Pao House
ด้วยแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่น ส่งให้ผลงานของ stu/D/O ได้รับเสียงชื่นชมและได้รับรางวัลการันตีแนวคิดอันสร้างสรรค์หลายแห่ง หนึ่งในนั้นได้แก่ ‘บ้านเปา’ โครงการที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น (Gold Medal Award) ประเภทบ้านเดี่ยวพักอาศัย ประจำปีพ.ศ. 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งเป็นโครงการที่น่าสนใจทั้งในแง่ของการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุได้อย่างสร้างสรรค์และตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้อย่างลงตัว
จุดเริ่มต้นของโครงการบ้านเปานั้นเกิดจากการที่เจ้าของบ้าน คุณไชยชุมพล วัฑฒกานนท์ ต้องการสร้างบ้านพักอาศัยส่วนตัวที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน ซึ่งเป็นภูมิสถาปนิกที่มีใจรักในการถ่ายภาพ โดยยังรับงานเป็นช่างภาพไปพร้อมกันด้วย และเนื่องจากทำเลของบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในชุมชนเมืองจึงมีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด เจ้าของบ้านจึงต้องการให้พื้นที่ภายในบ้านโล่งโปร่งสบาย และมีความเป็นส่วนตัว ดังนั้นในการออกแบบจึงได้นำ 2 ปัจจัยนี้มาเป็นโจทย์ที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลัก
โดยในการออกแบบได้มีการวิเคราะห์และศึกษาการวางผังในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความลงตัว ทั้งทิศทางในการรับแสงแดด ลม และความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร รวมถึงตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้านให้ได้มากที่สุด และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือสถาปัตยกรรมก้อนสี่เหลี่ยมสีขาว รูปทรงแปลกตา ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘บ้านช่อง’
ตีโจทย์ด้วยแนวคิดของ ‘บ้านช่อง’
ด้วยการออกแบบที่ตอบสนองทั้งแนวความคิดสร้างสรรค์และพื้นที่การใช้สอย ผสานด้วยตัวตนและความชอบส่วนตัวของคุณไชยชุมพล จึงทำให้บ้านหลังนี้ไม่เป็นเพียงบ้านพักอาศัยเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนสตูดิโอถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยมิติของแสงและเงา ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาของวัน
แนวคิดในการออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘บ้านช่อง’ เป็นการตอบโจทย์เรื่องพื้นที่ใช้สอยกับข้อจำกัดของขนาดที่ดินและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ด้วยการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับตัวอาคารในแนวตั้ง โดยมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่มีความสูง 4 ชั้น และมีการออกแบบพื้นที่ว่างโดยการเจาะคว้านพื้นที่ในบางจุด เพื่อจะนำความเป็นธรรมชาติจากภายนอกเข้าสู่ภายใน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งสบายและสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านด้วย โดยเฉพาะบริเวณห้องนั่งเล่นที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นโถงเพดานสูง (Double Space) ต่อเนื่องกับส่วนรับประทานอาหาร ซึ่งพื้นที่ว่างที่ถูกคว้านนี้ยังเป็นจุดที่สร้างมุมมองร่วมกันสำหรับแต่ละห้องของบ้านอีกด้วย
ส่วนการออกแบบของผนังเปลือกอาคารที่เป็นส่วนทึบโดยรอบเริ่มต้นมาจากความสนใจของเจ้าของบ้านและบริบทโดยรอบของที่ดิน และยังช่วยสร้างความสมบูรณ์และต่อเนื่องให้กับรูปทรงสี่เหลี่ยมของอาคาร โดยนำไปสู่แนวคิดในการออกแบบเรื่องการวางกรอบของมุมมองด้วยการเจาะช่องเปิดสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ซึ่งคล้ายกับกรอบของภาพถ่ายหรือภาพวาดเพื่อกำหนดมุมมองที่จะเกิดขึ้นให้เห็นทัศนียภาพที่ดีแก่พื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้านในขณะที่การเจาะช่องแสงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดเล็ก 60 x 60 เซนติเมตร บริเวณผนังภายนอกจะช่วยนำแสงเข้าสู่ภายในอาคาร โดยช่องเปิดที่มองเห็นจากผนังด้านในจะถูกเจาะช่องให้มีขนาดเล็กกว่า ด้วยขนาด 40 และ 20 เซนติเมตร แตกต่างกันไปตามจังหวะที่สวยงาม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดบรรยากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังสร้างมิติของแสงและเงาที่น่าสนใจให้แตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาของวัน รวมทั้งยังเป็นช่องสำหรับระบายอากาศ ช่วยให้บ้านเย็นสบายอีกด้วย และนอกจากนี้แสงเงาที่เกิดยังช่วยสร้างมิติที่สวยงามให้กับรูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกเช่นกัน
จุดเด่นของบ้านเปา
หากมองกันด้วยลักษณะภายนอกจะพบว่าบ้านเปามีความแตกต่างจากบ้านพักอาศัยในรูปแบบเดิม ๆ ที่มีหลังคาจั่วแบบที่หลายคนคุ้นชิน กลับเป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียบง่ายและนิ่งสงบ แต่จากการออกแบบที่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยเพื่อการอยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน การนำสีเเขียวของธรรมชาติเข้ามาสอดในอาคาร และการเลือกใช้วัสดุได้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้จึงเต็มไปด้วยความอบอุ่นเช่นเดียวกัน
การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใน 350 ตารางเมตร ซึ่งตอบสนองตามความต้องการของเจ้าของบ้านได้อย่างแท้จริง โดยบริเวณพื้นที่ชั้น 1 เมื่อเข้าสู่ภายในบ้านจะพบกับโถงทางเข้าและคอร์ท ซึ่งเป็นสวนต้นไม้ที่เปิดเชื่อมต่อไปยังห้องนั่งเล่นที่อยู่ชั้นบน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนพื้นที่ทำงานของเจ้าของบ้าน และห้องนอนส่วนตัวของคุณแม่เจ้าของบ้านอีกด้วยบนพื้นที่ชั้น 2 จะถูกออกแบบให้เป็นของกิจกรรมส่วนกลาง เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องแพนทรี และห้องน้ำ เมื่อขึ้นไปยังพื้นที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนพักผ่อน ซึ่งจะเป็นส่วนของห้องนอนใหญ่ ห้องนอนสำหรับเด็ก และห้องน้ำ ส่วนบนพื้นที่ชั้น 4 จะเป็นสตูดิโอถ่ายภาพและห้องมืด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการทำงานที่ชื่นชอบของเจ้าของบ้าน
ทั้งนี้ในฐานะของผู้ออกแบบที่เชื่อว่าคนเราย่อมอยากที่จะอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เพราะสีเขียวของธรรมชาติจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสงบ ดังนั้นในการออกแบบจึงเกิดแนวคิดที่จะนำธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้าน โดยการเจาะคว้านพื้นที่ว่างเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวเข้าสู่ภายใน เพื่อผู้อยู่อาศัยจะได้รู้สึกเหมือนกับอยู่ในบ้านที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติเอาไว้
นอกจากนั้นบ้านหลังนี้ยังคำนึงถึงเรื่องของการออกแบบอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้การออกแบบระบบธรรมชาติ (Passive Design) พร้อมด้วยการวิเคราะห์คำนวณค่าความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านร่วมกัน จึงทำให้การออกแบบก้อนของอาคารบางส่วนถูกเจาะคว้านให้เกิดช่องว่าง เพื่อใส่ต้นไม้เข้าไปสร้างร่มเงาให้แก่ตัวบ้าน และการเพิ่มองค์ประกอบของผนังบางส่วน เพื่อการป้องกันแดดและกันความร้อนที่จะเข้าสู่ภายใน รวมทั้งการเจาะช่องเปิดในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อช่วยนำแสงธรรมชาติเข้าสู่บ้านและช่วยระบายความร้อนอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้บ้านหลังนี้อยู่สบายยิ่งขึ้น
และสุดท้ายกับการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม โดยการเลือกใช้วัสดุที่เน้นให้เกิดความอบอุ่นและเรียบง่าย สำหรับวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายจึงใช้ไม้ เพราะช่วยสร้างบรรยากาศอันอบอุ่นได้ดี โดยนำมาปูพื้นในบริเวณที่จำเป็น เช่น พื้นห้องนอน โถงบันไดที่เชื่อมต่อกันในแต่ละชั้น โถงหน้าห้องนอนบริเวณชั้นบน และยังนำมาตกแต่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายนอกอาคารในบางจุดอีกด้วย เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ต่อเนื่องระหว่างภายในและภายนอกอาคาร
สำหรับวัสดุผนังภายนอกอาคารนั้นเปรียบเสมือนตัวเอกของบ้านหลังนี้ เพราะต้องสื่อให้บ้านมีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ทั้งที่มีการเจาะคว้านพื้นที่ว่างบางจุดออก แต่ก็ต้องคงลักษณะของความเป็นก้อนเดียวกันได้อยู่ จึงได้เลือกใช้ผนังฉาบเรียบและทำสีพ่น Texture ที่มีสีขาวพร้อมผิวสัมผัสหยาบ โดยทำเทคนิคในการพ่นสีให้ไล่ระดับความหยาบแตกต่างกัน 3 ระดับ เมื่อแสงแดดกระทบกับผนังจึงทำให้เกิดมิติของเงาที่ไม่เท่ากัน สร้างเฉดสีบนผนังที่ต่างกันไป ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์แนวคิดในการสร้างมิตของแสงและเงาให้กับบ้านหลังนี้อีกด้วย และเมื่อรวมเข้ากับช่องเปิดที่ถูกเจาะเอาไว้ในแต่ละตำแหน่งบนผนังด้วยแล้ว ยิ่งสร้างให้บ้านหลังนี้มีมิติของแสงในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกันไป ทั้งเช้า กลางวัน เย็น และกลางคืน
ชื่อโครงการ: Pao House
ที่ตั้งโครงการ: ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 28 ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง กทม.
เจ้าของโครงการ: คุณไชยชุมพล วัฑฒกานนท์
พื้นที่ใช้สอย: 350 sqm.
ปีที่เริ่มออกแบบ: 2014
ปีที่ก่อสร้างเสร็จ: 2016
ทีมงานผู้ออกแบบ: บริษัท สตูดิโอ อาร์คิเทคส์ จำกัด
คุณอภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ และคุณชนาสิต ชลศึกษ์
วิศวกรโครงสร้าง: คุณพนิต ศุภศิริลักษณ์
วิศวกรงานระบบ: คุณพนิต ศุภศิริลักษณ์
ผู้รับเหมา: คุณพรชัย พรพิชิตโชคชัย
อ่าน: ‘stu/D/O’ สู่การสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน (ตอนที่1)
เทคนิคการทำผนังพ่นสี Texture
นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016