“Fernando Mastrangelo” ศิลปินเละดีไซน์เนอร์จากบรุกลิน ไม่อายที่จะสร้างสรรค์ผลงานจากเศษวัสดุอย่าง เกลือ ทราย หรือแม้แต่เศษแก้ว โดยเขาได้จำลองการใช้ชีวิตในอนาคตด้วยการออกแบบบ้านขนาดจิ๋วจากวัสดุรีไซเคิลผ่านเทคนิคการหล่อหรือปั้นโครงขึ้นมา

บ้านหลังที่ว่านี้มีชื่อว่า “TINY HOUSE” บ้านหลังเล็ก ๆ ตั้งอยู่ภายใต้พื้นที่ 175 ตารางฟุต ณ ใจกลางไทม์แสควร์ ในมหานครนิวยอร์ก และเป็นอีกหนึ่งผลงานทางสถาปัตยกรรมที่ถูกนำไปจัดแสดงในงาน NYCxDESIGN

Mastrangelo อธิบายว่าตนเองนั้นได้รับแรงบันดาลในการสร้างบ้านหลังนี้มาจากธรรมชาติรอบ ๆ ตัว รวมถึงประเด็นปัญหาใหญ่ระดับโลกอย่าง Climate Change สำหรับ TINY HOUSE จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถช่วยต่อชีวิตให้กับวัสดุที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า ให้กลายมาเป็นวัสดุที่มีมูลค่าและสร้างประโยชน์ได้อีกครั้ง

“เมื่อได้รับประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ขอบเขตจินตนาการของเราในฐานะสถาปนิกและนักออกแบบจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งที่เราสามารถสร้างได้เท่านั้น” – Mastrangelo อธิบาย

สำหรับ TINY HOUSE ภายนอกที่เป็นฟาซาดหรือผนังด้านหน้าของบ้านนั้นทำจากพลาสติกรีไซเคิล พร้อมไล่เฉดสีอย่างสวยงาม ขณะที่ผนังถ้ำภายในบ้านนั้นทำจากเศษแก้วชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ถูกนำไปแปรรูปมา หากเดินลึกเข้ามาอีกนิดจะพบสุสานตั้งวางอยู่ตรงกลางบ้าน โดยใช้เทคนิคการหล่อด้วยซีเมนต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Mastrangelo

TINY HOUSE เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาสามารถเข้าไปชมภายในบ้านได้ เปรียบเสมือนสถานที่พักผ่อนสงบจิตสงบใจชั่วครู่ เพื่อหยุดคิดบางสิ่ง อยู่กับตัวเอง ก่อนที่จะกลับออกไปสู่ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายอีกครั้ง

นอกจากนี้พื้นที่ในส่วนท้ายบ้านก่อนทางออกไปข้างนอก ทางทีมออกแบบที่ร่วมกับ Mastrangelo ได้ผุดไอเดียคิดค้นลานสวนดอกไม้ขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยภูมิทัศน์อันเขียวชอุ่มของพืชพรรณไม้และดอกไม้นานาชนิด ขณะเดียวกันภายนอกบ้านก็เต็มไปด้วยพืชพรรณต่าง ๆ รายล้อมรอบ ๆ บ้าน เช่นเดียวกันกับภายในบ้าน ดูไปดูมาแล้วโปรเจคนี้ของ Mastrangelo เหมือนโอเอซิสที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอย่างไรอย่างนั้น

 

อ้างอิงข้อมูลเเละภาพประกอบจาก

fernando mastrangelo builds tiny house from sand and recycled glass in times square

Previous articleโบถส์ไซส์มินิสุด Minimal ใน Mexico !!!
Next article3D Cement Extrusion Printing มิติใหม่ของงานก่อสร้าง