Bad Boy British Designer คือฉายาของดีไซเนอร์ตัวพ่ออย่าง Tom Dixon เขาคือนักสร้างสรรค์ไอเดียสุดฉีกที่สร้างค่านิยมใหม่ด้านโปรดักส์ดีไซน์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ และนี่เป็นหนึ่งในผลงานที่เขาไม่เปิดเผยที่มาของเทคนิค แต่ตั้งมันไว้ต่อหน้าให้เราเห็นและสัมผัส

ถ้าคุณยังไม่รู้จัก Dixon คุณเห็นงานเขาแล้วคิดถึงที่ไหน ใช่! ก่อนจะมาสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองและใช้ชื่อตัวเองสร้างแบรนด์ Creative Director ให้กับ Habitat บริษัทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน

ผลงานชิ้นใช้ชื่อว่า Swirl เป็นงานรีไซเคิลหินอ่อนที่ว่ากันว่าสวยงาม เหมือนหินอ่อนเป๊ะ และอาจจะเอามาใช้แทนหินอ่อนได้เพราะน้ำหนักของมันเมื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ก็ไม่ต่างจากน้ำหนักของหินปกติเลยจริง ๆ อันที่จริงความต่างที่ทำให้มองออกน่าจะอยู่ที่สีสันเพราะสีของมันจัดจ้าน เส้นสายลวดลายละเมียด ประณีต แต่ด้านในประกอบด้วยอะไรบ้างนั้น ขอเฉลยเท่าที่ข้อมูลเขาบอกมาให้รู้ รับรองว่าต้องทึ่งกันอย่างแน่นอน

Swirl คือนวัตกรรมรีไซเคิลที่ Tom Dixon นำมาใช้เป็นวัสดุผลิตผลงานออกแบบทั้งชุดวางเทียน และแท่นคั่นหนังสือ แจกัน มองเผิน ๆ อาจจะคิดว่าเป็นกระดาษลายหินอ่อนนำมาขึ้นโครงสามมิติ แต่ผลงานหลายรูปทรงเหล่านี้มีความพิเศษเฉพาะตัว แรงบันดาลใจของการสร้างวัสดุใหม่นี้ Dixon เผยว่ามาจากการเดินทางไปอินเดียและสังเกตเห็นช่างกลึงจาก Rajasthan และ Agra


คอลเลกชัน Swirl ปรากฏและจัดแสดงขึ้นเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมาในงาน Maison&Objet furniture and interiors fair เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส รายละเอียดการผลิตวัสดุใหม่ชิ้นนี้ยังคงเป็นปริศนา เปิดเผยเพียงว่าทำขึ้นจากผงฝุ่นที่นำมาจากอุตสาหกรรมหินอ่อน
ผงหินนำมาผสมกับสีเพื่อสร้างความเข้ม จากนั้นจึงนำเรซินมาสร้างบล็อกตามขนาดรูปทรงที่ต้องการ คือความน่าสนใจและโดดเด่น ผลที่ได้ไม่เกิดขึ้นเพียงแค่ความสวยงาม ดึงความรู้สึก แต่ยังถ่ายทอดน้ำหนัก สัมผัสของความเป็นหินสร้างความฉงนอีกด้วย ด้านคุณสมบัติก็น่าใช้งานเพราะนวัตกรรมวัสดุชิ้นนี้สามารถขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบ จนลืมภาพเดิมของความเป็น “หิน”

ลวดลายที่มีเสน่ห์แตกต่างกัน ความจริงจะเรียกว่าเป็นงานคราฟต์ก็ว่าได้ เพราะสตูดิโออธิบายที่มาของมันว่าลวดลายของชิ้นงานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งเกิดจากการเทสีและธรรมชาติของเม็ดสีที่นำมาใช้ ดังนั้น แม้จะเป็น Pattern แต่ก็ยืนยันได้ว่าไม่ซ้ำใครแน่นอน

เมื่อมันไม่ใช่หินแท้แต่ได้มาจากการรีไซเคิล แถมยังสามารถสไลด์ หั่น หรือสร้างรูปทรงได้อิสระ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ของนวัตกรรมการสร้างสรรค์วัสดุ หวังว่า Swirl จะเป็นต้นทางแรงบันดาลใจสำหรับนักออกแบบทุกคน เพราะ “ความใหม่” ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นมาจากการสร้าง “สิ่งใหม่” เสมอไป แต่การนำสิ่งเดิม ๆ มา “ทำใหม่” อาจน่าสนใจอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดแบบนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.dezeen.com/2019/01/21/tom-dixon-swirl-marbled-material-design/
- http://www.elledecorationthailand.com/Style/design-hero-2/