เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดแถลงข่าวผลการตรวจสอบมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนตาม ในโครงการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือนของไทย (ยูแซพ : USAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ซึ่งเจ้าหน้าที่ไอเคโอเดินทางเข้ามาตรวจอบ หน่วยงานการบินของไทย 4 หน่วยคือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ในระหว่างวันที่ 11-21 ก.ค. ที่ผ่านมา
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไอเคโอเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน จำนวนรวม 463 ข้อ ปรากฏว่าตรวจพบปัญหา และสั่งให้ไทยต้องกลับไปแก้ไขจำนวน 49 ข้อ แต่ไม่ใช่ข้อที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านการบินแต่อย่างใด
โดยไอเคโอจะส่งหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกลับมาให้ไทยรับทราบภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา หรือประมาณปลาย ก.ย. โดยจะมีการระบุว่า ตรวจพบอะไรบ้าง พร้อมทั้งแนะนำการแก้ปัญหาในแต่ละประเด็น ซึ่งภายหลังการรับหนังสือทางไทยมีเวลาอีก 60 วัน จัดทำรายละเอียดว่าจะแก้ไขอย่างไรใน 49 ประเด็นที่ไอเคโอแจ้งมาเพื่อส่งไปกลับไปให้ไอเคโอ
สำหรับผลจากการตรวจสอบของยูโซฟครั้งนี้ ถือว่ามาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินของไทยดี เพราะทุกหน่วยเตรียมความพร้อมไว้ไว้อย่างดี ซึ่งในครั้งแรกไอเคโอแจ้งว่าจะตรวจ 7 วัน แต่ทางกพท. ขอให้ตรวจ 10 วัน เพราะมีหลายประเด็นที่จะต้องแจ้งให้ไอเคโอทราบ
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบดังกล่าวเป็นการตรวจคนที่ตัวแทนเกี่ยวกับสินค้าในสนามบิน หรือตัวแทนควบคุม ดูแลสินค้าในสนามบิน ก็มีข้อแนะนำให้ปรับปรุง ขณะเดียวกันก็มีเรื่องครัวการบินด้วย ต้องการให้กพท. เข้าไปดูแลเรื่องครัวการบินให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะอาจจะมีผลต่อเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ บวท. ถือเป็นหน่วยงานเดียวที่ไอเคโอไม่มีข้อแนะนำ หรือเสนอขอให้แก้ไขเลย ถือว่ามีมาตรฐานดีมาก
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหายูโซพหรือปลดธงแดง ภายหลัง กพท. ยื่นหนังสือไปยังไอเคโอให้เข้ามาตรวจสอบซ้ำเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษเข้ามาซ้อมการตรวจสอบก่อนที่ไอเคโอจะเข้ามาตรวจสอบจริง เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด
คาดว่าไอเคโอจะเข้ามาประมาณวันที่ 1 ก.ย. โดยจะพิจารณาข้อพกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (เอสเอสซี) 33 ข้อที่ตรวจพบครั้งก่อนว่ามีการแก้ไขอะไรไปแล้วบ้าง โดยจะตรวจสอบประมาณ 5 วัน จากนั้นจะส่งผลตรวจให้ไทยรับทราบภายใน 30 วัน หรือประมาณเดือนต.ค. ว่าผ่านการตรวจสอบเพื่อปลดธงแดงออกจากหน้าชื่อประเทศไทยหรือไม่ โดยขณะนี้มั่นใจว่าไทยจะสอบผ่านและสามารถปลดธงแดงได้
Source : prachachat