(Yell Advertising)

หากกล่าวถึงสถานที่หรือแหล่งชุมชนเศรษฐกิจสำคัญในไทย ส่วนใหญ่ล้วนมีสถาปัตยกรรมที่แปลกและแตกต่างแฝงตัวอยู่เสมอ โดยหนึ่งในเขตธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานครฯ เช่น ลาดพร้าว ก็เป็นหนึ่งในเขตเส้นเลือดหลักที่ผู้คนจำนวนมากต่างร่วมอยู่อาศัยอย่างแน่นหนาและมีการสัญจรผ่านไปมาอยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาพรวมของบริบทแวดล้อมรอบด้าน ต่างเต็มไปด้วยอาคารสูง, บ้านเรือนสำหรับอยู่อาศัย และโฮมออฟฟิศมากมายตามตรอกซอกซอยริมถนน

ถึงแม้ว่าบริบทโดยรอบจะดูคับแคบและแน่นหนาสักเพียงใด หากแต่ Yell Advertising ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ที่แฝงตัวอยู่ภายใต้บริบทเหล่านั้นอย่างไม่ขัดเขิน โดยวงจรธุรกิจของ Yell Advertising ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำออนไลน์มาเก็ตติ้งและการรับทำโฆษณาให้กับแบรนด์ดังต่างๆ อาทิ ซีพี และพฤกษา ด้วยความที่ปริมาณงานและจำนวนพนักงานที่มากขึ้น รวมไปถึงอาคารหลังเก่าได้ถูกใช้งานมาเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี คุณกนกกาญจน์ รินนะจิตต์ (คุณแพร) จึงได้ริเริ่มโปรเจ็กต์การขยับขยายและปรับเปลี่ยนสถานที่การทำงานให้ดูมีความทันสมัย เพื่อสร้างความเหมาะสมด้านภาพลักษณ์ทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิม

ด้วยความตั้งใจอันมุ่งมั่นเหล่านี้คุณแพร ยังได้ผู้ช่วยคนสำคัญคือ คุณปรินทร์ จงสุขกิจพานิช (คุณช้าง, นักออกแบบรุ่นใหม่) ร่วมเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ออกแบบวางแปลนอาคารแห่งนี้ ให้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นอย่างลงตัว

(บริเวณพื้นที่ต้อนรับด้านหน้าทางเข้า)

โจทย์ของการออกแบบ Yell Advertising

  1. การสร้างพื้นที่เพื่อให้พนักงานได้มีปฏิสัมพันธ์ทำงานกันอย่างลื่นไหล
  2. การสร้าง Activity ให้คล้ายกับบรรยากาศ Office ของ Google หรือ Facebook
  3. การออกแบบอาคารเก่าในสไตล์ Loft ผสมผสานกับรูปแบบ Industrial
  4. การลดเสียงกระทบและการรบกวนจากตำแหน่งที่นั่งระหว่างกัน

 

(ฟอร์มของอาคารหลังการรีโนเวท บริเวณภายนอก)

(รูปแบบการก่อกำแพงอิฐ เพื่อสร้างลูกเล่นจากแสงและลดทอนอุณหภูมิ)

(การสร้าง Facade ในรูปแบบ Double Wall Layers ทางฝั่งทิศตะวันตก)

คุณปรินทร์ ได้ร่วมนำเสนอแนวคิดในการออกแบบครั้งนี้ไว้ว่า “ด้วยความที่ผมได้รับโจทย์เบื้องต้นจากคุณแพร ว่าอยากให้ปรับเปลี่ยนโกดังเก่าที่มีอยู่เดิมให้เป็นออฟฟิศสำหรับการทำงานสมัยใหม่ ผมจึงได้นำความเป็นตัวตนและคาแร็กเตอร์ของแบรนด์เติมแต่งลงไป ทั้งในเรื่องของลูกเล่นจากสี, การแบ่งโซนพื้นที่ และการออกแบบ Facade โดยโปรเจ็กต์นี้ เริ่มต้นขึ้นจากการใช้สถานที่เดิม ซึ่งเป็นโกดังเก่าสีขาว 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ 450 ตารางเมตร (ชั้น 1) และขนาดพื้นที่ 60 ตารางเมตร (ชั้น 2) มาปรับเปลี่ยนให้เป็นอาคารทรงกล่อง 4 เหลี่ยม เติมแต่งลูกเล่นฟอร์มของตัวอาคารภายนอกให้โดดเด่นสะดุดตาไปด้วยการก่ออิฐมอญแดงสลับเป็นชั้นในสไตล์ของอินดัสเทรียล พร้อมเว้นระยะความห่างระหว่างช่องของการก่ออิฐ เสริมการทำ Double Wall Layer หรือการก่อกำแพง 2 ชั้น เพื่อลดทอนอุณหภูมิจากแสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งโจทย์ความยากตรงจุดนี้อยู่ที่จะทำอย่างไรให้กำแพงทางฝั่งทิศตะวันตกสามารถลดทอนอุณหภูมิความร้อนได้ โดยที่ยังคงเปิดช่องวิวสำหรับมองสู่ภายนอกได้ในขณะเดียวกัน”

(การเปิดให้เห็นถึงโครงสร้างบริเวณหลังคา)

(บรรยากาศการทำงานภายในของ Yell Advertising)

(พื้นที่นั่งเล่นส่วนกลางที่สามารถให้พนักงานมานั่งพักผ่อนยามว่าง)

ภาพรวมของโครงสร้างทั้งหมดไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปมากเท่าใดนัก โดยยังคงโครงสร้าง Portal Frames ไว้คงเดิม หากแต่มีการเติมแต่งฟังก์ชันการใช้งานเข้าไป อาทิ จุด Reception หรือโถงพื้นที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ได้ถูกเติมแต่งด้วยลูกเล่นของสี (สีเหลือง Yell Advertising) ลงไปในตำแหน่งพื้นที่ เพื่อแบ่งแยกโซนอย่างชัดเจน

ในส่วนของการจัดแบ่งโซนภายใน ด้วยความต้องการของคุณแพร ที่ต้องการให้เป็นพื้นที่การทำงานในลักษณะเปิดโล่ง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์การสื่อสารระหว่างพนักงานทุกฝ่าย คุณปรินทร์ จึงได้นำโจทย์นี้ มาตีความด้วยวิธีการจัดแจงโซน โดยไร้ซึ่งการกันห้อง (ยกเว้นแผนกบัญชี) ทุกแผนกทุกฝ่ายจะนั่งรวมกันบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึง Managing Director และถึงแม้พื้นที่จะถูกออกแบบให้เป็นเปิดโล่ง แต่ก็ยังเสริมการออกแบบโดยยังคงความเป็นส่วนตัวไว้ ด้วยการแบ่งตำแหน่งการนั่งตามแต่ละฝ่ายไม่ให้รบกวนซึ่งกันและกัน (ทั้งในเรื่องของตำแหน่งการวางจอและผลกระทบจากเสียง) นอกจากนี้ที่ชั้น 1 ยังทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นที่ทำงานหลัก, ครัวส่วนกลาง, มุมนั่งเล่น, ห้องประชุม และสตูดิโอขนาดเล็กด้วยเช่นกัน

(การกั้นโซนระหว่างพื้นที่ทำงานและพื้นที่นั่งเล่น)

Yell Advertising ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการออกแบบพื้นที่ทำงานสมัยใหม่ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการตกแต่งและการจัดแบ่งโซนภายในที่เด่นชัด และถึงแม้พื้นที่แห่งนี้ ที่แต่เดิมจะเป็นเพียงโกดังเก่าเก็บ ถ้าหากลองหันมาพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าและมีการออกแบบปรับเปลี่ยนที่ดีเช่นทาง Yell Advertising แล้ว ไม่ว่าจะสถานที่แห่งไหนก็ตาม เราก็จะสามารถเนรมิตพื้นที่เหล่านั้น ให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมลงตัว

Previous articleเติมแต่งสีสันแห่งจินตนาการ พร้อมสร้างชีวิตชีวาด้วยพาวิลเลียนลอยน้ำ Selgascano Sculpts
Next articleARTISAN RATCHADA Be the maker of your life