วันนี้ผู้เขียนมาขอแชร์ประสบการณ์บ้าน ๆ ที่เพิ่งลองเล่นมาครับ ก็เกี่ยวกับเจ้าเทคโนโลยี VR นี่แหละ ที่อยากแนะนำ เพราะมันเริ่มจับต้องได้ และก็ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่เรามีใช้งานอยู่แล้วคือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของเรานั่นเอง

เราจะไม่มองไปถึงอุปกรณ์ VR เฉพาะที่มีราคาหลักหมื่น เช่น Oculus Rift, HTC Vive หรือของยี่ห้ออื่น เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านั้นทำหน้าที่เป็น Display ซึ่งต้องทำงานร่วมกันอุปกรณ์อื่นอย่างคอมพิวเตอร์ ทีวี หรือเครื่องเล่นเกมส์ แต่เราจะมองการใช้งานลักษณะ Google Cardboard ซึ่งมีตั้งแต่เป็นกระดาษตัดทำเอง หรือแจกฟรีตามงานสัมมนา ซึ่งเป็นแบบกระดาษแต่ก็มีเลนส์ในตัวมาด้วย ไปจนถึงแบบที่มีขายทั่วไปและใช้สมาร์ทโฟนแทนจอภาพและเครื่องคอมพิวเตอร์ไปในตัว

ผู้เขียนซึ่งมีความสนใจอยู่แล้วก็พยายามเช็คราคาตลอด แรกเริ่มเดิมทีที่มีขายกันก็ราคาหลักพัน แต่เราก็ยังไม่อยากลงทุนเลยแอบมองไปก่อน ศึกษาวิธีการเล่นและคอยติดตามแอพพลิเคชั่นว่ามีมากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่ามีขายกันเกลื่อนหลายยี่ห้อ หลายราคา หน้าตาดูดี ราคาก็ลดลงมาเหลือหลักร้อย จึงได้เวลาสัมผัสเทคโนโลยีราคาถูกกันแล้วครับ

เมื่อเน้นที่ราคาถูกเป็นหลัก และผู้เขียนก็ไม่ค่อยได้ไปเดินตามห้างไอทีสักเท่าไหร่ แต่รีบเข้าไปเช็คใน Lazada เร็วไว เล็งไปเล็งมาก็สั่งมาครอบครอง 1 อัน ในราคาประมาณ 300-400 บาท เป็นของ VR Shinecon (จากเดิมราคาหลักพัน) อันที่จริงก็มีที่ราคาต่ำกว่านั้นนะครับ ร้อยกว่าบาทก็มี เช่น VR Box และบางแพ็คเกจจะขายพร้อมกับจอยสติ๊กสำหรับควบคุมหรือใช้เล่นเกมส์ เอาละครับได้ของมาแล้ว เราก็มารู้หลักการกันหน่อย แล้วค่อยกลับมารีวิวอุปกรณ์กัน เริ่มจากมาสรุปกันก่อนว่า แว่น VR นี้ทำงานร่วมกันองค์ประกอบอะไรบ้างและทำงานได้อย่างไร

015_2

3D
ภาพ 3 มิติที่เห็นเวลาเราใส่ แว่น VR นี่เขาเรียกว่า Stereoscopy โดยอาศัยหลักการที่ว่าตาของเราเห็นภาพมีมิติได้จากการประมวลผลของสมอง เนื่องจากตาซ้ายและขวาของเราจะเห็นภาพของวัตถุในมุมที่ต่างกันเล็กน้อย แล้วสมองน้อย ๆ ของเราก็จับภาพมาประมวลผลอีกทีหนึ่ง (ลองเอานิ้วชี้มาไว้ใกล้ ๆ จมูกแล้วลองหลับตาสลับข้างซ้ายขวา ท่านผู้อ่านจะเห็นภาพนิ้วชี้ที่ต่างมุมกันเล็กน้อย) ด้วยหลักการนี้เองครับ การทำงานของแว่น VR จึงต้องทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ โดยซอฟต์แวร์จะเป็นตัวแสดงภาพภาพเดียวกันเป็น 2 ภาพซ้ายขวา ที่ต่างมุมกันเล็กน้อย แล้วเครื่องมือหลักคือสมองของเราก็จัดการประมวลผลเกิดเป็นภาพ 3 มิติขึ้นมา

Gyroscope
เวลาเราเล่น แว่น VR นี้ เมื่อเราหมุนคอไปภาพก็จะเปลี่ยนตามเหมือนเราอยู่ในสถานที่จริง อย่างผู้เขียนลองเล่นเกมส์ประเภทรถไฟเหาะก็จะเห็นมุมมอง 360 องศา เครื่องมือที่ทำให้ระบบรู้ว่าเราหันซ้ายขวา ก้มหน้าเงยหน้าก็คือ Gyroscope ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนของเรานี่ละครับ อยากทราบว่าโทรศัพท์เรามี Gyroscope หรือไม่ก็ลองกลับโทรศัพท์ดู ถ้าหน้าจอมันหมุนตามก็แสดงว่ามีครับ นั่นแหละหน้าที่หลักของ Gyroscope

Software
ซอฟต์แวร์ทำหน้าที่สร้างมุมมองซ้ายขวาที่มีมุมต่างกัน เพื่อให้สมองเราประมวลผลเป็น 3 มิตินั้นเอง ซึ่งก็มีออกมามากมาย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีความนิยมแพร่หลายมากขึ้น โดยแอพพลิเคชั่นที่ผู้เขียนลองใช้งานชื่อ Homido Player ซึ่งน่าสนใจตรงที่สามารถสร้างภาพต่างมุมมองได้หลากหลาย ทั้งจาก Youtube หรือผ่านเว็บก็ยังได้ ส่วนตัวอย่างเกมส์หรือเกมส์ฟรีก็มีให้เลือกมาทดลองเล่นมากมาย สามารถหาได้จาก Google Play และ App store ได้เลยครับ

360
ขาดไม่ได้เลยครับสำหรับความสมจริง ความนิยมภาพ 360 องศา มีสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา Action Camera
หลายค่ายส่งฟังก์ชั่นการถ่ายภาพ 360 องศา ออกมากันเป็นแถว แม้แต่ Facebook และ Youtube ภาพแนวนี้ก็ได้รับความนิยม และหากเราดูด้วยตาเปล่าก็คงรู้สึกแปลกๆ แต่ถ้ามองผ่านแว่น VR ละก็ มันแตกต่างออกไปมากครับ เหมือนเราได้มีประสบการณ์ร่วมไปด้วยเลย ลองคิดดูซิครับอีกหน่อยคงจะมีภาพยนตร์ 360 องศา ออกมาฉายทำให้เราเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงเลยทีเดียว

เป็นไงบ้างครับท่านผู้อ่าน คงพอทราบแล้วว่าแว่น VR ทำงานอย่างไร ประกอบด้วยอะไร คราวนี้ถึงบางอ้อมั้ยครับว่าทำไมแว่นประเภทนี้ราคาถึงไม่แพง เพราะหลักๆ แล้วมันคือแว่นจริงๆ นั่นแหละเพียงแต่ออกแบบให้เรานำสมาร์ทโฟนไปติดไว้กับแว่นได้ และมีการเพิ่มเลนส์เข้าไปสำหรับให้เราปรับโฟกัสสายตา เนื่องจากเราต้องมองจอภาพจากโทรศัพท์ในระยะใกล้นั่นเอง นอกจากนี้แว่น VR พวกนี้มีข้อดีอีกอย่างซ่อนอยู่ คือเมื่อเราติดเข้ากับแว่นแล้วเราสามารถใช้งาน AR (Augmented Reality) ได้ด้วยครับ เพราะสมาร์ทโฟนจะใช้กล้องหน้าเพื่อส่งภาพจากสภาพแวดล้อมจริงมารวมกับข้อมูลหรือภาพผ่านซอฟต์แวร์แล้วแสดงผ่านหน้าจอ ซื้อ 1 ได้ถึง 2 เทคโนโลยีเลยครับ ผู้เขียนแนะนำให้ไปลองหามาเล่นกันนะครับ มันเป็นนวัตกรรมที่ราคาไม่แพงเลย แต่ไม่แนะนำให้เล่นติดต่อกันนานๆ นะครับ เพราะอาจเวียนหัวหรือ
เสียสายตาได้ และสุดท้ายนี้ต้องชมเชย Google ครับที่ผุดโครงการดี ๆ อย่าง Google Cardboard จนกลายเป็นกระแสทำให้เราได้สัมผัสเทคโนโลยีในราคาที่จับต้องได้

นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016

 

Previous articleสะพานลอยทรงอินฟินิตี้ ‘High-Tech Park’ จากโครงสร้างเหล็ก ยาวกว่า 200 เมตร
Next articleOculus อาคารศูนย์รวมด้านการค้าและการขนส่ง โดดเด่นด้วยการออกแบบคล้ายกับปีกนก
กฤษณ์ นาคะชาต
นักเขียนนิตยสาร Builder Head of IT Department บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด อดีตหนุ่มสถาปนิกที่ค้นพบสิ่งที่ตัวเองสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม