คุณอภิรัฐ  ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ช่วงที่ 1 กลางดง – ปางอโศก กม.150+500 – 154+000 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมทางหลวง กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างให้ ประกอบด้วยงานหลักๆ 5 งาน ได้แก่ งานย้ายรางรถไฟเดิม งานดินตัดและงานถมวัสดุในหน้าตัดคันทางรถไฟความเร็วสูง งานชั้นวัสดุ Top Layerหรืองานบดอัดวัสดุก่อนงานวางรางและหินโรยทาง งานคอนกรีตประกอบคันทางรถไฟความเร็วสูง และงานถนนบริการขนานกับคันทางรถไฟความเร็วสูง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร นั้น 

ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ 100%และคาดว่าจะส่งมอบงานให้การรถไฟแห่งประเทศไทยภายในเดือนกันยายน 2563 โดยโครงการนี้จะถือเป็นต้นแบบในการดำเนินงานในช่วงต่อไปของโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการทำงาน คุณภาพของวัสดุ ทำให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งกรมทางหลวงได้ปรับปรุงคุณภาพวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็กเส้น และงานชั้นวัสดุ Top Layer ให้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูง รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงที่ 1 กลางดง – ปางอโศกใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้กระบวนการทำงานของกรมทางหลวงเองมาประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการทำงานของรถไฟความเร็วสูงโดยผู้ควบคุมงานจากประเทศจีน ซึ่งทางกรมทางหลวงได้ทำงานควบคู่กับการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้ได้มากที่สุดและที่ผ่านมาได้นำเข้าวัสดุจากประเทศจีน 2 รายการ ได้แก่ ผ้าใบกันความชื้น และสายดิน คิดเป็น 2% ของมูลค่าก่อสร้างรวมทั้งหมด นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังได้จัดทำคู่มือการก่อสร้างคันทางรถไฟความเร็วสูงตามประสบการณ์การทำงานกับผู้ควบคุมจากประเทศจีน เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจหรือผู้รับจ้างอื่นๆต่อไป

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง จะช่วยเสริมสร้างโครงข่ายการคมนาคมของประเทศรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการคมนาคมขนส่งถึงประเทศจีน อีกทั้ง ยังเป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเดินหน้าประเทศไทยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

 

Previous articleตีโจทย์ความต้องการ เป็นแก่นของการดีไซน์ ที่เน้นการใช้งานมากกว่าความสวยงาม
คุยกับ “คุณสมชาย จงแสง” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ
“อาคารธรรมาศรม เสถียรธรรมสถาน”
Next articleเทคนิคอุดรฯ อวดโฉมสิ่งประดิษฐ์จากห้อง FabLab ที่ สวทช. สนับสนุน เพิ่มทักษะวิศวกรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่นวัตกร
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท