การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการลงทุนในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค บนพื้นที่ 1,383 ไร่ มูลค่าการลงทุนระยะแรก 2,370 ล้านบาท ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ไตรมาส 1 ปี 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบการลงทุนในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 1,383 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,370 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC
“หลังจาก ครม.เห็นชอบให้มีการลงทุนในโครงการแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะเกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท) นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้โดยตรง เช่น มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในท้องถิ่น เกิดประโยชน์ทางอ้อมต่อหน่วยงานปกครองท้องถิ่น หรือประฌโยชน์ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า นิคมฯสมาร์ท ปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบันเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ซึ่งตามแผนการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาปรับพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประมาณ 3 ปี โดยในช่วงระยะการก่อสร้างคาดว่าจะทำให้มีการจ้างงานประมาณ 200 คน และเกิดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในชุมชน ประมาณ 23.7 ล้านบาท/ปี (คิดอัตราฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 330 บาท)อีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของทำเลที่ตั้งของโครงการฯ ถือว่าอยู่ตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ดี โดยอยู่ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 7 กม. ห่างจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 17 กม. และห่างจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 29 กม. ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 53 กม. และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 150 กม. อีกทั้งมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบ (Raw materials sources ) และอยู่ในเขตส่งเสริมของอีอีซี
“หลังก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าพื้นที่จะถูกเช่าหมดภายในระยะเวลา 4 ปี เนื่องจากเป็นนิคมฯที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อมรวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย