคลิกที่ดูเป็นงานเป็นการมากกว่า มีแนวคิดบนพื้นฐานความเป็นจริงส่วนคุณดิวก็จะมีบุคลิกที่สบายๆ เน้นดีไซน์เป็นหลัก เมื่อมาประสานกัน จึงทำให้เกิดความลงตัว ทั้งในแง่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีดีไซน์แต่อยู่บนพื้นฐานการก่อสร้างที่เป็นไปได้จริง และในแง่การบริหารองค์กรที่เป็นทางการ แต่ยังคงความเป็นแหล่งสร้างสรรค์ไอเดียแบบสบาย ๆ เอาไว้อีกด้วย”
มุมมอง สืบสาน วงการสถาปัตยกรรมไทย
ด้วยผลงานที่ผ่านมาของ stu/D/O ได้รับเสียงชื่นชมและการกล่าวถึงในวงกว้าง เนื่องจากมีความโดดเด่นที่แฝงอัตลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังการันตีด้วยรางวัลการออกแบบจากหลายแห่ง ซึ่งทั้งสองคนถือเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ที่ได้สร้างเส้นทางของตนเอง และก้าวขึ้นมาประดับวงการสถาปัตยกรรมไทยอย่างมีคุณภาพ
“สถาปนิกไทยที่เก่ง ๆ มีอยู่มาก แต่สิ่งที่วิชาชีพเราต้องเจอคือ ข้อจำกัดทางด้านวิชาชีพที่ลูกค้าหรือคนทั่วไปมีต่อสถาปนิก ซึ่งพวกเขามักขาดความเข้าใจในวิชาชีพสถาปนิก แม้ว่าสถาปนิกรุ่นใหญ่ ๆ เองต่างก็พยายามพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพสถาปนิกกันมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ผมอยากให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญในวิชาชีพเรามากขึ้น
และที่สำคัญอยากให้ผลงานของสถาปนิกไทยก้าวสู่เวทีระดับโลกมากขึ้น เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น อยากจะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวชมสถาปัตยกรรม ตึกรามบ้านช่องของเราบ้าง เหมือนกับที่เราไปเที่ยวชมตึกในบ้านเมืองเขา ซึ่งนั่นต้องอาศัยสถาปนิกผู้ออกแบบ
ดังนั้นอย่างน้อยในส่วนของเราจึงพยายามเผยแพร่ผลงานการออกแบบของเราไปสู่ต่างประเทศให้มากขึ้น พัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล ไม่ดูถูกวิชาชีพตนเองโดยการคิดค่าบริการออกแบบที่ถูก จนเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนต่องานบริการวิชาชีพของเรา
แต่ในอนาคตเราทั้งสองคนเชื่อว่าสถาปัตยกรรมย่อมจะพัฒนาขึ้นอีกมาก เพราะเมื่อมีการเปิดการค้าเสรี FTA และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ย่อมตามมาด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นสถาปนิกไทยก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นตามไป เพื่อให้ผลงานการออกแบบของเรานั้นสู้กับต่างชาติได้ โดยในส่วนของเราก็เน้นพัฒนาและสร้างสรรค์การออกแบบผลงานที่มีคุณภาพออกมา แม้ไม่ใช่การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในผลงานการออกแบบ เพราะเราอาจจะยังไม่พร้อมขนาดนั้นเพราะในเมืองไทยเรายังก้าวข้ามไปไม่ถึงการคิดค้นวัสดุใหม่ ๆ และนำมาใช้ออกแบบอาคารทั้งหลังได้
อย่างเช่นที่ทำกันในต่างประเทศ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการนำวัสดุท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างอิฐ คอนกรีต ไม้ ที่คุ้นชิน หรือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและบริบทท้องถิ่น นำมาคิดค้นสร้างเป็น Space แบบใหม่หรือรูปลักษณ์แบบใหม่ ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ด้วยการเป็นสถาปนิกนั้นเป็นเรื่องยาก และต้องอุทิศตนเป็นอย่างมาก ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เพราะวิชาชีพเราต้องทำงานออกแบบไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเราจึงต้องคิดที่จะผลิตผลงานที่ดีกว่าเดิมให้ได้ ในวงการนี้ยังมีที่ให้ยืนอีกมาก อยู่ที่ว่าคุณถนัดและชอบงานประเภทไหน เช่น ชอบดีไซน์หรือชอบเขียนแบบ ชอบควบคุมงานก่อสร้างหรือชอบประสานงานโครงการ ชอบเป็นที่ปรึกษาหรือชอบทำงานวิจัย ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่งคุณสามารถมีที่ยืนได้ ตราบเท่าที่คุณมีใจรักในงานสถาปัตยกรรมเท่านั้นเอง”
อ่าน: ‘stu/D/O’ สู่การสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน (ตอนที่2)
เทคนิคการทำผนังพ่นสี Texture
นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016