Builder News ขอนำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์ และนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ประยุกต์องค์ความรู้จากวิชาดีไซน์ สร้างสรรค์ผลงาน ไม้เท้า WoodWalk งานออกแบบเพื่อผู้สูงอายุรุ่นใหม่
WoodWalk คือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของไม้เท้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เป็นงานดีไซน์ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องที่ผู้ใช้งานไม้เท้าแบบสี่ขาสะท้อนให้เห็นด้วยลักษณะทางกายภาพ ซึ่งทำให้เกิดลักษณะการเดินที่ไม่ปกติและเมื่อเวลาก้าวเดินยังมีความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุอาจพลาดล้อมได้อีกด้วย ดังนั้น นายศิลา เศวตาภรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3
จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้ทำการออกแบบ WoodWalk ไม้เท้าสำหรับช่วยพยุงเดินแบบสี่ขาที่มีลักษณะคานที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถก้าวเดินได้สะดวกมากกว่าเดิม
โดยศิลาได้อธิบายถึงโครงการวิจัยครั้งนี้ว่า “ร่างกายของคนเรามีการเสื่อมสภาพไปตามช่วงเวลา คนส่วนใหญ่มักจะพูดว่าอายุยิ่งมากก็ยิ่งต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกมากขึ้น และเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุหรือวัยชราจึงต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่ช่วยพยุงร่างกายให้สามารถเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว และ Walker หรือไม้เท้าชนิดต่าง ๆ ก็เป็นอุปกรณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นขาที่สามของชีวิตในยามแก่เฒ่าได้เลยทีเดียวและจากการที่ได้สังเกตเห็นถึงปัญหาในการใช้ไม้เท้าจากผู้สูงอายุที่บ้านประกอบกับได้รับโจทย์จากวิชาเรียนให้ทำการออกแบบผลงานเพื่อคนพิการทางสายตา จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าและพบว่าไม้เท้าสำหรับผู้พิการทางสายตานั้นมีรูปแบบที่รองรับและใช้งานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้พิการทางสายตาและเป็นผู้สูงอายุด้วยนั้นยังไม่ค่อยมีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานได้อย่างเหมาะสม จึงได้พัฒนาผลงานที่ชื่อว่า WoodWalk ขึ้นมา ซึ่งเป็นการคิดต่อยอดไปจากการออกแบบเพื่อผู้พิการทางสายตาอีกขั้น ถ้าหากเป็นผู้สูงอายุที่พิการทางสายตาด้วยแล้วอุปกรณ์ที่จะช่วยรองรับที่เหมาะกับการใช้งานควรเป็นอย่างไร
โดยผมเริ่มทำการศึกษาข้อมูล ด้วยการสอบถามจากผู้ใช้งานจริงสรุปออกมาได้ 3 หัวข้อหลัก ๆ คือ 1. ทางกายภาพและการใช้งาน 2. ความรู้สึก และ 3. ทางสังคม ซึ่งวัตถุประสงค์ในการออกแบบ WoodWalk นั้นเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องสำหรับผู้ใช้งานไม้เท้าแบบสี่ขา โดยในการออกแบบปัจจัยแรกที่คำนึงถึง คือ ลักษณะทางกายภาพ เนื่องจากไม้เท้าแบบสี่ขาที่ใช้อยู่นั้นจะมีคานขวางตรงกลางซึ่งจะขวางเวลาก้าวเดินทำให้เกิดลักษณะการก้าวเดินที่ไม่ปกติ และเวลาก้าวเดินลำตัวของผู้ใช้งานจะไม่อยู่ตรงกลางของไม้เท้า จึงมีความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุอาจพลาดล้มได้ ดังนั้นในการออกแบบ WoodWalk จึงมีลักษณะคานที่ยื่นออกไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถก้าวเดินได้สะดวก และลำตัวของผู้ใช้จะอยู่ตรงกลางไม้เท้าพอดี ทำให้มีความมั่นคงไม่ว่าจะหมุนตัวหรือก้าวเดิน นอกจากนั้นยังเพิ่มที่จับส่วนล่างเพื่อเป็นฟังก์ชั่นเสริมสำหรับช่วยพยุงในขณะที่ผู้สูงอายุกำลังลุกขึ้นยืนจากที่นั่งได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยต่อมาคือ เรื่องของความรู้สึก เนื่องจากไม้เท้าส่วนมากทำจากอะลูมิเนียมซึ่งผู้ใช้บอกว่าขณะใช้มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังป่วยและต้องใช้เครื่องมือแพทย์ทุกวัน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่หดหู่ ดังนั้นผมจึงเลือกวัสดุที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย
และสบายตาอย่างวัสดุไม้มาช่วยในการออกแบบ WoodWalk และปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องทางสังคม เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนมากไม่ต้องการที่จะถือไม้เท้าแบบสี่ขาอันใหญ่ ๆ ไปในที่สาธารณะ เพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นผู้ป่วยหรือคนแก่มาก ๆ ในสายตาคนอื่นตลอดเวลา ดังนั้น WoodWalk จึงถูกออกแบบมาเพื่อลบภาพเหล่านี้ออกไป โดยการออกแบบให้เป็นไม้เท้าที่สามารถถอดออกจากกันได้จาก 4 ขา เหลือ 2 ขา หรือใช้ถือเพียงข้างเดียวก็ได้ทำให้มีควากระฉับกระเฉงคล่องตัวมากขึ้น และสามารถพกพาไปในที่สาธารณะได้สะดวก เสริมให้ผู้ใช้ดูสง่าและสดใสมากขึ้น
เพราะหัวใจของงานออกแบบชิ้นนี้นอกจากจะทำให้เป็นอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่นใช้งานตอบสนองผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว ผมยังให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของอุปกรณ์ที่สื่อถึงตัวตนของผู้ใช้งานซึ่งถึงแม้จะเป็นคนพิการทางสายตาหรือผู้สูงอายุ ก็สามารถใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นงานดีไซน์ได้เช่นกัน”
นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016