ณ ห้วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของสัตว์ในเขตขั้วโลก ไฟป่าที่ลุกโชนจนเผาไหม้บ้านเรือนที่พักอาศัยของผู้คนบนเกาะฮาวาย หรือกระทั่งปัญหามลพิษทางอากาศในสหรัฐฯ การยึดหลักความยั่งยืน (Sustainability) สำหรับการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตได้กลายเป็นแนวคิดหนึ่งที่เราใช้ชะลอความเสื่อมโทรมของโลก อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยพยุงให้โลกก้าวเดินไปยังอนาคตของคนรุ่นหลัง หลักความยั่งยืนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ Regenerative Design จึงอุบัติขึ้นเพื่อช่วยกอบกู้สภาพแวดล้อมที่ผุพัง
Regenerative Design คืออะไร
ประโยคที่มักจะได้ยินเกี่ยวกับ Regenerative Design ในเวทีเสวนาอยู่บ่อยครั้งแล้วกลายเป็นคำอธิบายแบบกระชับคือ “ ‘doing good’ rather than merely ‘less bad.’ ” หรือแปลให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การสร้าง ‘ผลบวก’ มากกว่าการลด ‘ผลกระทบ’ ฟังแล้วอาจสับสน เราจะมาขยายความถึงที่มาที่ไปของ Regenerative Design กันก่อนที่จะคลายความมึนงงต่อจากนี้
Regeneration ในนิยามเชิงชีววิทยาหมายถึง การต่ออายุ (Renew) การฟื้นฟู (Restore) หรือการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในอวัยวะและในระบบนิเวศ เมื่อมองในมุมของนักออกแบบ เราสามารถมองได้ในเชิงของการฟื้นฟูแล้วซ้อนทับด้วยการใช้แนวความคิดไปข้างหน้า (Forward-Thinking Approach) อีกนัยหนึ่งคือการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโลก หรือการสร้างความยั่งยืนด้วยตัวเอง (Self-Sustaining) โดยคำนึงถึงโลกในอนาคต
Regenerative Design VS Sustainability
เมื่อเข้าใจคำนิยามแบบหลวม ๆ ของ Regenerative Design แล้ว การวกกลับมามองหลักความยั่งยืนอาจทำให้เห็นเส้นบาง ๆ ที่ซ้อนทับกันของทั้งสองแนวคิด ทว่าหากเจาะลึกเพื่อให้เข้าใจที่มาของการกล่าวถึงแนวกระแสความคิดดังกล่าว เราจะเห็นถึงความเชื่อมโยงของ Regenerative Design กับหลักความยั่งยืนในแง่ของการคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทว่าสิ่งที่เน้นย้ำในหลักของ Regenerative Design คือ การมองอนาคตในทรรศนะที่ยืดหยุ่น (Resilience) ปรับสมดุล (Rebalance) และฟื้นฟู (Regenerative) ภายใต้บริบทของความผันผวนตามกาลเวลา นั่นจึงทำให้นักออกแบบหันเหมาปรับใช้แนวความคิดนี้ในงานดีไซน์กันมากขึ้น
ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ
นอกจากการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อการปรับตัวในอนาคตแล้ว Regenerative Design ยังมองแนวทางการออกแบบที่ปรับใช้แนวคิดแบบองค์รวม อันประกอบไปด้วย สังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจในแง่ของการพึ่งพาอาศัยกัน เช่น เศรษฐกิจที่สร้างคุณค่าให้กับระบบนิเวศน์และสังคม รวมไปถึงการสร้างความอุดมสมบูรณ์และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน
ดังที่ Colin Rohlfing – Director of Sustainable Development ที่ HDR ให้ความเห็นในบทความของ BUILDINGS ไว้ว่า “Regenerative Design ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความสวยงามหรือการเขียนแบบ แต่มันเริ่มที่มุมมองเชิงลึกในแง่ของสถานที่ เช่น ระบบน้ำ (Site Hydrogy) สุขภาพชุมชน (Community Health) ความเสมอภาคทางสังคม (Social Equity) วัฏจักรคาร์บอน (Carbon Cycles) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มันคือการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และชีววิทยาที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกันในโปรเจกต์ทั่วไป”
การมองอนาคตแบบ Long-Term ของวงการออกแบบ-ก่อสร้าง
ความผันผวนของสภาพอากาศและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ทำให้มนุษย์คิดหาวิถีทางเอาตัวรอดเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในระยะยาวและสร้างอนาคตที่เป็นไปได้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน Regenerative Design ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดหรือทฤษฎีที่มีขึ้นแล้วยากที่จะจับต้องได้ ทว่ามันคือหลักที่ชี้ทางให้นักออกแบบได้เป็นหนึ่งในผู้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและสร้างคอนเซ็ปต์แปลกใหม่ในงานดีไซน์ที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต