เคยสังเกตไหม เวลาเราขับรถหรือนั่งรถผ่านไปตามถนนอาคารสูงส่วนใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ มักจะติด “กระจก” นั่นเพราะ Value ของการออกแบบโดยใช้กระจกเป็นวัสดุช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยจากภายนอก ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกโปร่ง เพิ่มความกว้างของพื้นที่ให้กับคนในอาคาร กระจกจึงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่สถาปนิกนึกถึงเมื่อสร้างตึก

แต่ตอนนี้เราไปเจอวัสดุเจ๋ง ๆ อัปเดตใหม่จากอีกซีกโลกที่น่าจะทำให้วงการสถาปนิกคึกคักอย่าง Transparent Luminescent Solar Concentrator หรือก็คือเจ้าแผงโซลาร์เซลล์โปร่งแสง ที่ไม่โชว์วงจรอะไรเลย และมีความใสแบบเดียวกันกับกระจกแต่สามารถเก็บแสงอาทิตย์นำมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนต่อได้

อีกสเตปของโลกพลังงานทางเลือกและการออกแบบนี้พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยมิชิแกน เปลี่ยนรูปแบบจากการใช้แผงโซลาร์ทึบรับแสงอาทิตย์มาปรับแต่งใหม่ด้วยการนำเทคโนยีดูดซับความยาวคลื่นแสงประเภท infared และ ultraviolet ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นมาใช้ ดังนั้น ต่อให้วัสดุมีความโปร่งใส แสงสามารถลอดผ่านได้สบายก็ยังเก็บพลังงานไว้ใช้ในอาคารได้ดีไม่ตกหล่น

ใครที่ยังไม่เข้าใจวิธีการทำงานของมันชัด ๆ ลองดูรูปแบบกระจ่าง ๆ จากคลิปด้านบนได้ ในคลิปจะเห็นชัดเลยว่าแค่แผงโซลาร์ขนาดเท่าฝ่ามือเมื่อรับแสงที่ผ่านไป สามารถเก็บ Infared หรือ UV มาใช้งานได้แบบทันที โดยซับพลังงานที่มองไม่เห็นส่งต่อไปยังตัวเชื่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้พัดลมหมุนได้รวดเร็วขึ้นแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าขนาดใหญ่ขึ้นบานเท่ากระจกตึกที่เห็นทุกวันนี้ สำหรับประเทศไทยที่มีแสงสว่างกลางวันส่องเดือด ๆ ตลอดทั้งปี ทุกตารางนิ้วของอาคารจะสามารถสร้างไฟฟ้าหมุนเวียนไว้ใช้ในอาคารได้มากแค่ไหน อาจจะไม่ต้องซื้อไฟฟ้าใช้เลยก็ได้

หากเปลี่ยนวัสดุจากกระจกเป็นโซลาร์ใสแล้วหน้าตาการออกแบบเหมือนเดิมเป๊ะ แต่ได้ฟังก์ชันที่มาพร้อมกับคุณสมบัติของวัสดุมากกว่ากันเยอะ ทั้งเรื่องการลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ นำพลังงานกลับมาหมุนเวียนในตึกได้ใหม่ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ที่สำคัญยังช่วยตอบโจทย์ยากของสถาปนิกวันนี้ที่ต้องหมุนให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกให้มากที่สุด และอาจพลิกสถานการณ์มาแก้ไขทัศนคติลบจากคนนอกวงการที่มองมาว่าการก่อสร้างคือหนึ่งในผู้ร้ายสร้างมลพิษกับโลก ทั้งเรื่องของฝุ่นและการใช้ทรัพยากร

วัสดุศาสตร์เป็นมิติใหญ่ ๆ ที่นักออกแบบอย่างเราไม่ควรมองข้าม เพราะมันไม่ได้ช่วยแค่ให้การทำงานเราสมบูรณ์ต่องานสิ่งที่รับผิดชอบเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงจรรยาบรรณอาชีพอีกด้านที่แสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ด้วย

คงต้องรอดูว่าเมื่อไหร่วัสดุแบบนี้จะเข้ามาในไทย ราคาของมันจะมากหรือน้อยเมื่อนำมาติดตั้ง แล้วก็ต้องลองมาทดสอบความแกร่งของเนื้อวัสดุด้วยว่าแผงโซลาร์ใสนี้มันจะทนทานเพียงพอให้ใช้ได้แทนกระจกเลยไหม ฝั่งสถาปัตย์อย่างเราคงต้องรอคอนเฟิร์มกันอีกสักระยะ เพราะเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องถ้าจะเอามาใช้งานยังต้องผ่านอีกหลายด่าน เช่น แผงโซลาร์ใสนี้สามารถติดฟิล์มกัน UV ที่กันการสะท้อนผ่านมาอีกฝั่งด้านในได้หรือไม่ เนื่องจากแสงที่ใช้เป็นปัจจัยการสร้างพลังงานคือ UV ที่มีผลกับการความปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เราเช่นกัน

แต่แว่วมาว่าวงการที่น่าจะวินได้หยิบแผงโซลาร์ใสนี้มาใช้ก่อนใครน่าจะเป็นวงการยานยนต์ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เป็นเทรนด์ฮิตประจำ พ.ศ. นี้ เอาเป็นว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นยังไงต่อไปเรื่องนี้เราคงต้องรอดูติดตามกันอย่างใกล้ชิด ถ้าเราเจอข่าวคราวสำคัญอะไรจะนำมาฝากกันอีกครั้งนะ

 

อ้างอิง : https://www.architecturendesign.net/transparent-solar-panels/?fbclid=IwAR2-FSw_Aop4fugSGgljWP7U2yNNl6m8n1BksFgMIFZzM64HOtPB2TTdiVY

CREDIT PHOTO: architecturendesign.net

Previous articleงานสถาปัตยกรรมด้วยโครงสร้างคานยื่นจาก flat12x
Next articleสร้างวันนี้เพื่อคนที่อยู่ในวันพรุ่งนี้ รู้จัก 3 นวัตกรรมสุดเจ๋งเพื่ออนาคตในปี 2019 ตีโจทย์แตกเรื่องที่อยู่อาศัย